18 มีนาคม 2567

ความผิดฐานกรรโชก

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 337  "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
          ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
          (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
          (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

          ความผิดฐานกรรโชก
          1. ผู้ใด
          2. ข่มขืนใจ
          3. ผู้อื่น
          4. โดย
               (1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือ
               (2) ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อ ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกขูเข็ญหรือของบุคคลที่สาม
          5. ให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
          6. จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
          7. กระทำโดยเจตนา 



          ความผิดฐานกรรโชกเป็นความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ โดยผู้กระทำต้องข่มขืนใจผู้อื่น การข่มขืนใจอาจทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน โดยเจตนาที่จะให้ผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ซึ่งความผิดฐานกรรโชกนี้แทบจะเหมือนกับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 แต่ความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 บัญญัติไว้กว้างกว่า  คือ มาตรา 309 เจตนาที่ผู้กระทำประสงค์คือให้ผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ดังนั้น ในความผิดฐานกรรโชกย่อมเป็นความผิดต่อเสรีภาพด้วยเสมอ 

          ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานกรรโชกและความผิดฐานชิงทรัพย์
          1. ความผิดฐานชิงทรัพย์มีที่มาจากความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้น ทรัพย์ที่จะชิงจึงมีได้แต่เฉพาะสังหาริมทรัพย์ และต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถหยิบจับเคลื่อนที่ได้เท่านั้น ส่วนความผิดฐานกรรโชกเป็นการบังคับให้ผู้อื่นยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินจึงมีความหมายกว้างกว่า จึงอาจกรรโชกเอาสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ สิทธิหรือประโยชน์ต่างๆในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินก็ได้
          2. ความผิดฐานกรรโชกมีเพียงเจตนาธรรมดา แต่ความผิดฐานชิงทรัพย์มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์จึงต้องมีเจตาพิเศษคือเจตนาทุจริต เพื่อประการใดประการหนึ่งใน 5 ประการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 339 ด้วย
          3. ความผิดฐานกรรโชกส่วนของการกระทำอาจจะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย รวมถึงขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพหรือชื่อเสียงหรือทรัพย์สินด้วย แต่ความผิดฐานชิงทรัพย์จะต้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น
4. แม้จะมีการใช้กำลังประทุษร้าย แต่ถ้าบังคับให้ผู้ถูกข่มขืนใจส่งมอบทรัพย์สินให้ในเวลาอื่น ไม่ใช่ทันที ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานกรรโชก เนื่องจากความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นการใช้กำลังประทุษร้ายกับการได้มาซึ่งทรัพย์นั้นจะต้องต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน
          5. เมื่อผู้ถูกข่มขืนใจเกิดความเกรงกลัวจากการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จนยอมให้หรือยอมจะให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน แม้ยังไม่มีการส่งมอบ ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 337 แล้ว  ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ดูที่ความเต็มใจหรือไม่ เมื่อมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยเจตนาจะให้ได้ทรัพย์มาในขณะนั้น ผู้ถูกกระทำจะกลัวหรือไม่ไม่สำคัญเนื่องจากมีความผิดตามาตรา 339 ฐานชิงทรัพย์ทันที แต่จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้ครอบครองทรัพย์นั้นแล้ว ถ้ายังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ก็เป็นแค่พยายามชิงทรัพย์

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555  จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2555  จำเลยทั้งสามร่วมกันล่อหลอกให้ผู้เสียหายไปหา แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ระหว่างอยู่ในรถมีทั้งการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขู่เข็ญให้ผู้เสียหายไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวิธีการที่จะให้ผู้เสียหายยอมให้หรือยอมจะให้พวกตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป พวกจำเลยยังนำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินของผู้เสียหายออกมาและขู่เข็ญผู้เสียหายจนยอมที่จะให้เงินแก่พวกจำเลยเป็นการทดแทนที่จะให้ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ แสดงว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและจะให้ได้มาอย่างไร การกระทำความผิดมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน และการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเกิดขึ้นซ้อนกัน ทั้งความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินที่พวกจำเลยเอาไปและยอมจะให้เงินแก่พวกจำเลยอีกในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสามจะได้เงินส่วนที่ผู้เสียหายตกลงจะให้ในภายหลังหรือไม่ หามีผลให้การกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกไม่เป็นความผิดสำเร็จไม่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกและร่วมกันปล้นทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 - 2387/2554  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
          การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
          หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2553  จำเลยกับพวกวางแผนขับรถยนต์แท็กซี่ชนรถยนต์ปิกอัพของผู้เสียหาย แล้วลงจากรถเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายอ้างว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ขอเรียกเพียง 5,000 บาท ผู้เสียหายต่อรอง พวกของจำเลย พูดขู่ว่าหากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจ ผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้ 500 บาท แล้วจำเลยกับพวกแยกย้ายหลบหนีไปทันที ดังนั้น การที่จำเลยขู่ว่าจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินให้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11052/2553  ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือมีครอบครองทรัพย์นั้น หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339 (2) โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฏว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้องเมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปในทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะถูกประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553  ถ้อยคำที่กลุ่มจำเลยทั้ง 5 โทรศัพท์มาทวงหนี้จากผู้เสียหายที่ว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” เป็นถ้อยคำที่สามัญชนทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้า ตามที่เรียกร้อง ผู้เสียหายเดินไปสถานที่นัดหมายตามคำขู่มิได้ไปด้วยความสมัครใจการที่ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัวเป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยทั้ง 5 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้วไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม