17 พ.ค. 2557

ฟ้องซ้ำ ป.วิ.อ.มาตรา 39(4)

           หลักกฎหมายเรื่อง ฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(4) มีแนวคิดมาจากการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีว่า "ไม่ควรถูกดำเนินคดีซ้ำสองครั้ง จากการกระทำเดียว"    
     
หลักเกณฑ์ *** คือ เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ

1. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  หมายถึง  คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดเหมือนฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง ( ป.วิ.พ.มาตรา 148)  ดังนั้น คดีอาญาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าคดีนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว  แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกาก็ตาม  (ฎ.3488/29, 3116/25)  คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดนี้อาจเป็นคำพิพากษาของศาลทหารก็ได้  (ฎ. 937/87, 764/05)

2. จำเลยในคดีก่อนและคดีหลัง ต้องเป็นคนเดียวกัน
ในความผิดอาญาเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์จะไม่ใช่คนเดียวกัน  เช่น ผู้เสียหายและอัยการต่างฟ้องจำเลยต่อศาล หากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีหนึ่งคดีใดแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องอีกคดีหนึ่งย่อมระงับไป แม้จะฟ้องคดีไว้ก่อนก็ตาม  (ฎ. 1037/01, 1438/27)  หรือจำเลยหลายคนถูกพนักงานอัยการฟ้องจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป จำเลยคนใดคนหนึ่งในคดีนั้นจะไปฟ้องจำเลยด้วยกันในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นกัน (ฎ. 738/93, 999/12)

3. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง
จำเลยต้องถูกดำเนินคดีในคดีก่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการสมยอมกัน โดยคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา  39 (4) นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง    ดังนี้หากคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องคดีกันอย่างสมยอม เพื่อหวัง ผลมิให้มีการฟ้องร้องแก่จำเลยได้อีก ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับ  (ฏ. 6446/47, 9334/38)
** คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง จะต้องเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความผิดของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดด้วย  จึงจะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว  เช่น ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจะเลยกระทำผิดตามฟ้อง   หรือ ศาลยกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบมีผลเท่ากับโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้  ดังนี้ฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ. 1382/92)
แม้จะเป็นการพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง หากมีการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งการกระทำของจำเลยแล้วว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด  ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว  ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 2757/44)
ศาลยกฟ้องเพราะขาดองค์ประกอบความผิด เท่ากับฟังว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด แม้จะเป็นคำวินิจฉัยในชั้นตรวจคำฟ้อง  ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว(ฎ. 6770/46)
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเพราะฟ้องมิได้กล่าวถึง เวลา สถานที่ ซึ่งจำเลยกระทำผิด  เท่ากับฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดในเวลาใด สถานที่ใด  เป็นการวินิจฉัยความผิดของจำเลยแล้ว  ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 687/02 ป. , 776/90 ป.)    การที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องไม่ระบุเวลากระทำผิด ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แต่ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องบรรยาย เวลาที่เกิดการกระทำ ผิดในอนาคต ซึ่งเป็นฟ้องเคลือบคลุม  ถือว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยความผิดที่ได้ฟ้อง  ฟ้องใหม่ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  39(4) (ฎ. 1590/24)
ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม  เช่น  การบรรยายเวลากระทำความผิดในอนาคต หรือการบรรยายฟ้องขัดกัน ถือว่ายังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  จึงฟ้องใหม่ได้  (ฎ. 2331/14)
กรณีโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามมาตรา  166  ศาลจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา  132, 174 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา  15   ย่อมไม่ถูกต้อง  ควรพิพากษายกฟ้อง  แต่อย่างไรก็ตามถ้าศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ดังนี้ ฟ้องใหม่ได้  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 162-3/16)
ศาลยกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล(ฎ. 3981/35)  หรือศาลยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 2294/17) ไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย  ถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง   จึงฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคำฟ้องไม่ได้ลงชื่อโจทก์ หรือผู้เรียง  ดังนี้ย่อมไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 3096/24, 5834/30)
ข้อสังเกต 
1)  แม้การที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่ายังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้ำก็ตาม  แต่ระหว่างที่คดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องใหม่ ย่อมเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา  173 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา  15  (ฎ. 1012/27)  
2)  ฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา  173(1)  โจทก์ต้องเป็นคนเดียวกัน แต่หากคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง คดีหลังพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง   กรณีดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นคนละคนกัน  ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามมาตรา 173(1)  ดังนั้นถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสองคดี  ถือว่าโจทก์เป็นคนเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน

4. ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง     
ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นๆ  ไม่ได้หมายถึงฐานความผิด  ดังนั้น การกระทำความผิดในคราวเดียวกัน หรือการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว  โจทก์จะฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ แม้จะขอให้ลงโทษคนละฐานความผิดก็ตาม (ฎ. 4656/12)
การกระทำกรรมเดียวกันมีผู้เสียหายหลายคน  เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องคดีจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ผู้เสียหายคนอื่นก็จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เช่น  รับของโจรไว้หลายรายการในคราวเดียวกัน แม้จะเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายต่างรายกัน  ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว  โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานรับของโจรทรัพย์รายการอื่นอีกไม่ได้ (ฎ. 7296/44ล 4747/33,)  หรือหมิ่นประมาทบุคคลหลายคนในคราวเดียวกัน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีจนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา  39(4)  ผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ (ฎ. 1853/30)   แต่ถ้าผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องจำเลยและได้ถอนฟ้องแล้ว   ผู้เสียหายคนอื่นก็ยังฟ้องคดีได้อีก (ฎ. 5934/33)
  ข้อสังเกต  ดังนั้น จึงได้หลักว่าการกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จะนำการกระทำเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม   ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่ากรณีใดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรม  เช่น
    -  จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนในคราวเดียวกัน  เช่นทรัพย์อยู่ในฟ้องเดียวกัน จึงลักเอาไปพร้อมกัน เป็นกรรมเดียวกัน (ฎ. 6705/46, 1104/04) แต่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายทีละคนแม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 1281/46) 
    -  การที่จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายหลายคนติดต่อกัน ถือว่าเป็นต่างกรรม  (ฎ. 1520/06)  แต่การทำร้ายโดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร  เป็นเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียว (ฎ. 2879/46)  เช่นวางระเบิดครั้งเดียว มีคนเจ็บหลายคน 
    - กระทำชำเราหญิงในแต่ละครั้งใหม่  เนื่องจากต้องปกปิดมิให้ผู้อื่นรู้  ไม่ต่อเนื่องกัน แยกต่างหากจากกันได้ เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 4232/47)
     - บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายหลายคน (โดยเขตที่ดินอยู่ติดกัน)  เป็นการกระทำผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 2725/35)
     -   คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้เสียหายถึงความตาย  ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ ตามมาตรา  39(4)  เพราะทั้งสองคดีเกิดจากการกระทำอันเดียวกันของจำเลย (ฎ. 3116/25, 1124/96 ป.)
   -  จำเลยบุกรุกอสังหาริมทรัพย์เพื่อเข้าไปกระทำความผิดอาญาข้อหาอื่น เช่นบุกรุกเพื่อเข้าไปลักทรัพย์    เป็นความผิดกรรมเดียวกัน  เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยบางข้อหาจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้น  โจทก์จะนำข้อหาอื่นมาฟ้องอีกไม่ได้ (ฎ. 1193/29, 1949/47)
   -  ความผิดฐานมีอาวุธปืนกระบอกเดียวกันไว้ในความครอบครองฯ ครั้งก่อนและครั้งหลังต่อเนื่องกัน เป็นกรรมเดียว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษการกระทำครั้งหลังไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำการกระทำครั้งแรกมาฟ้องอีก (ฎ. 2083/39)   เพราะตราบใดที่ยังคงครอบครองอาวุธปืนกระบอกเดียวกัน และเครื่องกระสุนปืนรายเดียวกัน ก็เป็นกรรมเดียวกัน  แต่ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านฯ  ตาม ป.อ. มาตรา  371   ในแต่ละครั้งเป็นความผิดต่างกรรมกัน 
    - จำเลยลักเอาเช็คหรือรับของโจรแล้วนำไปปลอม เพื่อเบิกถอนเงินจากธนาคารเป็นเจตนาเดียวกัน  เพื่อให้ได้เงินไปจากธนาคาร  จึงถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท   เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์ รับของโจร และฐาน เอาเอกสารของผู้อื่นไป  และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา  39(4)
    -  จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็เพื่อใช้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วม เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  เมื่อโจทก์ฟ้องข้อหายักยอกจนศาลพิพากษาไปแล้ว จะมาฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับไปแล้ว   (ฎ. 3238/36)
- ทำความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วผู้ทำนำเอกสารนั้นไปใช้   กฎหมายให้ลงโทษข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้นอย่างเดียว  ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องข้อหาปลอมเอกสาร ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็ต้องถือว่าความผิดในข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอม คดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วด้วย ฟ้องใหม่ในข้อหานี้อีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 11326/09 ป.)
- ในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง เมื่อมีการฟ้องเฉพาะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  จะฟ้องการกระทำอื่นที่รวมอยู่ด้วยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 424/20)
- เบิกความเท็จหลายตอนในคราวเดียวกันเป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 908/96)
- ความผิดฐานลักปืนของผู้เสียหายกับความผิดฐานมีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 888/07 ป.)  
- ในความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ถ้าความผิดบทหนึ่งเสร็จไปเพราะศาลชั้นต้น จำหน่ายคดี  เนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์   ถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  จึงไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดอื่นที่เป็นกรรมเดียวกันนั้น ระงับไปด้วย (ฎ. 7320/43)




13 พ.ค. 2557

สิทธิของจำเลยในคดีอาญา


          จำเลย หมายความถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด (ป.วิ.อ.มาตรา 2(3))  บุคคลผู้อยู่ในฐานะจำเลยตามกฎหมายนั้น ได้ผ่านกระบวนการชั้นจับกุม สอบสวนโดยเจ้าพนักงานตำรวจ และการสั่งคดีของพนักงานอัยการให้สั่งฟ้องแล้ว คดีจึงมาถึงศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกฎหมายได้รับรองสิทธิจำเลยไว้ดังนี้
          สิทธิของจำเลย
          1.  สิทธิตาม ป.วิ.อ.มาตรา 8 ได้แก่
               1.1 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
               1.2 สิทธิในการแต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
               1.3 สิทธิที่จะปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว 
               1.4 สิทธิที่จะตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ 
               1.5 สิทธิที่จะตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
               1.6 สิทธิที่จะตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
           2. สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ
               2.1 สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่อง การได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40 (2))
               2.2 มีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40(7))
           3. สิทธิที่จะมีล่ามหรือล่ามภาษามือ กรณีที่จำเลยไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือไม่ สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ (ป.วิ.อ.มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสาม)
           4. สิทธิที่จะได้รับหลักประกันในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดี ได้ (ป.วิอาญา ม.14) 
           5. สิทธิที่จะตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา (ป.วิ.อ.มาตรา 27)
           6. สิทธิที่จะคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ (ป.วิ.อ.มาตรา 35) 
           7. สิทธิที่จะไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36(4))
           8. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีของศาลโดยเปิดเผยและต่อหน้าจำเลย (ป.วิ.อ.มาตรา 172 วรรคแรก) 
           9.  สิทธิที่จะได้รับทราบคำฟ้องและคำอธิบายจากศาล (ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง)
           10. สิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งทนายความเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีโดยศาล กรณีที่จำเลยไม่มีทนายความ (ป.วิ.อ.มาตรา 173)


สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา



          ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล(ป.วิ.อ.มาตรา 2(2))  จากความหมายของผู้ต้องหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่การที่เขาจะกระทำความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆโดยศาล  ซึ่งผู้ต้องหานั้นถือเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่รัฐธรรมนูญฯได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆไว้ ประเทศไทยได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาไว้ดังนี้

          สิทธิของผู้ต้องหา


          1. สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ (รัฐธรรมนูญฯ ม.39)
          2. สิทธิที่จำได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม (รัฐธรรมนูญฯ ม.40 (3)(4)(7) ป.วิอาญา ม.130, 134 วรรคสาม)
          3. สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ (รัฐธรรมนูญฯ ม.40(7), และ ป.วิอาญา ม.134/1)
          4. สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฎิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนเองถูกฟ้องคดี (รัฐธรรมนูญ ม.40(4))
          5. สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวในกรณีที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิอาญาม.90)
          6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามกฎหมายและต้องแจ้งเหตุให้ทราบโดยเร็ว (รัฐธรรมนูญฯ ม.40(7) และ ป.วิอาญา ม.106 ถึง 114)
          7. สิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกันตัว (ป.วิอาญา ม.119 ทวิ)
          8. สิทธิที่จะมีล่ามหรือล่ามภาษามือ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือไม่ สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ (ป.วิอาญา ม.13 วรรคสองและวรรคสาม)
          9. สิทธิที่จะได้รับหลักประกันในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่เชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดี ได้ (ป.วิอาญา ม.14)          
          10. ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก (ป.วิ.อ.ม.7/1 วรรคแรก)
          11. มีสิทธิพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว (ป.วิ.อ.ม.7/1(1))
          12. มีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.7/1(2))
          13.  มีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร (ป.วิ.อ.ม.7/1(3))
          14. มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย (ป.วิ.อ.ม.7/1(4))
          15. สิทธิที่จะได้รับโอกาสแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ในชั้นสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.134 วรรคสี่)
          16. สิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ในชั้นสอบสวน ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ (ป.วิ.อ.ม.134/4(1))

8 พ.ค. 2557

จำนอง

มาตรา 702 " อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
          ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่"


ลักษณะของสัญญาจำนอง

          (1) ผู้จำนองอาจเป็นได้ทั้งลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลภายนอก เนื่องจากการจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน ไม่ใช่เอาบุคคลมาประกันการชำระหนี้ ดังนั้น ผู้จำนองจึงอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลที่สาม ก็ได้

          (2) เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คือ นำเอาเอกสารที่แสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นมีผลผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้ ดังนั้น ผู้รับจำนองจึงต้องเป็นเจ้าหนี้ด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521  ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้อันใดอันหนึ่งตามมาตรา702 แต่ผู้จำนองอาจไม่ใช่ตัวลูกหนี้ก็ได้ ตาม มาตรา709จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2  จำนองที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ จำนองจึงบังคับแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1กู้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยด้วยเช็ค เจ้าหนี้ไม่เอาเช็คไปขึ้นเงินลูกหนี้ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามจำนวนในเช็ค
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2545  การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521(ประชุมใหญ่) การที่จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2 เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1 สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 เป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่าอาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น  ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา 702 ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็น ประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709 แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็จำนองได้ ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2
          แต่ถ้ากรณีที่บริษัทเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและรับเอาสัญญาจำนองที่กรรมการบริษัททำไว้แทน บริษัทย่อมมีสิทธิทำได้ตามมาตรา 806
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549  โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้

          (3) หนี้ที่จำนองเป็นประกันต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับเรื่องค้ำประกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 707 ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ 

          (4) สัญญาจำนองเป็นสัญญาที่เป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ ที่ทำขึ้นเพื่อประกันการชำระหนี้ประธาน หนี้จำนองจึงต้องอยู่ภายใต้หนี้ประธาน ถ้าหนี้ประธานไม่ผูกพัน ย่อมมีผลให้สัญญาจำนองไม่ผูกพันให้ผู้จำนองต้องรับผิดด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906/2536   การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่ 2 ให้สินเชื่อแก่โจทก์ร่วมอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของธนาคารจำเลยที่ 2 และการที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงชื่อในใบรับเงินในใบถอนเงิน โดยจำเลยที่ 1ไม่ได้จ่ายเงินนั้น เป็นการกระทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำได้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทน   การจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ แม้จะจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบ แต่เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อผู้รับจำนอง ผู้จำนองก็มีสิทธิขอให้ผู้รับจำนองจดทะเบียนปลดจำนองได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2793/2546   แม้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำกัด จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้ได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนฯ และตามประกาศของบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อขณะทำสัญญากู้เงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และต่อมาได้ทำสัญญากู้เพิ่มกำหนดดอกเบี้ยใหม่เป็นอัตราร้อยละ 12.5ต่อปี แม้จะมีข้อตกลงต่อไปว่า ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ถูกต้องจำเลยยอมให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดและคิดดอกเบี้ยในเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383
          หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดหนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงเท่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้จากหนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งตามสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มอีก โดยระบุว่าจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงตามเจตนาของคู่สัญญา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้จำเลยผิดสัญญาโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับจากอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ลงโดยกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงจึงไม่ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2542   โจทก์เป็นสถาบันการเงิน มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30 (2) กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 แม้ตามสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 จะยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์โดยโจทก์ยอมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดได้เพียงอัตรานี้แม้ตามสัญญาจำนองจะกำหนดดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 21 ต่อปี แต่หนี้ตามสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ เมื่อต่อมาโจทก์คิดดอกเบี้ยหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานได้เพียงอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้สูงกว่าอัตรานี้ได้ 

          (5) ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ (มาตรา 702 วรรคสอง)

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545  โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2548  การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีทั้งการขายโดยปลอดจำนอง และการขายโดยจำนองติดไป หากเป็นการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง เจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ส่วนการขายทอดตลาดโดยจำนองติดไป ผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง โดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 735 เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองโดยการซื้อทรัพย์สินที่จำนองจากการขายทอดตลาด มิใช่คู่สัญญาตามสัญญาจำนอง จำเลยจึงเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ยอมให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินที่จำนอง แม้โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง แต่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองก็มีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนอง ตามบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่ง ป.พ.พ. เท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแก่โจทก์ และหากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิไม่พอ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก

          ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองหรือต้องเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ หากบุคคลอื่นเป็นผู้จำนอง การจำนองนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันเจ้าของที่แท้จริง แม้ว่าผู้รับจำนองจะทำการโดยสุจริตก็ตาม (มาตรา 705)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด จำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
          บอกถอนการมอบอำนาจและขอคืนโฉนดแล้ว แต่ผู้รับมอบอำนาจยังเอาไปจำนองเท่ากับเป็นการจำนองโดยที่เจ้าของไม่ยินยอมด้วย การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันเจ้าของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2519  การที่จำเลยเซ็นหนังสือมอบอำนาจที่ยังมิได้กรอกข้อความให้ไว้ในวันทำสัญญาค้ำประกัน พร้อมกับมอบโฉนดที่ดินของจำเลยให้ไว้ประกันด้วยนั้น ย่อมแสดงว่าจำเลยยินยอมให้เอาที่ดินของจำเลยนั้นตราเป็นประกันชำระหนี้ได้ด้วย ฉะนั้น หากมีการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจให้ทำจำนองแม้จะกระทำภายหลังก็ถือได้ว่าข้อความนั้นตรงตามความประสงค์ของจำเลยแล้ว แต่ทั้งนี้การทำจำนองต้องกระทำเสียก่อนที่จำเลยเพิกถอนความประสงค์นั้น   
          การที่โจทก์นำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยมากรอกข้อความขึ้นในภายหลังแล้วนำไปทำจำนองนั้น เมื่อกระทำหลังจากที่จำเลยขอถอนการค้ำประกันและขอคืนโฉนดแล้วจึงหาใช่ความประสงค์ของจำเลยไม่ ฉะนั้น การจำนองที่กระทำขึ้นโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยเพียงแต่ลงชื่อให้ไว้ แต่ไม่ประสงค์จะผูกพันต่อไปแล้ว จึงหากผูกมัดจำเลยไม่ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าวนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548  จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549  อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้
          คำพิพากษาฎีกาที่ 18374/2556  อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ พ. เป็นของตนเองโดยโจทก์และทายาทคนอื่นๆ ของ พ. ไม่ได้รู้เห็นยินยอมเป็นเรื่องที่ อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ พ. ที่ อ. มีส่วนได้เสียเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกซึ่งต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกองมรดกของ พ. อยู่อย่างเดิม ไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ อ. ในฐานะส่วนตัว เมื่อ อ. ในฐานะผู้โอนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทในนามเดิมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้กับจำเลยที่ 2 ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะจำนองเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง การจำนองที่ดินพิพาทไม่ผูกพันโจทก์และทายาทคนอื่นๆ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551  ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม      

          กรณีเจ้าของรวม ย่อมสามารถจำนองได้เฉพาะส่วนแห่งสิทธิของตนเท่านั้น ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5423/2553  ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยจำนองทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลยเท่านั้นเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ตัวทรัพย์ทั้งหมดนั้นจำเลยจะก่อภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่ง เจ้าของรวมทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าของรวมคนอื่นยินยอมให้จำเลยทำนิติกรรมจำนอง การจำนองดังกล่าวจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์ทั้งหมด การที่จำเลยเจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะ ส่วนของตนต่อโจทก์จึงเป็นการจำนองเฉพาะส่วนแห่งสิทธิของตนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่กระทบถึงส่วนแห่งสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น