20 มีนาคม 2567

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา  1461 "สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
          สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน"
       
          การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ได้แก่ การอยู่ร่วมบ้าน ร่วมชีวิตในการครองเรือนและร่วมประเวณีต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอยู่กินกับฝ่ายหนึ่งนั้นจะฟ้องร้องบังคับให้อยู่กินกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่อาจเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้
          ส่วนการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน คือ การช่วยปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้ด้วยความผาสุกและช่วยให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพแก่กัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องอุปโภคบริโภคในการดำรงชีพ ในการพิจารณาถึงการอุปการะเลี้ยงดูนี้จะพิจารณาโดยคำนึงถึง อายุ สุขภาพ รายได้ และทรัพย์สินของคู่สมรส ฐานะทางสังคม ภาระหน้าที่ของคู่สมรสในการให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตร รวมทั้งความสามารถทางร่างกายและจิตใจของคู่สมรสในการประกอบกิจการงานด้วย ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยการชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่จะมีการตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น และสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 1598/41 ดังนั้น หากสามีภริยาทะเลาะกันแล้วทำสัญญาแยกกันอยู่ต่างหากโดยภริยาระบุว่าจะไม่เรียกร้องทรัพย์สินเงินทองที่มีต่อกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น ภริยาก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามีได้ เพราะการสละสิทธิที่จะไม่รับค่าอุปการะเลี้ยงดูไม่มีผลบังคับ
          หากมีบุคคลภายนอกมาทำละเมิดต่อสามีหรือภริยาให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย ภริยาหรือสามีอีกฝ่ายย่อมถูกกระทบกระเทือนสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากผู้ทำละเมิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดแรงงาน และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445 และมาตรา 443


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3822/2524  โจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ โจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้  ความสามารถและฐานะของโจทก์ดีกว่าจำเลย โจทก์ผู้เป็นสามีจึงต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ประกอบด้วยมาตรา 1598/38
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540  ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง นั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปีจึงเป็นระยะเวลาที่สมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2558  จทก์ที่ 2 กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านพิพาทจนกระทั่งโจทก์ที่ 2 ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ซึ่งหมายความรวมถึงการดูแลทุกข์สุขและความเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันในบ้านพิพาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีภริยาต่อกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สมัครใจที่จะดูแลโจทก์ที่ 2 การให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้จำเลยไม่สามารถดูแลโจทก์ที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยและอยู่อาศัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 จำเลยในฐานะภริยาของโจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทเช่นกัน หากจำเลยมีพฤติกรรมกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างไร ก็ชอบที่โจทก์ที่ 2 จะใช้สิทธิฟ้องหย่าเป็นคดีต่างหาก โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
          ส่วนโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมจะใช้สิทธิของตนให้ขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้ จำเลยในฐานะภริยามีสิทธิพักอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยด้วยเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557  ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552  วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549   ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8225/2540  ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง ย่อมสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้จำเลยสิ้นสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่จำเลยขอเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5004/2538  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง สามีและภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและตามฐานะของตน ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับมรดกจากมารดา จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 1,800 บาท ต่อมาต้องคดีถูกออกจากราชการ ตามฐานะย่อมไม่อาจจะให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยก็เป็นเงินทุนของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมรดกจากมารดา ฐานะของจำเลยที่ 1 ดีขึ้น สามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ได้ จึงต้องรับผิดให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์นับแต่ได้รับมรดกจนถึงวันฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2535  จำเลยไม่ยอมอยู่ร่วมกับโจทก์และไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามอัตภาพ โดยที่จำเลยอยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38

          สามีภริยาแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว แยกเป็น 2 กรณี

          (1) สามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหาก
          ซึ่งสามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ โดยอาจทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ มีผลให้ต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่ที่จะอยู่กินฉันสามีภริยาต่อไป แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่ ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายจึงยังไม่สามารถสมรสใหม่ได้ แต่หากการแยกกันอยู่นี้เป็นเหตุที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้และแยกกันอยู่มาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าสามปี สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (4/2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5627/2530   ในคดีหย่า แม้โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันระหว่างพิจารณา แต่การที่จำเลยจะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่า มีเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ และเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของโจทก์หรือไม่ เมื่อโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์  ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่สามีภริยาแยกกันอยู่นั้นฝ่ายที่มีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริต ชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่าย เมื่อโจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ชั่วคราวโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลย และจำเลยไม่มีอาชีพหรือรายได้เพียงพอโจทก์ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูจำเลย มาตลอดและอยู่ในฐานะที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้จึงมี หน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูจำเลย

          (2) ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว
          มาตรา  1462 "ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้"
          ในกรณีที่สามีภริยาไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ต่อไป หากขืนอยู่ร่วมกันต่อไปสามีหรือภริยาจะได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ต้องเสียหายหรือเดือดร้อยมีสิทธิตามมาตรา 1462 ที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ซึ่งเหตุที่จะร้องขอให้ศาลอนุญาตแยกกันอยู่ชั่วคราวมี 4 กรณี คือ
          ก. สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้
          ข. การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา
          ค. การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา
          ง. การอยู่ร่วมกันจำทำลายความผาสุกอย่างมากของสามีหรือภริยา