9 มี.ค. 2567

ความรับผิดทางละเมิด กรณีความเสียหายซึ่งเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 437 วรรคหนึ่ง "บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง"

          ความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์ ตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ 
          (1) ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ คือ บุคคลที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ
          (2) ยานพาหนะในกรณีนี้ต้องเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล
          (3) ความเสียหายเกิดแต่ยานพาหนะในขณะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้น
          (4) เหตุยกเว้นความรับผิด คือ เหตุสุดวิสัย หรือเหตุเกิดจากความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง



          ยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หมายความถึง ไม่ว่าจะเดินด้วยแรงเครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า ที่ไม่ใช่เกิดจากพลังลม พลังสัตว์ การถีบ หรือการเข็ญ ดังนั้น จักรยานสองล้อเดินด้วยแรงถีบแรงปั่นแม้จะมีเกียร์ก็เพียงให้เบาขึ้นเท่านั้น จึงไม่ใช่ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6384/2558  เมื่อจำเลยที่ 4 ผู้ควบคุมเรือเพ็นนินซูล่าซึ่งมีหน้าที่ตรวจนับสินค้าและผูกโยงเชือกเรือไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือดังกล่าวได้เองต้องแล่นไปตามที่เรือยนต์จินดา 95 ลากจูงไปที่มี น. เป็นผู้ควบคุม จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขณะเกิดเหตุคือ น. ซึ่งขับเรือยนต์จินดา 95 ลากเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า เข้าไปในระยะกระชั้นชิดใกล้กับสะพานของท่าเทียบเรือ และเลี้ยวกลับเป็นเหตุให้เรือลำเลียงเพ็นนินซูล่ากระแทกเสาและคานของท่าเรือ จึงเป็นการกระทำประมาทเลินเล่อของ น. โดยตรง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที จำเลยที่ 4 ไม่อาจช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ จำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนประมาท จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิด

          ความเสียหายเกิดแต่ยานพาหนะนั้นขณะเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หมายความถึง เหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้น โดยต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะที่ยานพาหนะนั้นกำลังเดินด้วยเครื่องจักรกลนั้นอยู่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2474  เรือยนต์ของจำเลยแล่นเต็มฝีจักรสวนเรือบรรทุกเข้าของโจทก์ คนในเรือเข้าบอกให้เรือยนต์เบาเครื่อง เรือยนต์ไม่เบา คลื่นของเรือยนต์ซัดเรือเข้าโจทก์ล่มลง ปรากฏว่าเรือของโจทก์บรรทุกข้าวอย่างธรรมดาเหมือนเรืออื่นๆ ในจังหวัดนี้บรรทุกกัน ไม่เพียบจนเกินขนาด จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 437 เพราะผู้ควบคุมเรือยนต์และพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่เรือบรรทุกข้าวล่มเกิดจากเหตุสุดวิสัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300-1315/2499 ระหว่างรถไฟแล่นอยู่ในเขตตำบลมหาชัย จำเลยได้เร่งไฟและกำลังไอน้ำเป็นเหตุให้ลูกไฟและประกายไฟปลิวไปไหม้บ้านเรือนนาย ก. แล้วลุกลามไปไหม้บ้านโจทก์ ทั้งนี้เนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ทราบดีแล้วว่าตัวรถจักรและเครื่องจักรชำรุดขาดสมรรถภาพที่จะใช้เดินรถ ก็หาได้หาทางป้องกันหรือแก้ไข จำเลยจึงต้องรับผิด

           ถ้าความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลด้วยกัน กรณีนี้ไม่เอามาตรา 437 มาใช้ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 437 จึงต้องนำมาตรา 420 มาใช้ในการพิสูจน์ว่าฝ่ายใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2557 บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง เป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ล. ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ช. ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ล. ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า ล. เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379-2380/2532 ผู้ตายโดยสารมาในรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ความเสียหายมิได้เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลของจำเลยที่ 3 แต่ฝ่ายเดียว จึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 อันว่าด้วยหน้าที่นำสืบมาใช้บังคับไม่ได้

          ผู้ต้องรับผิด คือ ผู้ควบคุมดูแลกับผู้ครอบครอง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2524  จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำร่องเรือเดินสมุทร ซึ่งนายเรือต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในการนำร่อง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะอันเกิดด้วยเครื่องจักรกลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งให้นายเรือเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอโดยยังไม่พ้นเรือโจทก์ที่จอดอยู่เป็นเหตุให้เรือที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำร่องโดนเรือโจทก์เสียหาย ซึ่งหากจำเลยที่ 1 สั่งให้แล่นไปให้พ้นเสียก่อนแล้วจึงเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอก็จะไม่เกิดเหตุขึ้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯลฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้นำร่องต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายและถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ความช่ำชองในวิชาการเรือซึ่งตนมีอยู่จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ แม้เรือโจทก์จะจอดเทียบเป็นลำที่ 3 ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายก็มิใช่ผลโดยตรงที่ก่อให้เรือโดนกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2537 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ง-5838 กรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วย ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทจนชนท้ายรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และโจทก์จัดการซ่อมรถคันที่โจทก์รับประกันภัยแล้วจึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว ดังนี้ แม้คำฟ้องของโจทก์จะระบุให้จำเลยรับผิดในฐานะจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุไว้ด้วย แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าในขณะที่เกิดเหตุจำเลยเพียงเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุเท่านั้น โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ขับหรือโดยสารไปด้วย จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมรถยนต์คันเกิดเหตุตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2524  ผู้ครอบครองตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 หมายถึงผู้ที่ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหายหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหมายถึงผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะนั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งได้กำหนดความหมายแคบกว่าความหมายของผู้เป็นเจ้าของ เพราะในบางกรณีผู้ที่เป็นเจ้าของอาจจะไม่ได้เป็นผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นในขณะที่ไปก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้อยู่หรือไปกับรถขณะเกิดเหตุจำเลยจึงไม่เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะในขณะเกิดเหตุ

          เหตุยกเว้นความรับผิด มี 2 กรณี คือ ความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ซึ่งฝ่ายผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้นต้องมีภาระพิสูจน์ หากไม่พิสูจน์ก็ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2505  การนำรถยนต์ไปบรรทุกไม้ซุงและไม้แปรรูปซึ่งหนักมากออกมาจากป่าในเวลากลางคืน ต้องผ่านทางที่คดโค้งและเทลง และข้างทางเป็นห้วยลึก ผู้ขับควรระมัดระวังให้มาก และก่อนที่จะนำรถไปใช้ในเส้นทางเช่นนี้ก็ควรตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยดีเสียก่อน ถ้าขับรถพุ่งลงห้วยข้างทางแล้วจะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสภาพของทางหรือเพราะลูกหมากบังคับคันส่งอาจหลุด ยางระเบิดหรือไฟหน้ารถอาจดับกระทันหันหาได้ไม่ ลูกจ้างของจำเลยขับรถตกห้วย ทำให้ตนเองกับบุตรของโจทก์ตาย โจทก์ฟ้องจำเลยผู้เป็นนายจ้างให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีก็อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437  จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของคนขับรถจะต้องพิสูจน์ว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุใด (แม้โจทก์จะอ้างว่ารถตกห้วยเพราะคนขับขับเร็ว และศาลเห็นว่ายังฟังไม่ได้ก็ตาม)ผู้เยาว์มีเงินเดือนและแบ่งเงินเดือนส่งไปเลี้ยงดูโจทก์ผู้เป็นมารดา เมื่อลูกจ้างของจำเลยทำให้ผู้เยาว์ตาย โจทก์ก็เรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 443 วรรค 3 และ 1535 (ไม่ใช่ว่าเรียกร้องไม่ได้เพราะบิดามารดาต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสมอไปตามมาตรา 1545) การที่ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้พอสมควรแก่ฐานะของโจทก์และของผู้ตายประกอบด้วยเหตุผลในคดีโดยทั่วๆไปนั้น เป็นการวินิจฉัยตามมาตรา 438 แล้ว

          กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2506  ก่อนเกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถข้ามสะพานมาเล็กน้อย ล้อรถขวาข้างหน้าตกหลุม เป็นเหตุให้แหนบรถข้างขวาหักรถเฉไปทางขวาจำเลยที่ 1 พยายามหักพวงมาลัยไปทางซ้ายแต่ปรากฏว่าพวงมาลัยทำงานไม่ได้ โดยแหนบหักไปค้ำคันส่ง รถจึงไปชนหลักกิโลเมตรข้างทางตะแคงลง เห็นได้ว่ารถตะแคงเพราะแหนบที่หักไปค้ำคันส่งทำให้จำเลยที่ 1 บังคับรถไม่ได้ กรณีที่แหนบรถหักไปค้ำคันส่งนี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะรู้และไม่สามารถป้องกันได้แม้จะฟังว่าแหนบรถหักเนื่องมาจากบรรทุกน้ำหนักเกินอัตรา และรถตกหลุมก็ดี แต่กรณีดังกล่าวไม่น่าจะเป็นเหตุให้รถตะแคงเพราะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถไม่เร็ว จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและปฏิบัติในพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเยี่ยงคนขับรถทั่วๆไปทั้งหลายแล้ว จึงถือได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2510  จำเลยขับรถยนต์ในราชการตำรวจไปตามถนนโดยใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรนเพื่อนำคนประสพอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล การขับรถโดยใช้สัญญาณดังกล่าวมิได้หมายความว่าขับได้เร็วเท่าใดก็ไม่เป็นการละเมิดหากเกิดการเสียหายขึ้น แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้น และต้องใช้ความระมัดระวังในฐานะที่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่าธรรมดาตามสมควรแก่พฤติการณ์เช่นนั้นด้วย
          จำเลยขับรถใช้อาณัติสัญญาณไฟแดงกระพริบและเปิดแตรไซเรนมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อจะขึ้นสะพานลดลงเหลือ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรถบรรทุกแล่นสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกในระยะกระชั้นชิดซึ่งจำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงต้องหักหลบแล้วไปชนผู้ตาย ถือได้ว่าความเร็วที่จำเลยใช้ในขณะข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วที่เกินสมควร ตามเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่นๆ ในขณะนั้น จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ การที่มีเด็กวิ่งตัดหลังรถบรรทุกข้ามถนนผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้เป็นเหตุบังเอิญมิอาจคาดหมายได้ และเกิดขึ้นโดยฉับพลันเป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้ เมื่อจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นั้นแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 437
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2520  ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด เป็นความประมาทของผู้ตายเอง จำเลยไม่อาจห้ามล้อหยุดได้ทันสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ ไม่ใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2522  จำเลยขับรถหลบรถของ  ผ. ที่ขับสวนล้ำเส้นทางมาในระยะกระชั้นชิด จึงบังคับรถไม่ได้ ไปชนรถของโจทก์ที่คนขับหลบรถออกนอกเขตถนนมา ดังนี้ ไม่ใช่จำเลยประมาทแต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย