12 มี.ค. 2567

ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 149  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 149

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
          มาตรานี้บัญญัติไว้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆไว้กว้างขวาง มิได้หมายถึงเจ้าพนักงานเพียงอย่างเดียว สำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ก็ได้แก่ พวก สส. สว.

          (2) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
          นอกจากจะเรียกรับทรัพย์สินแล้ว มาตรานี้ยังรวมถึงประโยชน์อื่นใดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238-244/2489   ปลัดอำเภอประจำตำบล รับผ้าไว้เป็นสินน้ำใจ ไม่จับกุมผู้กระทำผิดฐานมีผ้าผิดบัญชีที่แจ้งปริมาณไว้มีผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 (ถือว่าเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด)


          พฤติการณ์ที่ถือว่าเรียกทรัพย์สินแล้ว แต่ยังไม่กำหนดจำนวนเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2531   จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด ได้จับกุมผู้กระทำผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบพร้อมของกลางแล้วไม่นำส่งสถานีตำรวจทันที กลับพาไปที่ป้ายรถโดยสารประจำทางในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นและให้ผู้ถูกจับกุมโทรศัพท์ติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตกลงกันที่ป้ายรถโดยสารประจำทางและรออยู่เป็นเวลานานเมื่อพาผู้ถูกจับไปสถานีตำรวจจำเลยเข้าไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ไม่มอบบันทึกการจับกุมและของกลางให้ ทั้งไม่นำตัวผู้ต้องหาเข้าไปด้วย แสดงว่าเป็นเพียงแผนการของจำเลยให้ผู้ต้องหากลัวและหาทางตกลงกับจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะมอบผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนจริงจัง พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเรียกทรัพย์สินจากผู้ต้องหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน และฝ่ายผู้ต้องหายังไม่ได้ตอบตกลงเท่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149.
          ถ้าไม่มีการเรียกรับสินบนก็ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2525   จำเลยรับราชการเป็นตำรวจซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ย่อมเป็นเจ้าพนักงาน แม้จำเลยจะรับราชการประจำกองกำกับการตำรวจม้า มีหน้าที่ในการถวายอารักขาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบเขตพระราชฐาน ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการ แต่โดยทั่วไปจำเลยยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 ดังนั้นการที่จำเลยจับกุมโจทก์ร่วมหาว่ามีพลอยหนีภาษีและยึดพลอยของกลางไว้จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมและยึดพลอยของกลางไว้แล้วกลับปล่อยโจทก์ร่วมไป ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด หากแต่ใช้อำนาจยึดเอาพลอยของกลางไปจากโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149  
          เจตนาเรียกรับเงินส่วนเกินจากเงินที่ผู้เสียหายต้องจ่ายตามกฎหมาย ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
          จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น     ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการ    หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
       
          (3) เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1280/2543    วันเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัทและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คันแก่จำเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก
          ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเกิดเหตุในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยมีสิทธิที่จะนำเรื่องที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่าผู้บริหารบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปอภิปรายในรัฐสภาโดยอภิปรายถึงการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการอภิปรายจะต้องเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารของบริษัท ท. แต่เรื่องที่จำเลยจะนำไปอภิปรายจะต้องเป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริงจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท.ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยแกล้งกล่าวหาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงินและรถยนต์แก่จำเลยเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัท ท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบ เพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2551   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
          แต่ถ้าเป็นเรื่องนอกหน้าที่ นอกตำแหน่ง ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 149
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2536   จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งสหกรณ์อำเภอ สังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร ส. จำกัด แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบเพื่อรับบรรจุพนักงาน เมื่อสหกรณ์ดังกล่าวเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่หน่วยงานในกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบโดยตรง ทั้งมติคณะกรรมการสหกรณ์ดังกล่าวก็ไม่มีระเบียบของทางราชการว่าให้ทำได้และจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม และการเป็นกรรมการสอบก็ไม่ใช่งานในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย การเป็นกรรมการของจำเลยจึงไม่ใช่เจ้าพนักงานกระทำการในตำแหน่งของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับทรัพย์สินโดยมิชอบหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง
          ความผิดตามมาตรา 149 ไม่จำเป็นต้องเรียกรับสินบนจากผู้กระทำผิดเท่านั้น แม้เรียกจากบุคคลอื่นก็มีความผิดเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2538   การที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมคนร้าย เรียกรับเงินจากผู้เสียหายในคดีที่สามีผู้เสียหายถูกคนร้ายฆ่าและชิงทรัพย์โดยไม่มีสิทธิจะเรียกรับ ถือได้ว่าเป็นการรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่งหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)
          ต้องมีเจตนา จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ โดยเป็นเพียงเจตนาธรรมดา ไม่จำต้องมีเจตนาทุจริต