10 มี.ค. 2567

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา 446

          ป.พ.พ.มาตรา 446  "ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
          อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้"

          ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดนั้น นอกจากความเสียหายที่เป็นตัวเงินแล้ว ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ เป็นสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินนั้น หมายถึง ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย 
          ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4571/2556    ในคดีเดิมอันเป็นมูลเหตุของคดีนี้คือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1027/2552 ของศาลชั้นต้น มีโจทก์คดีนี้เป็นผู้เสียหาย ศาลในคดีดังกล่าวยังได้อนุญาตให้โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ร่วมด้วย จึงฟังได้ว่าโจทก์คดีนี้เป็นผู้เสียหาย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า จำเลยถืออาวุธปืนติดตัวออกมาบริเวณทางเดินเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับถนนสาธารณะหลังจากมีปากเสียงกับโจทก์ ประกอบกับจำเลยยังรับข้อเท็จจริงในคดีนี้อีกว่า จำเลยได้พูดขู่เข็ญโจทก์ว่า “มึงอยากตายหรือ” การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นการกระทำโดยจงใจทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
          แม้ว่าจำเลยจะมิได้ยิงอาวุธปืนดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่โจทก์เช่นนี้เป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของโจทก์แล้ว เพราะเป็นการทำให้โจทก์ตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวนี้ได้ 


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2553  กรมพิธีการทูตจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลย ย่อหย่อน ไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จนจำเลยที่ 1 เคยนำรถไปจอดค้างคืนที่บ้านของตนเอง รวมทั้งสามารถนำรถออกไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวโดยพลการทั้งที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์การใช้รถราชการ เข้าลักษณะที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถอันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการการ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปเฉี่ยวชนจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยประมาท จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
          โจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ถือว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2546 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ษ - 9204 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นธว กรุงเทพมหานคร 836 ซึ่งมีนาย ว. เป็นผู้ขับ และมีโจทก์นั่งซ้อนท้ายที่บริเวณถนนซอยเทศบาลสำโรงใต้ 11 (ซอยร่มประดู่) ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายสาหัส
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการต่อไปว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด สำหรับปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์นั้นสูงเกินไป เห็นว่า ในส่วนค่ารักษาพยาบาลโจทก์นำสืบโดยมีใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 มาแสดง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร หรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นกรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงินรวม 61,677 บาท ในส่วนค่าขาดประโยชน์ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ขับรถเฉี่ยวชนต้องพักรักษาตัวและกว่าจะเดินได้ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน การที่โจทก์ต้องพักรักษาตัวดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงาน ซึ่งได้ความว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท น. จำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงิน 10,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ในการรักษาอาการอันเกิดจากกระดูกต้นขาขวาของโจทก์หักนั้นจะต้องใช้เหล็กดามกระดูกไว้ ซึ่งการใช้เหล็กดามกระดูกดังกล่าวแม้จะได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ปากนายแพทย์ ส. แพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์ว่า เมื่อบาดแผลหายแล้ว หากไม่เกิดผลข้างเคียงก็ไม่จำต้องผ่าเอาหล็กที่ดามกระดูกออกก็ตาม แต่การจะผ่าตัดเหล็กที่ดามไว้ซึ่งถือได้ว่าเป็นของแปลกปลอมอย่างหนึ่งในร่างกายออกหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ และย่อมเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนว่าในอนาคตเหล็กที่ดามไว้จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ สำหรับจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้นั้น ก็ได้ความจากนายแพทย์ ส. เบิกความว่า หากไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายอันเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกตินั้น โจทก์เบิกความว่า ภายหลังการตรวจรักษาโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ข้อนี้แม้นายแพทย์ ส. พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่าการรักษากระดูกนั้นหากกระดูดติดดีและมีการฟื้นฟูสมรรถนะกล้ามเนื้อดีจะเดินได้อย่างคนปกติ เห็นว่า นายแพทย์ ส. เบิกความถึงกรณีผ่าตัดนำเหล็กดามกระดูกออกว่าไม่จำเป็น แต่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากโลหะดามหัก หลวมหรือทำอันตรายเนื้อเยื่อข้างเคียงนั้น ทำให้เห็นได้ว่าการรักษาอาการของโจทก์ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ และต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูสมรรถนะกล้ามเนื้อด้วย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติอันเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552   จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามจากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ หลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน อาการแพ้ยาดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
          ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้
          ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงาม ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ซึ่งโจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552  เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574(12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
          เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2548  โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2), 1087
          การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2547  การที่เด็กชาย ก. ต้องเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินและขับถ่ายได้ตามปกติ ถือได้ว่าเด็กชาย ก. ต้องสูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้าและทำลายความก้าวหน้าไปตลอดชีวิต โดยความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติก็คือ ความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานได้สิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต เมื่อผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย ก. ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิต โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นนี้ยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายอันเป็นที่มาของความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัสที่บังเกิดขึ้นกับเด็กชาย ก. ในขณะที่มีอายุเพียง 6 ปี เท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ด้วย ค่าเสียหายดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกันและไม่เป็นค่าเสียหายอย่างเดียวกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544  การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร เมื่อไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้ เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสารทางรถยนต์รับขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 
          ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากสภาพทางร่างกายและอาการของโจทก์ ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี และต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของ บาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวาดังนี้ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน  ที่โจทก์ชอบจะเรียกร้องได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2544  โจทก์เป็นหญิง รับราชการเป็นอาจารย์ โดยตำแหน่งหน้าที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก แต่ต้องเสียบุคลิกภาพ ใบหน้าเสียโฉม เนื่องจากหนังตาแหว่งเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาตราบจนความเสียโฉมดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานกับค่าที่โจทก์ต้องสูญเสียบุคลิกภาพตั้งแต่จำเลยผ่าตัดโจทก์จนโจทก์ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 วรรคแรก