3 มี.ค. 2567

ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค (เช็คเด้ง)


          การสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ได้ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ถ้าต่อมาเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค (เช็คเด้ง) หากเป็นกรณีสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว ผู้สั่งจ่ายก็อาจจะถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษถึงจำคุกได้ ดังมีกฎหมายบัญญัติไว้ 

          พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 



          มาตรา 4  "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
          (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
          (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
          (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
          (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
          (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
          เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"

          ต้องเป็นกรณีที่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและหนี้นั้น
ามารถบังคับได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2563  การออกเช็คที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)เช็คมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ทั้งจำนวนเงินและวันที่ลงในเช็คตรงตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินตามปกติแสดงว่าจำเลยออกเช็คไว้ล่วงหน้าให้เป็นการชำระหนี้ มิใช่เพียงเพื่อประกันหนี้ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์เป็นผู้กรอกวันเดือนปีในเช็คต่อหน้าจำเลยด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย ถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2557  เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13362/2556  เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมิใช่เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงจะครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อพยานโจทก์ทราบเรื่องภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้นำเช็คไปขึ้นเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น แสดงว่าพยานโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ รวมถึงรายละเอียดมูลหนี้ของเช็คพิพาท แต่พยานทราบเรื่องดังกล่าวจากการบอกเล่าของโจทก์ในภายหลัง พยานมิได้รู้เห็นข้อเท็จจริงที่เบิกความด้วยตนเองจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1286/2553 ขณะทำสัญญาซื้อขายสินค้าและสัญญาเช่า โจทก์ไม่ทราบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เหตุแห่งการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดของโจทก์จึงเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อันเป็นผลทำให้นิติกรรมการซื้อขายและการทำสัญญาเช่าตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เป็นฝ่ายฉ้อฉลโจทก์ย่อมมีความผูกพันตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าจะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และการบอกล้างโมฆียะกรรมเป็นนิติกรรมระงับสิทธิจึงต้องมีการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง การที่โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ถือเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม เพราะการร้องทุกข์ไม่ใช่การแสดงเจตนาเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาเช่าดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าสินค้าตามสัญญาเช่าดังกล่าว จึงถือว่าเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ซึ่งบังคับได้ตามกฎหมาย

          ออกเช็คโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น มิใช่เพื่อชำระหนี้ จึงไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8884/2563  คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องจะระบุว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน” อันทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ขัดกับคำฟ้องก็ตาม แต่การค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วยหาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียวและเป็นเรื่องที่คู่ความสามารถนำสืบข้อเท็จจริงได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องขัดกันอันจะทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจเข้าใจข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วแม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพทำให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทให้โจทก์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้นั้น จำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน” เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงพฤติการณ์หรือข้อตกลงที่ทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แตกต่างจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินอย่างไร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ส่วนข้อความในแบบพิมพ์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป โจทก์สามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย หากไม่ตรงตามเจตนาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ โจทก์สามารถตกเติมแก้ไขได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการดังกล่าว ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4



          ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีเจตนาออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581-6582/2556  จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556  แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          เช็คซึ่งออกเพื่อชำระหนี้โดยบุคคลซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทย่อมไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยผู้ออกเช็คจึงขาดองค์ประกอบความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2564  จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18850/2555  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18851/2555  พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย

          ถ้าในขณะออกเช็คนั้นยังไม่มีมูลหนี้ แม้ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ผู้ออกเช็คก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12203/2555  การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ การที่โจทก์ร่วมตกลงกับจำเลยนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ว่าจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่จำเลยจนกว่าเช็คทั้งสี่ฉบับจะเรียกเก็บเงินได้นั้น แสดงว่าโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงให้ถือการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ สัญญาซื้อขายรถยนต์ย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ โจทก์ร่วมมีสิทธิติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่ามีข้อตกลงนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับยังไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4951/2556  จำเลยและผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนกันลงทุนซื้อเหล็กในแต่ละครั้ง เมื่อขายเหล็กได้ จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คตามยอดเงินที่ขายได้ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งจะมียอดเงินในเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับเปรียบเทียบกับรายการซื้อขายเหล็ก ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับแก่ผู้เสียหายตามมูลค่าการขายเหล็กซึ่งยังไม่ได้แบ่งเงินตามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกันเป็นยอดเงินสุทธิว่ามีจำนวนเท่าใด ทำให้ขณะนั้นจำเลยยังไม่มีหนี้ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับโดยยังไม่มีมูลหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          จงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคาร พฤติการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556  จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)

          ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เป็นความผิดอาญา ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คจึงต้องรับผิดในฐานะตัวการ ตาม ป.อ.มาตรา 83
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14667/2556   แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 83 
          การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาท เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาท แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ถ้าไม่ลงวันที่สั่งจ่ายในขณะออกเช็ค  ถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556  ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4   แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง 


          มาตรา 5  "ความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้"


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2544  หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมมีข้อความว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ ร. จัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษ ทั้งเหตุที่แจ้งความร้องทุกข์ก็เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)

          เมื่อความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่มีคำร้องทุกข์ ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


          มาตรา 7  "ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"


          ถ้าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242/2553   จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ผู้เสียหายทั้งสองมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งทำให้ผู้เสียหายทั้งสองขอชำระหนี้รายนี้ได้อีกก็มิได้หมายความว่าผู้เสียหายทั้งสองได้รับชำระหนี้แล้ว ยังไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามเช็คได้ระงับและสิ้นผลผูกพัน จึงหาได้ทำให้ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นอันเลิกกัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2553   ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2553  กรณีคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา โดยไม่จำเป็นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีอาญา
          มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้เงินเป็นคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาท เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284 - 285/2553  จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและบันทึกข้อตกลงการชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนอันเป็นผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วระงับไป จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ มิได้ระงับหรือสิ้นผลผูกพันไป คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9286/2552  มูลหนี้ตามเช็คผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินทางแพ่ง ต่อมาผู้เสียหายและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็ค เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 ผู้เสียหายคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยจะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นผู้เสียหายก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาผู้เสียหายและจำเลยจะตกลงกันว่า ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลสมบูรณ์ในคดีอาญาเมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนแล้ว และตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่า คดีอาญาให้เป็นไปตามข้อตกลงในคดีอาญา หากจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ (ผู้เสียหาย) ครบถ้วน โจทก์ (ผู้เสียหาย) ในฐานะผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ หากจำเลยผิดนัดขอให้ศาลดำเนินคดีอาญาต่อไปตามรูปคดีก็ตามแต่กรณีดังกล่าวเป็นคนละกรณีกันกับคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาอันเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่การยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2552  เมื่อพิเคราะห์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้แก่จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นงวด โดยฝ่ายจำเลยยอมออกเช็คฉบับใหม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าว ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้เช็คที่ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายทั้งสามฉบับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อันเป็นการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ได้อีก ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสามได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10302/2550  มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินตามคดีแพ่งของศาลจังหวัดราชบุรี ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลจังหวัดราชบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า โจทก์และจำเลยยังมิได้มีเจตนาที่จะยุติข้อพิพาทในทางอาญาจนกว่าจำเลยจะชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์แล้ว และไม่มีข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงให้เห็นว่าโจทก์จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย คงเป็นเพียงข้อตกลงที่จำเลยจะชดใช้ให้แก่โจทก์อันเป็นสิทธิทางแพ่งที่โจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้น เป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 เพราะคดีในส่วนอาญาจะเลิกกันตาม พ.ร.บ.และมาตราดังกล่าวนั้น เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 852 ซึ่งเป็นกรณีที่มูลหนี้ที่จำเลยคดีนี้ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา คดีในส่วนอาญาจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 ซึ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป อันเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387 - 5388/2550  ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน