ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"
ถ้าการปฏิบัติงานในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก กรณีนี้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่นั้น โดยผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
ครูโรงเรียนในสังกัดของ กทม.ไม่รีบนำตัวเด็กส่งแพทย์เพื่อรักษาหลังเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา ทำให้ตาติดเชื้อมีผลให้สูญเสียการมองเห็น เป็นการประมาทเลินเล่อ และมีผลให้ กทม.ต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบเรื่องค่าเสียหายไว้ ศาลจึงต้องวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2558 อ. ครูประจำชั้นของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนของจำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อในการดูแลความปลอดภัยของโจทก์โดยละเลยไม่รีบนำโจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษาดวงตา หลังจากทราบว่าโจทก์ถูกเด็กชาย ณ. ใช้หนังยางยิงแท่งดินสอถูกดวงตาข้างซ้าย ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีส่วนทำให้ดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ติดเชื้อ โดย ว. จักษุแพทย์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า หากดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ไม่ติดเชื้อก็อาจจะไม่ถึงขนาดสูญเสียการมองเห็น เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า โจทก์ต้องสูญเสียการมองเห็นในเวลาต่อมาตามใบรับรองแพทย์ โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420โจทก์มิได้นำสืบในรายละเอียดของค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าเจ็บป่วยต้องทนทุกขเวทนาและกระทบกระเทือนจิตใจที่สูญเสียดวงตาข้างซ้าย กับค่าสูญเสียดวงตาในการทำมาหาเลี้ยงชีพตามที่โจทก์เรียกมาในคำฟ้องแต่ละจำนวน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายและมีค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่โจทก์เรียกมาในคำฟ้อง ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่เวลาที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลฎีกาจึงต้องพิพากษาเรื่องดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องฎีกา
พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนนั้นจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557 การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว
เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12335/2557 คำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ยึดทรัพย์ตามที่โจทก์นำชี้ และหลอกลวงให้คำแนะนำในการบังคับคดี จนหลงเชื่อทำคำร้องขอให้ศาลเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน และถูกศาลยกคำร้องทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง อันเป็นข้ออ้างให้ผู้คัดค้านในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โดยไม่มีบทมาตราใดยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่กรณีใด และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติอีกว่า “บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน” ดังนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ต้องเรียกร้องเอาแก่หน่วยงานของรัฐนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ของตนกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16150/2556 จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียว กับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5
ยินยอมให้พนักงานขับรถใช้รถยนต์ของหน่วยงานราชการได้แม้เป็นเวลานอกราชการ เมื่อเกิดเหตุละเมิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงจำเลยต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15723/2556 ธ.ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุกลับมาที่สำนักงานเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา หลังจาก ป.โทรศัพท์ตาม ธ. เพื่อให้นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกาแล้ว ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อ ธ. อีกเลย และก่อนที่ ป. จะกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ป. เห็นอยู่ว่า รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุจอดเก็บในช่องจอดรถ ซึ่งแสดงว่า ธ. กลับมาที่สำนักงานแล้ว แต่ ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์สั่งให้ ธ. นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนตามระเบียบ จะถือว่า ป.ปฏิบัติงานตามหน้าที่อันสมควรแก่หน้าที่ความรับผิดชอบของตนแล้วหาได้ไม่ ส่วน ธ. ก็เข้าใจเอาเองว่า ป. กลับบ้านไปแล้ว แต่ก็ยังนั่งเล่นอยู่ที่บริเวณที่ทำการของจำเลยจนถึงเวลา 18 นาฬิกา โดยต่างฝ่ายต่างทอดธุระ ขาดความสำนึกไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลย ย่อหย่อนไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเชื่อว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้เป็นเช่นนี้มาก่อนเกิดเหตุแล้ว ป.และ ธ. จึงไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบ เข้าลักษณะที่จำเลยยินยอมให้ ธ. ใช้รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงจำเลยต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด การที่ ผอ.โรงเรียนปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของผอ.โรงเรียน เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หน่วยงานที่ ผอ.โรงเรียน อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15171/2556 ส. นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 ที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษา จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานการศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 (1) (2) และ (3) แม้เครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจะมิใช่ทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ยืมมาใช้ในราชการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 644 การที่จำเลยที่ 4 ปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 4 ยืมเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุมาใช้ราชการ แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ตำรวจขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้าย ส. จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่า ตำรวจนั้นประมาทเลินเล่อ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของตำรวจนั้นจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14427/2555 การที่ดาบตำรวจ ว. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเป็นเวรดูแลผู้ต้องหาในห้องควบคุมของสถานีตำรวจให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี แต่ดาบตำรวจ ว. ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้าย ส. จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่า ดาบตำรวจ ว. ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของดาบตำรวจ ว. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แต่ดาบตำรวจ ว. ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ คงรับผิดเป็นการเฉพาะตัวของดาบตำรวจ ว. ที่ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้าย ส. ถึงแก่ความตาย ซึ่งพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว สมควรให้ดาบตำรวจ ว. รับผิดเพียง 200,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้แก่โจทก์
อบต.อนุญาตให้ปลัดฯใช้รถยนต์ที่เกิดเหตุได้ตลอดเวลา เมื่อการขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและตามคำสั่งของปลัดฯ แม้จะนอกเวลาราชการ จึงถือว่ากระทำไปในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ของ อบต. แล้ว อบต. จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7829/2553 องค์การบริหารส่วนตำบล บ. จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ วันเกิดเหตุ ส. ปลัดของจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่ง ส. ที่บ้าน จากนั้น ระหว่างทางกลับจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาททำให้รถยนต์เสียหลักชนเสาไฟฟ้าของโจทก์หักเสียหาย โดยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ ส. เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม บำรุงรักษา และรับผิดชอบรถยนต์ของจำเลยที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ส. ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลา ฉะนั้นวันเกิดเหตุที่ ส. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งตน แม้จะนอกเวลาราชการและเป็นไปเพื่อความประสงค์ของ ส. เอง แต่ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 โดย ส. ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ให้ทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล บ. และตามคำสั่งของ ส. จึงถือว่ากระทำไปในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์
สิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐให้รับผิดทางละเมิดนั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
*** แต่ตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ต้องรับผิดด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558 เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ทำละเมิดโดยตรงที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12686/2557 บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเป็นต้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้