10 มี.ค. 2567

การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1300 "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ว่ายังไม่ได้ไปจดทะเบียน และในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นก็มีบุคคลภายนอกที่ได้ตัวทรัพย์นั้นหรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปโดยการจดทะเบียน ผลของมาตรา 1300 คือ ถ้าการได้ไปของบุคคลภายนอกทำให้บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนต้องเสียเปรียบ บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนก็มีสิทธิจะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการได้ไปของบุคคลภายนอกได้โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าบุคคลภายนอกนั้นได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปโดยไม่สุจริตหรือได้ไปโดยไม่เสียค่าตอบแทน แต่ถ้าการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งบุคคลภายนอกผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

          บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนมีอยู่ 2 ประเภท คือ

          1 บุคคลที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้น คือ บุคคลตามมาตรา 1299 วรรคสอง เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้มีการจดทะเบียน เป็นต้น

          2 บุคคลผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมเรียบร้อยทุกอย่าง แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการได้มาตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เช่น ทำสัญญาซื้อที่ดินโดยชำระราคากันเรียบร้อยพร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แล้วเหลือเพียงการจดทะเบียนโอนเช่นนี้ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2494  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันโดยผู้ขายได้รับชำระราคาที่ดินแล้ว แต่ยังทำโอนไม่ได้เพราะพนักงานที่ดินส่งโฉนดไปยังกรมที่ดินเสีย ผู้ขายจึงมอบที่ดินที่ขายให้ผู้ซื้อครอบครองไปพลางก่อนจนกว่ากรมที่ดินจะส่งโฉนดคืนมาจึงจะทำโอนกัน ผู้ซื้อจึงได้เข้าครอบครองที่ดินนั้นตลอดมา 4 ปีเศษ  ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ก่อนแล้วตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2500  จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 สมคบกันยินยอมใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4,5,6,7 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทแม้การยอมให้จำเลยที่ 2,4,5,6,7 ลงชื่อในโฉนดที่พิพาทนั้น เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้ก็ดี แต่การที่จำเลยได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว โจทก์อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2540  การที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินจำนวน 23 แปลง ของจำเลยที่ 2 ที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดรวมอยู่ด้วยมาเป็นหลักประกันการทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวจะมีผลจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาเป็นหลักประกันศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.หรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 290 กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา57 (1) กรณีไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว

          กรณีสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจะให้ หรือจะแลกเปลี่ยน คงมีสิทธิตามสัญญาเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2497  สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายอสังหาาริมทรัพย์นั้น เป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่ใช่ทรัพย์สิทธิซึ่งจะติดตามตัวทรัพย์เอากลับคืนจากบุคคลภายนอกได้และไม่เป็นสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113/2540  ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเอกสารท้ายฟ้องต่อมาจำเลยที่ 1 กลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 นั้น เมื่อสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งมีสิทธิเพียงที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น โจทก์หามีทรัพย์สิทธิที่จะไปบังคับแก่จำเลยที่ 4 ผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ ดังนี้โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้
          ทางแก้ของบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ก็คือการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237
           ***โดยสรุป ในกรณีที่เป็นสัญญาประเภทเด็ดขาดคงเหลือแต่การไปจดทะเบียนโอนเท่านั้น คนที่มีสิทธิตามสัญญานั้นถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภทจะซื้อจะขายนั้นเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่ถ้าจะเพิกถอนก็อาจใช้บทบัญญัติในเรื่องหนี้ตามมาตรา 237 มาปรับใช้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2516   จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจาก ม.แต่ยังชำระราคาไม่ครบ จำเลยจึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามมาตรา 1300 คดีของจำเลยต้องด้วยมาตรา 237.แต่ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่าง ม. กับ ห. และระหว่าง ห.กับโจทก์ได้  โดยที่จำเลยมิได้ฟ้อง ม. กับ ห. เข้ามาในคดีด้วย

          การรับมรดกเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถือเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน จึงใช้สิทธิเพิกถอนตามมาตรา 1300 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2487  ผู้รับมรดกปกครองที่ดินมรดกร่วมกันมา ผู้รับมรดกคนหนึ่งโอนที่ดินมรดกให้แก่บุตรของตนโดยไม่สุจริต ผู้รับมรดกอื่นฟ้องขอเพิกถอนได้ตามมาตรา 1300 และ 1359

          ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งถือเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536   จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

          ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยผลของคำพิพากษา แม้ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอน แต่ก็ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเพิกถอนการยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2961/2517   โจทก์นำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้เงินกู้ตามคำพิพากษา ปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้จำเลยได้ขายให้ผู้ร้องขัดทรัพย์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2511 แต่การโอนขัดข้อง ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง หากจำเลยไม่จัดการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ และโจทก์ยึดทรัพย์จำเลยก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีจำเลยดังกล่าว และกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องได้สิทธิที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยผลแห่งคำพิพากษาคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ซึ่งถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ก่อนโจทก์ ซึ่งเพียงแต่ยึดที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อบังคับคดีเท่านั้น ผู้ร้องย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เช่นกัน กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จดทะเบียนทรัพย์สิทธินั้น ๆ แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2532  แม้โจทก์ยึดที่พิพาทก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องย่อมถือได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ตราบใดที่ยังไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้

          แม้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่หากไม่ได้ตั้งประเด็นต่อสู้ไว้ในคดี ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการโอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2542  เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท ต่อมาได้ขายให้แก่ ค. และ ค.ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทระหว่างพิจารณาคดีค. และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยจะซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนและจะชำระเงินให้ภายใน 6 เดือน ซึ่งศาลได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่หลังจากที่จำเลยชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่ ค.ครบถ้วนแล้วค. ได้ขายบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าหลังจากจำเลยชำระราคาบ้านและที่ดินให้ ค. แล้วก็ยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ทำให้บ้านพิพาทดังกล่าวยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยจึงเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ หากการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างโจทก์และ ค. ไม่เสียค่าตอบแทนหรือกระทำการโดยไม่สุจริต แต่เมื่อคำให้การของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนบ้านพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือโดยไม่สุจริตอย่างไรคดีจึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้แม้ก่อนหน้านี้จำเลยจะเคยแถลงต่อศาลทำนองว่า โจทก์รับโอนบ้านพิพาทมาโดยไม่สุจริต แต่การตั้งประเด็นในคดีต้องตั้งด้วยคำคู่ความ จะตั้งด้วยคำแถลงของคู่ความเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับโอนบ้านพิพาทมาจาก ค. ตามสัญญาซื้อขายที่สมบูรณ์และมีผลบังคับโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของบ้านพิพาทมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
          ***ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ จำเลยเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ แต่ที่แพ้คดีเพราะเป็นเรื่องความบกพร่องในการต่อสู้คดี เนื่องจากไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในเรื่องนี้คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบเพื่อต่อสู้โจทก์

          คู่สมรสที่ได้รับอสังหาริมทรัพย์มาจากสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจากการจดทะเบียนหย่า เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าได้แบ่งทรัพย์สินเรียบร้อย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนโอน แต่ถือว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558   ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2557  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ห้ามจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมใดๆ อันเป็นการจำหน่าย จ่าย โอนก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งที่ดินพิพาทและให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น เป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) (3) ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และคำพิพากษาที่ชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) บัญญัติให้คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลคดีนี้คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแทน สิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสามย่อมเป็นสิทธิของบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และสิทธิเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นทรัพยสิทธิที่ไม่สูญสิ้นไปเพราะเหตุแห่งการไม่ใช้สิทธินั้น แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีจนล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ก็ตาม คำสั่งวิธีการชั่วคราวของศาลก็หาได้หมดความจำเป็นแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใดไม่ จึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่

          ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ย่อมมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556   แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

          เมื่อผู้รับโอนคนแรกไม่สุจริตแล้ว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ผู้รับโอนคนถัดไปแม้จะรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้