12 มี.ค. 2567

ผู้เสียหาย ตามมาตรา 2(4)

          ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) “ผู้เสียหาย”  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

          1. ผู้เสียหายต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง

          ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้ชำระค่าภาษีมีสิทธิในที่ดิน การกระทำการเกี่ยวกับใบภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่กระทบถึงการที่โจทก์ยึดถือที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งหกมอบให้ไว้เป็นหลักประกัน การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้หาย แล้วไปขออกใบแทนใหม่ จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9557/2558   ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้ชำระค่าภาษีมีสิทธิในที่ดิน คือ สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะเอกสารที่แสดงถึงสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 1 คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน การกระทำการเกี่ยวกับใบภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่กระทบถึงการที่โจทก์ยึดถือที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งหกมอบให้ไว้เป็นหลักประกันเมื่อเข้าร่วมโครงการปลูกพืชพลังงานทดแทนกับโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ไม่เคยมีเจตนาจะชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งต้องนำใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ท่อนที่มอบให้เจ้าของที่ดินนี้มาแสดงด้วยเมื่อมาติดต่อขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้หาย แล้วไปขออกใบแทนใหม่ จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย




          สิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8782/2558   ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ...” ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

          กรรมการบริษัทกระทำผิดต่อบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายจึงมีสิทธิฟ้องกรรมการนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1041/2558  คดีนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและเป็นกรรมการบริษัทผู้กระทำผิดต่อบริษัท ค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ย่อมจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของบริษัทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 2 (4) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ และต้องถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบริษัทด้วย
          มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ที่ให้ยุติการฟ้องร้องและยุติข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริหารทั้งหมด ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ซึ่งรวมทั้งโจทก์ ตกลงไม่เอาความทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 และไม่เป็นการยอมความในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

          เมื่อผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อมาในขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต ผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  16502/2557   จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

          เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว จำเลยได้ทำการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15933/2557   การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

          ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายแล้วมีคนนำเอกสารปลอมไปกู้เงินธนาคาร เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15315/2557  มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้

          2. ผู้เสียหายต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย

          ผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนร่วมหรือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5172/2557   การที่โจทก์ร่วมไปหาจำเลยที่ห้องพักซึ่งแม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมรบกวนการครอบครองห้องพักโดยปกติสุขของจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้บอกให้จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมหรือก่อให้เกิดการกระทำความผิด อันจะเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

          ผู้ตายข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงลงมือฆ่าผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ผู้ตายมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญาด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  21814/2556  คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่า น. ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ บ. และ อ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ บ. และ อ. จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกาด้วย

          ผู้ตายมีส่วนในความประมาทด้วย ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19300/2556   การที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 เป็นการยื่นคำร้องโดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อคำฟ้องของพนักงานอัยการบรรยายว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทด้วย โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องโดยไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เช่นนี้ ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และ 30

          โจทก์ร่วมถือขวานเข้าไปหาเรื่องจะทำร้ายจำเลย จึงถูกจำเลยใช้มีดของกลางออกมาฟันทำร้ายโดยบันดาลโทสะ ถือว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13195/2556  เมื่อโจทก์ร่วมมีส่วนก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ที่จะมีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์และไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ในคดีนี้ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธมีดดาบปลายตัดใบมีดยาว 55 เซนติเมตร ฟันโจทก์ร่วมหลายครั้งเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ข้อมือขวาเกือบขาด เส้นเอ็น เส้นประสาทขาดกระดูกหัก กระดูกแขนซ้ายหัก และเส้นเอ็นขาด ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะหรือไม่ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ก่อนเกิดเหตุ โจทก์ร่วมถือขวานเข้าไปหาเรื่องจำเลยที่บ้านของนาย ว. แล้วครั้งหนึ่ง แต่นาง อ. เข้าไปกันไว้ในลักษณะห้ามปราม โจทก์ร่วมจึงเดินกลับบ้านไป แล้วกลับมาอีกครั้งโดยยังคงถือขวานมาด้วยและเงื้อขวานดังกล่าวจะฟันประทุษร้ายจำเลย พฤติกรรมของโจทก์ร่วมดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ร่วมข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยนำอาวุธมีดของกลางออกมาฟันโจทก์ร่วมซึ่งยังคงอยู่บริเวณหน้าบ้านของนาย ว. ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ จึงเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมมีส่วนก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) ที่จะมีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ และไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ในคดีนี้ได้