06 มีนาคม 2567

การแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้


          ป.พ.พ. มาตรา  155 วรรคหนึ่ง "การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้"

          การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 155 เป็นเรื่องที่ผู้แสดงเจตนาได้แสดงเจตนาออกมาโดยสมคบกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับการแสดงเจตนาว่า เจตนาทำนิติกรรมกันไว้หลอกๆ โดยไม่เจตนาผูกพันตามนิติกรรมนั้น เป็นการทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าคู่กรณีทั้ง 2 คนได้ทำนิติกรรมกันจริง

          ผลที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในแง่ของคู่กรณีนั้น นิติกรรมที่ทำเป็นโมฆะ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863-864/2496  สามีภริยาไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ แต่ความจริงนั้นทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันเลย ที่ทำไปก็เพื่อจะลวงผู้อื่นเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยานั่นเอง แล้วภริยาทำนิติกรรมขายที่ดินบ้านเรือนอันเป็นสินเดิมให้สามีเพื่อกีดกันบุตรของภริยาอันเกิดแก่สามีคนเก่า แต่ความจริงมิได้ขายกัน ดังนี้ นิติกรรมซื้อขายย่อมเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2497  รถยนต์ของจำเลยชนกับรถยนต์ของผู้อื่นเสียหาย เขาได้มีหนังสือมาขอให้ใช้ค่าเสียหายแก่เขา จำเลยไปติดต่อแล้ว แต่ว่าจะปรึกษากันดูก่อน ครั้นแล้วกลับเอาที่ดินของจำเลยไปขายให้แก่พี่ชาย เพื่อป้องกันมิให้ถูกยึดทรัพย์ถ้าแพ้คดีแก่เขา ซึ่งพี่ชายผู้รับซื้อก็ทราบดี ดังนี้ เมื่อเขาชนะคดีในเรื่องเรียกค่าเสียหายเพราะรถยนต์จำเลยชนรถยนต์ของเขาแล้ว เขามีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับพี่ชายเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2513  จำเลยทำหนังสือจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้  ส. โดยมิได้ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่กระทำไปเพื่อ ส. จะได้นำไปจำนองไว้กับสหกรณ์ แล้วเอาเงินมาให้จำเลยใช้สอย นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เป็นผลให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกทอดเป็นของ ส. แต่ยังคงเป็นของจำเลยตลอดมา ฉะนั้น เมื่อ ส. ตายไปเสียก่อนที่จะนำที่ดินพิพาทไปจำนองสหกรณ์ ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก ส. ทายาท ส. ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547  จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240

          ถึงแม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มีผลให้นิติกรรมที่ทำเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ เนื่องจากบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่รู้เรื่องด้วย กฎหมายจึงบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562  โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

          บุคคลภายนอกผู้สุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้ว่าบุคคลภายนอกจะไม่ได้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2529  ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทของตนให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้มีเจตนายกให้จริงๆ แต่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ดังกล่าวไปขายให้จำเลยที่ 3 แล้วต่อมาโจทก์ได้รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่านี้จะยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 หรือโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นหาได้ไม่ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าตนครอบครองที่ดินทรัพย์พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีก็ตาม แต่เมื่อทำหนังสือแบ่งให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 โดยมีการจดทะเบียนที่ดิน กรณีต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1373 เมื่อนับตั้งแต่วันที่ผู้ร้องทำหนังสือแบ่งให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ถึงวันที่ยื่นคำร้องยังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องจะอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 หาไม่ได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2545  ขณะที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับขายฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่านิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างโจทก์เจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 1 เป็นเจตนาลวง อีกทั้งจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินมาก ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น โจทก์ไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากได้ เมื่อการขายฝากมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4 ดังนี้ นิติกรรมการให้และการซื้อขายก็ไม่อาจเพิกถอนได้เช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2513 (ประชุมใหญ่)  จำเลยสมยอมกันทำสัญญากู้และสมยอมกันทำยอมความในศาล เป็นผลให้เกิดการโอนทรัพย์สินของจำเลยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมเสียหาย ทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
          คำพิพากษาที่พิพากษาตามที่จำเลยยอมความกันนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสอง ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ การทำการสมยอมกันนิติกรรมระหว่างจำเลยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้เพิกถอน

          แต่ถ้าบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริต ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704-1705/2515  จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินของโจทก์เพื่อนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคาร โจทก์จึงแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ส่วนหนึ่งแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ โดยตกลงกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ธนาคารหมดแล้วจะคืนที่ดินให้โจทก์เป็นการแสดงเจตนาลวง ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ จำเลยตกอยู่ในความผูกพันที่จะต้องโอนที่ดินคืนให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเอาที่ดินไปขายให้ผู้อื่น
          จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยทราบถึงการแสดงเจตนาลวงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2533  โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงด้วย สมรู้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนและโอนให้หลังจากที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องนี้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริต โจทก์จึงยกขึ้นมาต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนี้โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท        
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561  การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
          เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ