2 มี.ค. 2567

รับช่วงสิทธิ


          รับช่วงสิทธิ เป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้ไปยังบุคคลอื่นหรือบุคคลภายนอกโดยผลของกฎหมายทำให้บุคคลนั้นเข้ามาใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

          มาตรา 226 วรรคหนึ่ง  "บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง"



          เหตุที่ทำให้เกิดการรับช่วงสิทธิ
          การรับช่วงสิทธิเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายและจำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งการรับช่วงสิทธิแบ่งออกได้เป็น 5 กรณี ได้แก่
          (1) กรณีลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 227 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆของเจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย
          มาตรา 227  "เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559  โจทก์รับจ้างขนส่งข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยมีข้อตกลงว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ แม้ขณะเกิดเหตุละเมิดข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจากจำเลยร่วมทั้งสองผู้ทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12980/2558   จำเลยเป็นผู้ซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยซึ่งประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยซ่อมเสร็จและส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว แต่เมื่อคนขับรถของผู้เอาประกันภัยนำรถไปขับปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับและเกิดความเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังในการซ่อมรถยนต์ให้เพียงพอ ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การยกเว้นความเสียหายต่อรถยนต์ การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง... 7.2 การแตกหักของเครื่องจักรกลไกของรถยนต์ หรือการเสีย หรือการหยุดเดินของเครื่องจักรกลไก หรือเครื่องไฟฟ้าของรถยนต์อันมิได้เกิดจากอุบัติเหตุ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าการที่เครื่องยนต์ของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย เกิดจากการที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังในการซ่อม เท่ากับเป็นการอ้างว่าความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 7.2 ความเสียหายของเครื่องยนต์ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัย การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปจึงไม่ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่จะมาฟ้องเรียกเอาจากจำเลย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้กล่าวอ้างขึ้นในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2554  การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้


          (2) กรณีที่มีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ด้อยสิทธิตามมาตรา 229 (1) 
          มาตรา 229 (1)  "บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง"

          (3) กรณีรับช่วงสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์จำนองตามมาตรา 229 (2)
          มาตรา 229 (2)  "บุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป"

          (4) กรณีรับช่วงสิทธิของบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่นตามมาตรา 229 (3)
          มาตรา 229 (3) "บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2550  ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549  โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ

          (5) ผู้เสี่ยงภัยจะเสียสิทธิในทรัพย์อันเนื่องจากเจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์ ตามมาตรา 230
          มาตรา 230  "ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้นบุคคลผู้ใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่งผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น
          ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2540  โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีส่วนได้เสียในที่ดิน กับเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ม. เจ้ามรดกจำต้องชดใช้หนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินแทนจำเลยซึ่งเป็นผู้จำนอง เพื่อปัดป้องมิให้สิทธิของโจทก์ในที่ดินต้องถูกกระทบกระเทือน จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินเพราะอาจถูกผู้รับจำนองบังคับยึดออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนจำเลยจนเป็นที่พอใจของผู้รับจำนอง โดยได้มีการไถ่ถอนจำนองแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้บังคับเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 หาใช่เรื่องจัดการงานนอกสั่งหรือลาภมิควรได้ไม่ แม้เป็นการขืนใจลูกหนี้ แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้นั้นอันเนื่องจากจำเลยไม่ยอมไถ่ถอนจำนองและหากไม่มีการไถ่ถอนจำนองโจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในที่ดินไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้รับจำนองมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยผู้จำนอง ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ได้ในนามของตนเอง เมื่อหนี้เดิมผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 เดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2540   การจะใช้สิทธิชำระหนี้แทนลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 230 ได้นั้นจะต้องเป็นการชำระหนี้แทนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ด้วยเมื่อปรากฏว่า ขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลย บริษัท ส.เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมอยู่เป็นเงินประมาณ 18,852,600 บาท ทั้งการจำนองรายนี้เป็นการจำนองที่ดินแปลงใหญ่เพียงแปลงเดียว คือที่ดินโฉนดเลขที่ 109377 ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ โดยถือว่าที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกออกไปยังคงจำนองด้วยตามสัญญาเดิม หาใช่เป็นการจำนองที่ดินหลายแปลงอันจะแบ่งภาระการจำนองได้ไม่ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบังคับจำเลยให้ยอมรับการชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัท ส. แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลยตามฟ้องเพราะอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลยได้


          ผลของการรับช่วงสิทธิ
          (1) ผู้รับช่วงสิทธิสามารถใช้สิทธิตามมูลหนี้ที่รับช่วงสิทธิมานั้นในนามของตนเอง
          (2) ผู้รับช่วงสิทธิได้รับช่วงสิทธิมาเท่ากับที่ชำระหนี้ไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2540  ตามหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยผู้กู้ได้กู้ยืมเงินไปจาก ท.โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมรับผิดในค่าพาหนะและค่าเสียหายต่าง ๆซึ่งผู้ให้กู้ต้องเสียไปในการทวงถาม ฟ้องร้อง จำเลยยอมใช้ให้ตามที่เสียหายจนครบถ้วน ต่อมา ท.นำสัญญากู้ฉบับนี้ไปฟ้องจำเลยและโจทก์ โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษา 89,220 บาท และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น 2,080 บาท ให้ ท.แม้เงินส่วนนี้ ท.จะมิได้เรียกร้องไว้ในขณะฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน2,080 บาท ให้ ท.ไปจริง จึงรวมเป็นต้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระให้ ท.ไปโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 693
          (3) การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 ใช้อายุความตามมูลหนี้เดิม แต่ถ้ารับช่วงสิทธิตามมาตรา 229 (3) ต้องใช้อายุความทั่วไป คือ 10 ปี โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2541  ประเด็นในคดีอาญาและคดีนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดในการที่จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเสียหาย โจทก์ที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่มีอยู่ดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีอายุความ 10 ปี เช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2526  โจทก์เอาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุไว้แก่จำเลย ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทไปชนรถยนต์ของ ร. เสียหาย ร. จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ร. โจทก์และจำเลยไม่ชำระ ร. จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์   โจทก์จึงชำระหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมดให้แก่ ร. ไป ดังนี้ โจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ร. ด้วยอำนาจกฎหมายมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ร. ไปแล้วคืนจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ร่วมได้ 
          สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (มาตรา 193/30)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2550  ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.
          (4) ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่วันรับช่วงสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2535  โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย ฐานะของโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 880 สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันชำระค่าสินไหมทดแทน แต่เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าได้ชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวทั้งหมดหรือครั้งสุดท้ายไปเมื่อใดแน่ ศาลเห็นสมควรกำหนดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
          (5) ถ้าหนี้ที่รับช่วงสิทธิมานั้นเป็นหนี้มีประกัน ผู้รับช่วงสิทธิย่อมได้ประโยชน์จากประกันนั้นโดยไม่ต้องทำสัญญาใหม่ เพียงแต่ต้องส่งมอบหลักฐานหรือทรัพย์ที่เป็นหลักประกันแก่ผู้รับช่วงสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2524   โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันยักยอกเงินของสหกรณ์ ไป ต้องร่วมกันรับผิดชอใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นแก่สหกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคแรก ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่จะต้องรับผิดยิ่งหย่อนกว่ากันจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามมาตรา 432 วรรคสาม เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินที่ยักยอกให้สหกรณ์ฯ ไป ย่อมรับช่วงสิทธิของสหกรณ์ฯ มาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 229 (3), 266 การที่โจทก์ใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ฯ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ฯ จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้ไปแล้ว มิใช่ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกมา จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายและถือไม่ได้ว่าเป็นการมาศาลด้วยมืออันไม่บริสุทธิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับสหกรณ์ฯ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อสหกรณ์ฯ นี้เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ จึงใช้สิทธิของสหกรณ์ฯ บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 226
          (6) เจ้าหนี้ที่ถูกรับช่วงสิทธิไปแล้ว หมดสิทธิที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตนอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2524  รถของโจทก์ถูกรถของจำเลยชนได้รับความเสียหายบริษัทประกันภัยซึ่งรับประกันภัยรถของโจทก์ไว้ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้วบริษัทประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยเท่าจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ได้ใช้ไปและการเข้าสู่ ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธินี้เป็นไปด้วยอำนาจของกฎหมายแม้บริษัทประกันภัยจะยังไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยตามสิทธิที่ได้รับช่วงมาโจทก์ก็ขาดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในส่วนที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเพราะสิทธิเรียกร้องดังกล่าวบริษัทประกันภัยได้รับช่วงไปแล้ว
          (7) กรณีรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการเอาทรัพย์อื่นมาแทนทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหายหรือทำลาย ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเหนือทรัพย์นั้นด้วย