2 มี.ค. 2567

ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ จะต้องร้องเรียนก่อนฟ้องคดีปกครอง | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

           

          ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อาจยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นได้
          ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวนี้ ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำขอหรือมีหนังสือร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนฟ้องคดีด้วย

       
          กรณีเรื่องเกี่ยวกับการที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการควบคุมการประกอบกิจการค้าของเก่า ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

          ผู้ฟ้องคดีเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันกับที่ตั้งสถานประกอบกิจการค้าของเก่า เห็นว่า ตนเองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (กรุงเทพมหานคร ที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 2  กระทรวงสาธารณสุข ที่ 3 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ 4) ที่ไม่ดำเนินการควบคุม ตรวจสอบการประกอบกิจการค้าของเก่า รวมทั้งไม่แก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้จนก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาการส่งเสียงรบกวน การเผาพลาสติกและสายไฟจนเกิด
กลิ่นเหม็น และการตัดโลหะโดยใช้แก๊สทำให้เกิดเหตุระเบิดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้มีการจัดทำแผนหรือมาตรการการป้องกันสาธารณภัยและแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติภายหลังเกิดเหตุและให้จัดระเบียบการขายทอดตลาดหรือรับซื้อของเก่าเป็นโซนตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งตรวจสอบสถานที่รับซื้อของเก่าให้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานทุกปี
          ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีท้ังสี่ให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนการฟ้องคดีแต่อย่างใด

          ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีโดยได้วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่ไม่ดำเนินการควบคุมและตรวจสอบการประกอบกิจการค้าของเก่า รวมทั้งไม่แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการดังกล่าวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงชอบที่จะยื่นคำขอแสดงความประสงค์หรือมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เพื่อให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด
          นอกจากนี้การจะดําเนินการตามคำขอโดยกำหนดมาตรการหรือดําเนินการจัดระเบียบสําหรับผู้ประกอบกิจการค้าของเก่าอย่างไรนั้น เป็นอำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปสั่งให้ดําเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ คําขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคําขอที่ศาลไม่อาจกําหนดคําบังคับตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
          ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคําขอหรือทําหนังสือร้องเรียนก่อนการฟ้องคดีและการมีคําขอประกอบคําฟ้องในลักษณะที่เป็นอํานาจดุลพินิจที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องดําเนินการจึงเป็นกรณีที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

          (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 602/2558)

          คดีนี้ศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ว่า
          (1) การฟ้องคดีเพื่อให้ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เป็นกรณีที่เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่แล้ว ก่อนการยื่นฟ้องคดีต้องมีการยื่นคําขอหรือมีหนังสือร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดําเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ ก่อนจะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
          (2) การมีคําขอประกอบคําฟ้องนั้นจะต้องเป็นคําขอที่ศาลปกครองสามารถกําหนดคําบังคับได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หากคำขอใดเป็นคำขอที่ศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับได ้เช่น การขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองแล้ว จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลปกครองมีอำนาจไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา