2 มี.ค. 2567

เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ไม่มีอายุความ

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา  1336 "ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"

          เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิที่จะใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และมีสิทธิได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น รวมทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ โดยเฉพาะการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้นั้น เจ้าของทรัพย์สินสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความ
       
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558  เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2558  โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้องชุดพิพาทและจำเลยเช่าพื้นที่ห้องชุดดังกล่าวบางส่วนจากโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาเช่า ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลย เป็นการฟ้องอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าและในฐานะเจ้าของห้องชุดพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 538 แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง และมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยยังคงอาศัยในห้องชุดพิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556  โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 247

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555   การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2555   คดีนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ในการเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้ว จำเลยถูกผู้อื่นแอบอ้างและใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยจำเลยไม่มีเจตนารับโอนเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เพียงพอโดยไม่จำต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง กรณีเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไป เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีผู้แอบอ้างและใช้เอกสารปลอมขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วนำเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งซื้อมาด้วยเงินของโจทก์มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยก็มิได้กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงชอบด้วยความเป็นธรรมที่โจทก์จะเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้เสมือนเป็นการติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนแทนเงินที่โจทก์ต้องสูญเสียไป เพื่อเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำอันมิชอบ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่ไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้หนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยตามฟ้องได้เพราะจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554  สัญญาฝากเงินและเบิกถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จำกัด เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ดังนั้นเงินฝากของสหกรณ์ที่ฝากไว้กับโจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน สหกรณ์ฯ มีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ โจทก์เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่พนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดและนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี จึงเป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ไม่ใช่เป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯ เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ จะมียอดแสดงการหักเงินจากบัญชี แต่บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ เป็นเพียงหลักฐานและการตรวจสอบการรับฝากและถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯ เท่านั้น เมื่อสหกรณ์ฯ ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์ สหกรณ์ฯ จึงย่อมไม่มีสิทธิติดตามและเอาเงินคืนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ เป็นความรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ไม่มีสิทธิใดที่โจทก์จะรับช่วงจากสหกรณ์ฯ ในการฟ้องร้องเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยรับช่วงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 229
          เมื่อจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลย ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้
          คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์เก็บบรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 227 วรรคหนึ่งด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2554   ที่ดินพิพาททิศเหนือจดที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีทิศตะวันออกจดและเชื่อมต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 529 เป็นแนวยาวระดับเดียวกันจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตกจดซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) ซึ่งรูปแผนที่ของที่ดินโฉนดเลขที่ 529 ระบุว่าทิศใต้จดที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 529 ออกโฉนดปี 2537 ภายหลังจากที่ ล. กับจำเลยที่ 9 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทนานถึง 5 ปี ยังเป็นที่ดินที่เชื่อมต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 เช่นเดิมจึงมิใช่ถนนซอยทองหล่อ 12 เพราะมิฉะนั้นการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องสั่งเพิกถอนตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 แม้ตามรูปแผนที่และสภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 และ 529 เจ้าของที่ดินทั้งแปลงไม่สามารถนำที่ดินทั้งสองแปลงไปทำประโยชน์ได้ นอกจากจัดมีไว้ให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกไปสู่ถนนสุขุมวิท 55 เท่านั้นก็ตาม แต่ขณะที่มีการทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ไม่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 และเจ้าของที่ดินส่วนที่จะเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 529 ได้อุทิศ หรือให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว จะถือว่าที่ดินพิพาทอยู่ติดถนนซอยทองหล่อ 12 หาได้ไม่ เพราะเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิติดตามเอาคืนและขัดขวางได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 คดีฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ติดถนนซอยทองหล่อ 12

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12162/2553  การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ 2 รับซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทนำรถยนต์คันพิพาทไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท ทั้งการที่ บ. และจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันพิพาทของโจทก์มาจัดไฟแนนซ์กับบริษัท ด. ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เป็นการซื้อขายในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมาย
          แม้ตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์จะขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในรถยนต์คันพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม เมื่อปรากฏว่าใบแทนใบคู่มือจดทะเบียนรถสำหรับรถยนต์คันพิพาทที่นายทะเบียนขนส่งจังหวัดขอนแก่นออกให้แทนฉบับเดิม ก็เป็นการดำเนินการของนายทะเบียนขนส่งจังหวัดขอนแก่นตามที่ได้รับแจ้งข้อความเท็จจากจำเลยที่ 2 ถือว่าใบแทนคู่มือการจดทะเบียนเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนแต่โจทก์ก็มีคำขอให้ใบคู่มือจดทะเบียนรถฉบับของโจทก์มีผลใช้บังคับได้ตามเดิมศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนใบแทนใบคู่มือจดทะเบียนรถสำหรับรถยนต์คันพิพาทที่ออกโดยไม่ชอบนั้นได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่เกินคำขอ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8875/2553   การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยเนื่องจาก ม. ปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์แล้วฝากเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนมาจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2553   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยขนส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้า จำเลยนำสินค้าไปเป็นของตนเอง โจทก์ต้องจัดส่งสินค้าอย่างเดียวกันให้ลูกค้าอีกครั้งทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว แม้ตามฟ้องโจทก์จะเรียกเอาค่าเสียหายแต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเอาก็เท่ากับราคาสินค้าที่ได้มอบให้จำเลยไปจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความฟ้องร้อง ทั้งจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายระหว่างการขนส่ง จึงไม่อาจนำอายุความตามมาตรา 624 มาใช้บังคับได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2553    โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาแต่ต้น จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องวินิจฉัยเพราะการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นมิใช่เป็นที่ดินของตนเอง
          โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าของ ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9626/2552   จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. โดยไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ฟ้อง จ. ให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทในข้อหานิติกรรมอำพรางใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากระหว่างจำเลยกับ จ. เป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แต่ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับ จ. และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยอ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. ภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ที่จำเลยผู้ขายฝากจะมีสิทธิไถ่คืนจาก จ. ผู้ซื้อฝากแล้ว เมื่อ จ. มิได้อยู่ในฐานะคู่ความในคดีนี้ ข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของจำเลย แม้จำเลยจะได้ฟ้อง จ. ต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาท แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความแล้ว ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336