4 มี.ค. 2567

สัญญาตัวแทน


          มาตรา 797 "อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
          อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้"

          สัญญาตัวแทนนั้นโดยปกติแล้วเกิดขึ้นโดยอาศัยหลักความยินยอมจากฝ่ายตัวการและตัวแทน แต่บางครั้งก็อาจมีตัวแทนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมเห็นชอบ แต่เกิดขึ้นเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ ที่เรียกว่า "ตัวแทนเชิด" "ตัวแทนโดยการให้สัตยาบัน" หรือ "ตัวแทนโดยปริยาย"ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวแทนโดยกฎหมายปิดปาก คือ ปิดปากตัวการนั่นเอง
          สัญญาตัวแทนนั้น ต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย คือ ตัวการฝ่ายหนึ่ง และตัวแทนอีกฝ่ายหนึ่ง โดยการที่ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนมีอำนาจแทนตนในการกระทำการอย่างใดๆกับบุคลที่สามหรือบุคคลภายนอก ทั้งนี้ กิจการทุกเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถตั้งตัวแทนไปกระทำการแทนได้ ยกเว้น กิจการซึ่งอาจเป็นกิจการเฉพาะตัวเพราะกฎหมายบังคับหรือตามลักษณะกิจการนั้นจะต้องทำด้วยตนเอง


          ในส่วนของกิจการที่ตัวการสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนไปกระทำการแทนนั้น ถ้าหากตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็จะฟ้องตัวแทนให้รับผิดไม่ได้ หากจะฟ้องก็ต้องฟ้องตัวการให้รับผิด ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาตรา 820, 797
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2545  จำเลยแต่งตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. กับจำเลยหาใช่เป็นเรื่องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของจำเลยแต่อย่างใดไม่ เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอันเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ทดรองจ่ายแทนจำเลย จึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยหรือรับทำการงานต่าง ๆ ของจำเลย คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 19 กันยายน 2540 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2556  บริษัท ย. มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง เป็นกรณีจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัท ย. ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
          จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์แทนบริษัท ย. ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2552  โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ชำระราคาครบถ้วนและส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในวันที่ทำสัญญาแล้ว แต่ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์สอบถามไปยังบริษัท ส. จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัท ส. และชำระราคาแล้ว แล้วได้มีการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมื่อคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและครอบครองรถยนต์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 ซึ่งผู้มีอำนาจโอนสิทธิในรถยนต์พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัท ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือไม่ และการที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้นั้นคำพิพากษาต้องมีผลผูกพันบริษัท ส. ด้วย ทำให้บริษัท ส. ต้องเข้ามารับผิดต่อโจทก์ในฐานะคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทซึ่งต้องอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบริษัท ส. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกบริษัท ส. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันบริษัท ส. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          แต่ในส่วนการใช้วานให้คนขับรถหรือทำการอย่างใดให้นั้นไม่ใช่เรื่องของสัญญาตัวแทน แต่เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้ใช้กับผู้ถูกใช้เท่านั้น ไม่ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม ซึ่งสัญญาตัวแทนโดยทั่วไปนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามโดยอาจจะระบุไว้เฉพาะหรือโดยทั่วไปก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2505 ใช้หรือวานบุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้างให้ขับรถยนต์ไปในธุระกิจของผู้ใช้เอง โดยผู้ถูกใช้เป็นผู้ขับรถยนต์ได้ และเคยขับให้ผู้ใช้มาก่อนแล้วนั้น หากผู้ถูกใช้ขับรถยนต์ไปชนบุคคลอื่นเป็นการละเมิดขึ้น ผู้ใช้ก็หาจำต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ เพราะมิได้ประมาทเลินเล่อในการใช้หรือวาน 
          การรับใช้หรือวานขับรถยนต์ให้นั้นไม่ใช่เป็นตัวแทน เพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่ 3 แต่เป็นกิจการในระหว่างผู้ใช้กับผู้รับใช้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลที่ 3 เลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2507  ความรับผิดของตัวการในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนกระทำไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 นั้น  จะต้องเป็นเรื่องที่ตัวการตั้งตัวแทนให้ไปทำการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3
          โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นตัวการร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน  เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกถ่านของจำเลยที่2 ได้ทำการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3 อันจะเข้าลักษณะเป็นตัวแทนแล้ว  จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทนตามที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2510  เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถแล้วเจ้าของรถยนต์วานให้ช่างซ่อมรถขับรถคันนั้นไปส่งที่อื่น เมื่อส่งเสร็จแล้วช่างซ่อมรถขับรถกลับอู่ไปเกิดชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายระหว่างทาง ดังนี้ ช่างซ่อมรถไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมรับผิดในการละเมิดนั้น 
          สัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 นั้น ผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523  การที่จำเลยที่ 1  ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3  ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3  จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5549/2541 จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุโดยในขณะเกิดเหตุจำเลยให้ น. ยืมเงิน โดยให้ น.ขับรถยนต์ของจำเลยคันดังกล่าวไปรับเงินจากภรรยาของจำเลย แล้ว น.ขับรถยนต์ไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันอื่นโดยละเมิด เป็นเหตุให้ ณ.ผู้ขับขี่ และ บ. ซึ่งนั่งซ้อนท้ายมากับรถคันดังกล่าวถึงแก่ความตายแต่การที่ น. นำรถยนต์ที่จำเลยให้ยืมเพื่อไปรับเงินที่จำเลยให้ยืมจากภรรยาของจำเลย มิใช่เป็นการทำการแทนจำเลย หากแต่เป็นการทำเพื่อกิจการและประโยชน์ของ น.เอง ดังนี้น. จึงมิใช่ตัวแทนของจำเลย จำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่ง น. ได้กระทำไป
          แต่กรณีที่ใช้ให้ไปกระทำการอย่างใดแทนตน โดยเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม ถือเป็นตัวแทนโดยปริยาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2516 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลาธิการกองพลทหารม้า สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพลขับและสังกัดอยู่ในกองพลเดียวกัน ขับรถยนต์ของทางราชการกองพลทหารม้าไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการวัดอยู่ด้วยกิจการดังกล่าวมิใช่ราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 3  ทั้งมิได้เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 แต่ประการใด  ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่2 เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนี้โดยปริยายเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับกองพลทหารม้าได้ชนรถยนต์โจทก์เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2515) 
ซึ่งการเกิดสัญญาตัวแทนตามมาตรา 799 วรรคสอง บัญญัติให้ตัวแทนนั้นเกิดขึ้นโดยการแต่งตั้งแสดงออกชัดคือมอบหมายระหว่างตัวการและตัวแทนโดยตรงหรืออาจเป็นตัวแทนโดยปริยายก็ได้