31 ต.ค. 2559

เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ตรวจสอบ ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการ เมื่อเกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิต หน่วยงานรัฐต้นสังกัดจะต้องรับผิดชอบ

          คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ         

          กรณีของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่ควบคุมดูแลและตรวจสอบอาคารที่เจ้าของได้ดัดแปลงให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ต่อมาเกิดอุบัติภัยในอาคารจนมีผู้เสียชีวิต มีปัญหาว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐต้นสังกัด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากความเสียหายนั้นหรือไม่ อย่างไร ?
         
          มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ กรณีไฟไหม้ "ซานติก้าผับ"

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 222/2558  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าของอาคารได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารชนิดตึก (ชั้นลอย) 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์ พักอาศัย แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงอาคารดังกล่าวเป็นสถานบันเทิง ชื่อว่า “ซานติก้าผับ” โดยมิได้ขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ซึ่งต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งบุตรของผู้ฟ้องคดีด้วย
          ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า การที่บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเป็นผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่(ผู้อำนวยการเขตซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคาร) ของผู้ถูกฟ้องคดี(กรุงเทพมหานคร) โดยไม่ตรวจสอบ
ควบคุม ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบ อุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพอาคาร ตามรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี
          ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า การก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ไม่เคยขออนุญาตดัดแปลง ไม่เคยปรากฏว่ามีเหตุร้องเรียน และได้มีการตรวจสถานที่ตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลพบว่ามีระบบป้องกนอัคคีภัยเพียงพอ และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานสรุปความเห็นการเกิดเหตุว่า มีสาเหตุจากการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) และประกายไฟและความร้อนไปถูกกับโฟมที่ใช้ตกแต่งสถานที่ มิใช่มีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ผิดจากแบบแปลน

          คดีมีประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้อํานวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมต้องมีอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ผู้อำนวยการเขตจึงสามารถที่จะทําการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตไม่มาก ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตได้เคยเข้าไปตรวจสถานที่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุถึง 3 ครั้งตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลขณะนั้น ผู้อำนวยการเขตจึงไม่อาจอ้างว่าอาคารดังกล่าวได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
          ถ้าหากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการเขต ได้ใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เจ้าของอาคารก็จะไม่สามารถใช้อาคารโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเพลิงไหม้จนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อํานวยการเขตกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้อำนวยการเขต อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 



10 ต.ค. 2559

กรณีถูกเวนคืนที่ดินและต้นยางพารา ผู้ถูกเวนคืนสามารถขอค่าเสียหายในอนาคตได้อีก | เวนคืนที่ดิน

          การกำหนดค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งต้นไม้ อันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐนั้น มักจะกำหนดในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยมักจะอ้างไปถึงราคากลางต่างๆที่หน่วยงานของรัฐกำหนดขึ้น และมักจะไม่คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ การได้มาและสภาพที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนอย่างรอบด้าน ค่าทดแทนดังกล่าวที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18  ได้รับจากหน่วยงานของรัฐจึงมักจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งการกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเสียหายที่ผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการเวนคืนด้วย ดังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ว่า การกำหนดค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินและต้นไม้นั้น จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่เป็นค่าเสียหายในอนาคตให้ด้วย
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 113/2557  เป็นเรื่องของเจ้าของสวนยางพารา ซึ่งถูกเวนคืนที่ดินและต้นยางพารา แต่ไม่พอใจการกำหนดราคาค่าทดแทนต้นยางพาราที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองขอให้กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดินจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้น
          ข้อเท็จจริงในคดีนี้ กรมชลประทานได้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา และเวนคืนต้นยางพาราจำนวน  356 ต้น โดยกรมชลประทานกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินไร่ละ 30,000 บาท และค่าทดแทนต้นยางพาราต้นละ 500 บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าขณะที่ต้นยางพาราถูกเวนคืนมีอาย 7  ปีซึ่งถือเป็นช่วงที่ต้นยางพาราเริ่มให้น้ำยางดี มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 13 ปีควรได้รับค่าชดเชยต้นละ 704 บาท เงินค่าทดแทนต้นยางพาราที่กรมชลประทานกำหนดให้เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ไม่ได้รับแจงผลการพิจารณาอุทธรณ์จึงนาคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
          คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมชลประทาน)อ้างว่า เจ้าของที่ดินรายอื่นที่ถูกเวนคืนโครงการเดียวกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้เรียกร้องเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่ม ซึ่งการจ่ายเงินค่าทดแทนตนยางพาราให้แก่ผู้ฟ้องคดีต้นละ  704 บาท จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนรายอื่น อีกทั้ง คณะกรรมการกําหนดราคาเบื้องต้นไม่เคยนําค่าเสียโอกาสในอนาคตมากําหนดการจ่ายเงินค่าทดแทนต้นไม้ในการเวนคืนทุกโครงการ ประเด็นของคดีนี้คือกรมชลประทานกำหนดค่าทดแทนต้นยางพาราให้แก่ผู้ฟ้องคดีถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ?
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ถึงแม้ราคาค่าชดเชยต้นยางพาราที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีต้นละ  500 บาท จะสูงกว่าราคาค่าชดเชยต้นยางพาราที่กำหนดไว้ในบัญชีประเมินค่าชดเชยของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ปีพ.ศ. 2543-2545 แต่พยานผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า หากต้นยางพาราของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกเวนคืน จะสามารถให้ผลผลิตได้อีก 16 ปีและต้นยางพาราควรจะมีค่าตอบแทนต้นละ 1,021.44 บาท โดยคำนวณจาก ผลตอบแทนหลงหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำมาคูณด้วยระยะเวลาการให้ผลผลิต จำนวน 16 ปี อีกทั้ง เมื่อต้นยางพาราไม่สามารถให้ผลผลิตก็สามารถขายลำต้นเพื่อแปรรูปได้ไร่ละประมาณ 10,000 บาท จึงเห็นว่า แม้ไม่อาจคาดหมายว่าผลผลิตและราคานํ้ายางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรจะคงที่ตลอดระยะเวลายาวนาน 16 ปี เพราะขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ในอนาคตหลายประการ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคและศัตรูพืช ราคาปัจจัยการผลิต ปริมาณน้ำฝน  การดูแลรักษา แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืนตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลาที่มีการเวนคืนต้นไม้ของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ได้รับยังไม่เป็นธรรม ส่วนการที่ผู้ที่ถูกเวนคืนเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีพอใจในเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดให้นั้น ก็มิอาจถือเป็นเกณฑ์ว่าเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดให้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับเงินค่าทดแทนจึงยอมดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติเพื่อรักษาสิทธิของตนเองได้แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่มเป็นต้นละ 740 บาท ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่มให้ผู้ฟ้องคดีอีกต้นละ 204 บาท