1 มี.ค. 2567

เหตุฟ้องหย่า

          การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล


          ศาลจะมีคำพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันก็โดยสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องขอหย่า โดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1516 ซึ่งมีกำหนดไว้ 12 เหตุที่ใช้บังคับกับทุกกรณีที่มีการหย่าเกิดขึ้น

          มาตรา 1516  "เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
          (1)  สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
               (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
               (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
               (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
          อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (4/1)  สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (4/2)  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (5)  สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้"




          (1)  สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้  (มาตรา 1516 (1)) 


          ก. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ภริยาฟ้องหย่าได้

          สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา
          การอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา คือ การให้ความช่วยเหลือหญิงอื่นในสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ไม่ว่าเงินหรือเครื่องอุปโภคบริโภคหรือทรัพย์อื่นใดในการดำรงชีพ ทั้งนี้ต้องเป็นการอุปการะเลี้ยงดูฉันภริยา และแม้หญิงอื่นจะเคยมีความสัมพันธ์กับสามีมาก่อนสมรสกับภริยา หากสามียังอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นโดยเปิดเผยฉันภริยาแล้ว ภริยาก็มีสิทธิฟ้องหย่าได้
          การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา คือ การแสดงโดยเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปทราบว่าหญิงอื่นนั้นเป็นภริยาของตนหรือมีความสัมพันธ์ฉันภริยากับตน เช่น พาไปออกงานสังคมโดยเปิดเผยและแนะนำให้เพื่อนฝูงรู้จักว่าเป็นภริยาตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2525  จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ เมื่อจำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และยกย่องเป็นภรรยาอย่างออกหน้า ดังนี้ โจทก์ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่าในกรณีนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน ตาม ป.พ.พ. ม.1523 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552  แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2552   โจทก์เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมาและโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546   โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้
          การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก
          สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

          สามีเป็นชู้กับภริยาคนอื่น เป็นกรณีที่สามีถูกภริยาฟ้องหย่าเพราะเหตุไปเป็นชู้กับภริยาผู้อื่นนั้น สามีจะต้องรู้ว่าหญิงอื่นที่สมัครใจมาร่วมประเวณีกับตนเองนั้นมีสามีแล้วด้วยจึงจะถือว่าเป็นชู้ การเป็นชู้นี้แม้เพียงครั้งเดียวก็ถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ อย่างไรก็ตาม การเป็นชู้นี้ถือว่าเป็นเหตุประพฤติชั่วตามมาตรา 1516 (2) ด้วย

          สามีร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ คือ กรณีที่สามีสมัครใจร่วมประเวณีกับหญิงอื่นนี้ ต้องกระทำเป็นประจำเป็นนิสัย ไม่ใช่ชั่วครั้งคราว

          ข. ภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามี มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ สามีฟ้องหย่าได้

          ภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามี

          ภริยามีชู้ คือ กรณีภริยาสมัครใจร่วมประเวณีกับชายอื่น แต่ถ้าถูกข่มขืนก็ไม่ถือว่ามีชู้

          ภริยาร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ คือ ภริยาสมัครใจร่วมเพศกับชายอื่นและภริยากระทำเช่นนี้จนติดนิสัยหรือกระทำอยู่เสมอๆ มิใช่ชั่วครั้งชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แม้ร่วมเพศกับชายอื่นเพียงครั้งเดียวก็ถือว่ามีชู้อันเป็นเหตุฟ้องหย่าเหมือนกัน

          อนึ่ง ถ้าศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุประพฤตินอกใจคู่สมรสตามมาตรา 1516 (1) สามีหรือภริยามีสิทธิได้รับค่าทดแทนทั้งจากภริยาหรือสามี และจากชายชู้หรือจากหญิงที่สามีร่วมทำชู้ หรือจากชายอื่นหรือหญิงอื่นอันเป็นเหตุแห่งการหย่านั้นด้วย ตามมาตรา 1523
      


       
           (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
               (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
               (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
               (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ 
          อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (2))

          การที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้ฟ้องหย่านั้น การประพฤติชั่วดังกล่าวจะต้องเป็นเหตุให้ภริยาหรือสามีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดอดร้อนเกินควรด้วย ถ้าลำพังแค่การประพฤติชั่วอย่างเดียวยังไม่เป็นเหตุหย่า สำหรับความประพฤติชั่วนั้น หมายถึง ความประพฤติที่ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจารีตประเพณีซึ่งวิญญูชนรู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2529  แม้การที่จำเลยใช้กำลังกายปลุกปล้ำและทำร้ายท.ลูกจ้างโดยส่อเจตนาว่าจะใช้กำลังบังคับข่มขืนใจให้ท.ยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณีนั้นจะเกิดขึ้นภายในบ้านไม่มีบุคคลภายนอกรู้เห็นก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงต่อท.ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2531  จำเลยชอบเล่นการพนันมานาน โจทก์ห้ามปรามก็ไม่เชื่อบางครั้งนำทรัพย์สินภายในบ้านไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนันจำเลยเคยถูกจับฐานเล่นการพนันถูกดำเนินคดีจนศาลพิพากษาลงโทษ ก็ยังไม่เลิก โจทก์เป็นตำรวจต้องถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปตักเตือนว่าหากไม่ห้ามให้จำเลยเลิกเล่น จะย้ายโจทก์ โจทก์ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว เมื่อจำเลยเล่นการพนันเสียบางครั้งเงินก็ไม่พอใช้จ่ายพฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) และ (ค)
          การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175/2537  สามีดื่มสุราเป็นอาจิณ และทำร้ายร่างกายภริยาบ่อยครั้งเมื่อมึนเมา เป็นการประพฤติชั่ว ภริยาฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5989/2538  สามีเที่ยวหญิงบริการและให้เพื่อนถ่ายภาพลามกอนาจารที่ตนทำกับหญิงอนาจารออกเผยแพร่ เป็นการประพฤติชั่ว ฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547  ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2543  เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 1 คนต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันอีก ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โดยโจทก์กับบุตรอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำพัง โจทก์พาบุตรเดินทางไปเยี่ยมจำเลยตามปกติพบชายอื่นพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับจำเลยในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันหลังจากนั้นประมาณ 3 ปี โจทก์พาบุตรเดินทางไปพบจำเลยเนื่องจากต้องการให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในการขายตึกแถวสินสมรส โจทก์ก็พบจำเลยพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับชายอื่นอีกคนหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยอีก โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเช่นเคย เมื่อจำเลยเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย จำเลยก็มากับชายอื่นและเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน แทนที่จำเลยจะพักอยู่บ้านโจทก์ผู้เป็นสามี พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(2)(ก)(ข) และ (6) แม้ในระหว่างที่จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น และให้ความอุปการะเลี้ยงดูด้วยซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวเอาความกับโจทก์ตามสิทธิที่มีอยู่ กรณีหาเป็นเหตุทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์สิ้นไปไม่

          พฤติการณ์ที่ไม่เป็นการประพฤติชั่ว ฟ้องหย่าไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2533  จำเลยเป็นภรรยาโจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมพูดกับโจทก์ หากมีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกันจำเลยจะเขียนจดหมายแทนการพูดกับโจทก์ก็เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงอื่นและทำร้ายร่างกายจำเลย ทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้บุตรได้ยินการทะเลาะกันระหว่างโจทก์กับจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุอันสมควรที่จะทำให้จำเลยแสดงอาการดูถูกเกลียดชังโจทก์และไม่พูดคุยกับโจทก์ได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่ว และถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุหย่า มารดาของโจทก์เป็นลมเนื่องจากทะเลาะกับจำเลย เพราะจำเลยต้องการพาบุตรชายไปเที่ยวนอกบ้านแต่มารดาไม่ยอม เหตุดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีโจทก์อย่างร้ายแรง.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2537  การที่จำเลยสืบทราบว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหญิงอื่นจึงเสพสุรา สูบบุหรี่ ทะเลาะวิวาท และติดตามควบคุมโจทก์ในวิทยาลัยที่โจทก์ทำงานอยู่นั้น แม้พฤติการณ์ของจำเลยจะก่อให้โจทก์เกิดความเบื่อหน่ายอับอายในหมู่เพื่อนอาจารย์และนักศึกษา แต่ก็เกิดจากความรักหึงหวงหวาดระแวงของจำเลยตามวิสัยสตรีเพศที่เป็นภริยาซึ่งอาจปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ถ้าโจทก์ไม่แสดงความรำคาญใจและฝักใฝ่ในสตรีอื่นให้ปรากฏ ทั้งจำเลยเองก็ไม่สมัครใจหย่าตัดความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงยังไม่ถึงขั้นประพฤติชั่วที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงหรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเดือดร้อนเกินควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541  การที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็นผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ สมาคมฯจึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าว เป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2542  การที่จำเลยไปเที่ยวกับผู้ชายในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ความชัดว่าจำเลยประพฤติตนเช่นนั้นเป็นปกติวิสัยหรือไม่ ชายที่จำเลยไปด้วยมีความสัมพันธ์กับจำเลยเกินกว่าปกติธรรมดาหรือไม่ และจำเลยไปกับชายดังกล่าวเพียงลำพังสองต่อสองหรือไม่ จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยประพฤติชั่ว อันจะเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2546  ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนับแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นไปโดยปกติ จำเลยเพิ่งมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปเมื่อครั้งทำงานที่ประเทศบรูไนแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการและนายจ้างส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทย ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อนจำเลยย่อมเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น โจทก์จึงควรสงสารให้ความเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจจำเลย แม้บางครั้งจำเลยดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยเนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ส่งจดหมายมาบอกขณะโจทก์อยู่ที่ดินแดนไต้หวันว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วทั้งจำเลยยินยอมแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวหรือดื่มสุราดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3)

          (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (3))

          ก. การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หมายถึง การจงใจทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของคู่สมรสหรือบุพการีของคู่สมรสอีกฝ่าย ซึ่งการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจนี้ต้องร้ายแรงด้วยจึงจะเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2506/2523  การที่สามีไปได้ภริยาน้อยจนกระทั่งมีบุตรด้วยกันภริยาหลวงย่อมจะต้องมีความหึงหวงเป็นธรรมดา ภริยาด่าสามีด้วยอารมณ์หึงหวงอันเกิดจากความรักความหวงแหนหาเป็นการร้ายแรงที่จะอ้างมาเป็นเหตุหย่าได้ไม่ และการทำร้ายร่างกายด้วยสาเหตุดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฏว่าสามีได้รับอันตรายร้ายแรงจากบาดแผลนั้นแต่อย่างใด ก็ไม่เข้าลักษณะของการทำร้ายอันเป็นการร้ายแรงที่จะถือเป็นเหตุหย่าได้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2943/2524  การที่จำเลยตัดสายห้ามล้อรถยนต์เพื่อมิให้โจทก์ออกจากบ้านยังห่างไกลต่อการที่จะฟังว่าจำเลยได้ทำร้ายโจทก์ และแม้โจทก์จำเลยทะเลาะกันเป็นประจำก็ฟังไม่ได้ว่าเป็นการร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2539   จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 1,000 บาท โจทก์มิได้นำแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลมาเบิกความว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บมากน้อยเพียงใด การที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับเพียง 1,000 บาท แสดงว่าบาดแผลที่โจทก์ได้รับไม่เป็นอันตรายร้ายแรงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการร้ายแรงอันเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3)

          ข. การทรมาณร่างการหรือจิตใจ คือ การทำให้เกิดความลำบากทางร่างกายหรือจิตใจ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2524  จำเลยทะเลาะกับโจทก์ และด่าโจทก์กับบิดามารดาโจทก์ว่า "อีดอกทอง อีหน้าส้นตีน พ่อแม่มึเฮงซวย กูอยู่บ้านนี้ไม่ได้แล้ว" และเมื่อโจทก์จำเลยแยกไปอยู่ที่อื่น จำเลยยังด่าว่า "อีดอกทอง อีหน้าส้นตีน พ่อแม่ไม่สั่งสอน ทำกับข้าวเหมือนให้หมากิน" ทั้งยังด่าโจทก์เป็นผู้หญิงไม่ดีอีกด้วย และใช้กำลังตบตีโจทก์จนหนีออกจากบ้าน จำเลยก็ยังตามไปตบตีโจทก์อีก เช่นนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และบิดาโจทก์อย่างร้ายแรง และเป็นการทรมาณร่างกายและจิตใจโจทก์ อันเป็นเหตุฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6483/2534  การฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างสามีภริยาเรื่องต่างฝ่ายจะไม่นำบุตรหรือญาติเข้ามาอยู่ในบ้านที่สามีซื้อเป็นเรือนหอ ไม่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่สนใจความเป็นอยู่ของโจทก์ ทั้งที่รู้ว่าโจทก์เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและอายุมาก จำเลยไม่สนใจจัดการบ้านเรือน อาหารและแอบไปถอนเงินฝากของโจทก์มาใช้ส่วนตัว เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติตนในฐานะภริยาบกพร่องไปเท่านั้น ไม่เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2557  โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นสามีอ้างเหตุว่า จำเลยทรมานร่างกายและจิตใจของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ด้วยการใช้วาจาไม่สุภาพและทะเลาะกับโจทก์โดยไม่มีเหตุผลเป็นประจำ จำเลยถือมีดทำครัวยืนขวางไม่ให้โจทก์ออกจากบ้านและขู่จะฆ่าให้ตายหากไม่นำภาพถ่ายในอดีตของโจทก์มาให้และข่มขู่จะทำร้ายโจทก์ด้วยอารมณ์รุนแรงไม่มีเหตุผล ทำให้โจทก์หนีออกจากบ้านเพราะเกรงจะถูกทำร้าย การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้มีดขู่ให้โจทก์ยอมร่วมประเวณีด้วย ทั้งๆที่โจทก์ไม่สบายและไม่ต้องการร่วมประเวณี ทำให้โจทก์รู้สึกทรมานร่างกายและจิตใจอย่างมาก จึงเป็นรายละเอียดแห่งเหตุหย่าตามที่โจทก์กล่าวบรรยายในฟ้อง มิใช่การนำสืบนอกเหนือจากฟ้องตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

          ค. หมิ่นประมาท หรือเหยียดหยาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 329/2511  โจทก์จำเลยทะเลาะกันด่ากัน โจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์เพื่อยกเป็นเหตุฟ้องหย่าหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2517  จำเลยด่าโจทก์และมารดาโจทก์ว่ามารดาโจทก์เป็นคนดอกทองและโจทก์เป็นลูกคนดอกทอง มารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นคนดอกทอง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493ได้นิยามคำว่า 'ดอกทอง' ไว้ว่า หมายถึงหญิงใจง่ายในทางประเวณี คำด่าดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการด่ามารดาโจทก์เป็นหญิงใจง่ายในทางประเวณีและมารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นหญิงใจง่ายในทางประเวณี อันเป็นการหมิ่นประมาทมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5638/2537  พฤติการณ์ของจำเลยที่กล่าวหาว่าโจทก์มีชู้ โดยที่คาดคะเนหรือสันนิษฐานเอาเอง แล้วด่าว่าโจทก์ถึงเหตุนี้ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานและต่อหน้าพนักงานสอบสอน จึงเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ทั้งการที่จำเลยได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ด่าว่าโจทก์ไปให้โจทก์และบุคคลอื่นทางไปรษณีย์ กับส่งทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยทำลายแล้วไปให้โจทก์ เป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(3)(เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2548  โจทก์มีพฤติการณ์ส่อว่าจะมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับผู้หญิงอื่น จำเลยหึงหวงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันมาโดยตลอด ณ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์เคยมาขอยืมเงินโจทก์ไปแล้วยังใช้คืนไม่หมด ต่อมา ณ. ขอให้โจทก์นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อนำเงินกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานต่างประเทศอีก แต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนอง จึงเกิดทะเลาะกัน โจทก์จำเลยเขียนบันทึกโต้ตอบกันโดยโจทก์ด่าจำเลยก่อนว่าโจทก์กับจำเลยเป็นบุคคลคนละชั้นกัน จำเลยจึงลำเลิกบุญคุณด่ากลับทำนองว่าโดยเลี้ยงดูส่งเสียโจทก์มาก่อน การที่จำเลยพูดห้ามบุตรสาวจำเลยไม่ให้เข้าใกล้โจทก์และว่าไอ้คนนี้ถ้าคลำไม่มีหางมันเอาหมดนั้น เป็นการกระทำไปโดยเจตนาเตือนให้บุตรสาวระมัดระวังตัวไว้ เพียงแต่ใช้ถ้อยคำอันไม่สมควรเยี่ยงมารดาทั่วไปเท่านั้น นอกจากนี้ การที่จำเลยพูดว่าทำนองเหยียดหยามโจทก์และมารดาโจทก์เกิดจากโจทก์และมารดาโจทก์มีส่วนร่วมก่อให้จำเลยกระทำการดังกล่าวอยู่มาก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเหยียดหยามโจทก์และมารดาโจทก์อย่างร้ายแรงอันโจทก์จะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2546  ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนับแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นไปโดยปกติ จำเลยเพิ่งมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปเมื่อครั้งทำงานที่ประเทศบรูไนแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการและนายจ้างส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทย ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อนจำเลยย่อมเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น โจทก์จึงควรสงสารให้ความเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจจำเลย แม้บางครั้งจำเลยดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยเนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ส่งจดหมายมาบอกขณะโจทก์อยู่ที่ดินแดนไต้หวันว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วทั้งจำเลยยินยอมแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวหรือดื่มสุราดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3)
       
          การที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันด้วยเหตุตามมาตรา 1516 (3) นี้ ถ้าเหตุการหย่าเกิดขึ้นจากการที่คู่สมรสฝ่ายที่ต้องรับผิดก่อให้เกิดขึ้นโดยประสงค์ที่จะให้อีกฝ่ายไม่อาจทนได้จึงต้องฟ้องหย่า คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่ามีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิดด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 1524



          (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4))

           หลักเกณฑ์การทิ้งร้าง คือ

          ก. สามีและภริยาแยกอยู่ต่างหากจากกัน อยู่คนละบ้าน ห่างไกลกัน ไม่มีการติดต่อกัน และการแยกกันอยู่ต้องมีตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีด้วย ถ้าต่อมากลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมแล้ว ก็ถือว่าให้อภัยในการละทิ้งร้างดังกล่าวแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2518  การที่สามีภริยาไม่ได้หลับนอนร่วมเพศกัน แต่อยู่คนละบ้านในบริเวณเดียวกัน ไม่เป็นการทิ้งร้างกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4480/2553  จำเลยซึ่งเป็นภริยาย้ายออกจากบ้านพักของโจทก์ซึ่งเป็นแฟลตตำรวจไปอยู่บ้านที่อำเภอน้ำปาดเนื่องจากโจทก์บอกให้ย้ายไป โดยโจทก์โทรศัพท์แจ้งบิดาจำเลยให้มารับจำเลยไป ทั้งบ้านที่อำเภอน้ำปาดก็เป็นที่ดินของโจทก์และจำเลยอันเป็นสินสมรสร่วมกัน การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ โจทก์จึงอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยเพราะจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงรับกันว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์กับจำเลยทะเลาะกันรุนแรงจนถึงขนาดโจทก์ตบตีจำเลยและจำเลยย้ายออกจากบ้านพักของโจทก์ที่เป็นแฟลตตำรวจ ตั้งอยู่ถนนศรีพนมมาศ ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ไปอยู่ที่บ้านตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจำเลยพาเด็กหญิง ภ. บุตรสาวของโจทก์และจำเลยไปอยู่ด้วย จนเป็นเหตุให้โจทก์อ้างเป็นเหตุหาว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์เป็นคดีนั้น โจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงรับกันด้วยว่า การที่จำเลยย้ายออกจากบ้านพักแฟลตตำรวจไปอยู่ที่บ้านที่อำเภอน้ำปาดเป็นเพราะโจทก์บอกให้ย้ายไป โดยโจทก์โทรศัพท์แจ้งบิดาจำเลยให้มารับจำเลยไปและบ้านที่อำเภอน้ำปาดดังกล่าวนั้น ก็เป็นบ้านที่เป็นของโจทก์และจำเลยอันเป็นสินสมรสร่วมกัน ดังนี้ การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ โจทก์จึงอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”

          ข. เจตนาที่สามีหรือภริยาจะแยกจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง หากไม่มีเจตนาแต่เพราะความจำเป็นทำให้ต้องไปอยู่ที่อื่น ดังนี้ ก็ไม่ใช่การจงใจละทิ้งร้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552  ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเหตุหย่าเพียงการละทิ้งร้างกันเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามมาตรา 1516 (4/2) และแม้ว่าคำฟ้องโจทก์แนบบันทึกตกลงแยกทางกันด้วยว่า “ศ. (จำเลย) มีความประสงค์ขอแยกทางกันอยู่กับ ว. (โจทก์) และ ว. ก็ยินยอม” ไว้ท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถือว่าคำฟ้องโจทก์มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) กรณีสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีด้วย
          ตามบันทึกตกลงแยกทางกันนั้นได้บันทึกถึงเหตุที่โจทก์และจำเลยต้องทำบันทึกดังกล่าว และภายหลังทำบันทึกตกลง จำเลยไม่เคยพูดเรื่องขอจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่จำเลยเคยพูดกับโจทก์ให้กลับมาอยู่กับจำเลยและบุตรอีก การบันทึกข้อความเรื่องแยกกันอยู่ดังกล่าวจึงเป็นความประสงค์อันเป็นเจตนาของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยยอมลงลายมือชื่อในบันทึกตกลงเชื่อว่าเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับความจริงในข้อนี้ ก็ยิ่งย้ำให้เห็นชัดแจ้งว่ามีสาระเพื่อได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กรณีจึงไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ การพิจารณาข้อความในบันทึกตกลงในเรื่องแยกกันอยู่จึงพิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารโดยไม่พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยย่อมไม่ชอบ ทั้งโจทก์ก็รับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามมาตรา 1516 (4) ซึ่งการไม่ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อยุติเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู กรณีจึงไม่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4)
         สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550   แม้พฤติการณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2542 โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป แต่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยรวมทั้งไม่ยินยอมกลับประเทศไทยเพื่อมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่ปี 2542 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2545   หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยไปอยู่กินกันที่บ้านมารดาโจทก์ ต่อมามารดาและพี่สาวโจทก์มีเรื่องทะเลาะกับจำเลย จำเลยกับบุตรจึงต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นซึ่งโจทก์ก็ตามไปอยู่ด้วย กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ส่วนการที่โจทก์ไปอยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน แล้วกลับออกมาอยู่กับมารดาโจทก์โดยอ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านนั้นก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยาซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลยแม้ต่อมาจำเลยจะย้ายบ้านมาอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปเพียง 5 ถึง 6 ห้องเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มา เมื่อจำเลยต้องย้ายที่อยู่ใหม่ห่างประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาหรือชักชวนจำเลยกับบุตรให้กลับไปอยู่ด้วยกัน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงให้เห็นว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป

          (5)  สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4/1))
          เหตุฟ้องหย่าตามข้อนี้จะต้องประกอบด้วย
          ก. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
          ข. ต้องจำคุกมาแล้วเกินหนึ่งปี
          ค. ความผิดที่ถูกจำคุกนั้นอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย
          ง. การเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555  เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า “สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้” ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

          (6)  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4/2))

          ก. สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8225/2540  โจทก์ได้ ว.เป็นภริยาภายหลังจากจำเลยออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาไปแล้ว ทั้งลักษณะของการที่จำเลยออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกับโจทก์ก็ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจของจำเลยเอง มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขับไล่จำเลยหรือโจทก์นำหญิงอื่นเข้ามาอยู่กินในบ้านฉันสามีภริยาอันเป็นการบีบบังคับให้จำเลยต้องออกจากบ้านแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ต่างหากจากโจทก์
          โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556  พฤติการณ์ที่จะเข้าเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) นั้น นอกจากสามีภริยาต้องสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน 3 ปี แล้ว ยังต้องเป็นการแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติด้วย
          โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อความตกลงประนีประนอมยอมความกันว่า ไม่ประสงค์จะร่วมชีวิตฉันสามีภริยากันอีกต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน 3 ปี แล้ว แต่เหตุที่โจทก์จำเลยไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกตินั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2549  แม้ในปี 2517 โจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยโดยออกจากบ้านที่โจทก์จำเลยเคยอยู่กินด้วยกันไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนาง ม. ก็ตาม แต่ในปี 2519 จำเลยก็มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ส. จนมีบุตรด้วยกัน 1 คน แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไปเช่นเดียวกัน และระหว่างที่แยกกันอยู่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยอีก ฝ่ายจำเลยซึ่งทราบดีว่าโจทก์พักอาศัยอยู่ที่ใดก็มิได้สนใจหรือหาทางที่จะอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยที่ต่างคนต่างอยู่เป็นเวลานานถึง 25 ปีนั้น ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้

          ข. สามีและภริยาแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
       
          (7)  สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (5))
          เหตุฟ้องหย่าข้อนี้แยกเป็น 2 กรณี คือ
          ก. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          ข. ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (8) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (6))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552  วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ระหว่างอยู่กินด้วยกันจำเลยเคยส่งเงินผ่านบัญชีของบุตรดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของโจทก์เดือนละ 10,000 บาท ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 8,000 บาท กับเดือนละ 6,000 บาท ตามลำดับ ครั้นปี 2539 โจทก์กับจำเลยได้แยกกันอยู่ และตั้งแต่ปี 2547 จำเลยเกษียณอายุราชการและไม่ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์อีกต่อไป จำเลยได้รับบำนาญหลังจากหักภาษีและค่าฌาปนกิจแล้วเป็นเงิน 23,000 บาทเศษ ส่วนโจทก์ไม่มีรายได้
          ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยหรือไม่ เบื้องแรกเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์แห่งการสมรสก็เพื่อที่จะให้ชายหญิงคู่สมรสได้อยู่กินฉันสามีภริยา ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน และตามมาตรา 1598/38 ที่บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้ได้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติเพื่อให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพ หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่าดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง ส่วนที่จำเลยอ้างเป็นข้อเถียงในฎีกาว่า จำเลยและโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2539 และนับจากเวลาดังกล่าวโจทก์เองไม่เคยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลย ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ และโจทก์ไม่มีอาชีพหรือรายได้ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2552  การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นไปยังผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ผู้สอนของโจทก์ เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ผู้สอนของโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง จึงมีเหตุผลที่จะกระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวมิให้หญิงอื่นมาทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2551  โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาย่อมจะมีเรื่องระหองระแหงทะเลาะกันเป็นปกติธรรมดาของชีวิตคู่ การที่จำเลยไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย และการที่จำเลยตบตีทำร้ายโจทก์จนโจทก์ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยแต่พนักงานสอบสวนได้ไกล่เกลี่ยก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยยังทะเลาะกันและจำเลยพยายามจะทำร้ายร่างกายโจทก์ พฤติกรรมดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินควร ยังไม่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2543  เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน1 คน ต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันอีก ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โดยโจทก์กับบุตรอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำพัง โจทก์พาบุตรเดินทางไปเยี่ยมจำเลยตามปกติพบชายอื่นพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับจำเลยในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันหลังจากนั้นประมาณ 3 ปี โจทก์พาบุตรเดินทางไปพบจำเลยเนื่องจากต้องการให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในการขายตึกแถวสินสมรส โจทก์ก็พบจำเลยพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับชายอื่นอีกคนหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยอีก โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเช่นเคย เมื่อจำเลยเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย จำเลยก็มากับชายอื่นและเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน แทนที่จำเลยจะพักอยู่บ้านโจทก์ผู้เป็นสามีพฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (2) (ก) (ข) และ (6) แม้ในระหว่างที่จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น และให้ความอุปการะเลี้ยงดูด้วย ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวเอาความกับโจทก์ตามสิทธิที่มีอยู่ กรณีหาเป็นเหตุทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์สิ้นไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6483/2534  การฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างสามีภริยาเรื่องต่างฝ่ายจะไม่นำบุตรหรือญาติเข้ามาอยู่ในบ้านที่สามีซื้อเป็นเรือนหอ ไม่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516   โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่สนใจความเป็นอยู่ของโจทก์ ทั้งที่รู้ว่าโจทก์เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและอายุมาก จำเลยไม่สนใจจัดการบ้านเรือน อาหารและแอบไปถอนเงินฝากของโจทก์มาใช้ส่วนตัว เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติตนในฐานะภริยาบกพร่องไปเท่านั้น ไม่เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)(6)

          (9) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(7))
          เหตุหย่าข้อนี้ ประกอบด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
          ก. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี
          ข. ความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้
          ค. ความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้

          (10) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (8))
          ทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤตินั้นจะต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น ไม่ใช่การทำด้วยวาจา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2553/2526  ก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า 'ฝ่ายภรรยาจะไม่ประพฤติตัวให้ผิดจารีตประเพณีและให้อยู่กินปรนนิบัติในฐานะให้เป็นสามีภรรยาอยู่กินร่วมกันตลอดไปและจะไม่ประพฤติปฏิบัตินอกใจสามีอีกต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระทำผิดพลาดเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมให้ปรับเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท' สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งมีลักษณะเป็นทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติของภรรยาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8) ซึ่งเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าภรรยาได้ หากผิดทัณฑ์บนที่ทำกันเป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ และไม่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในส่วนบุคคล ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายใด ๆ อีกทั้งมิได้เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต่อมาโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสก็ได้ยอมรับสัญญาฉบับนี้ให้มีผลผูกพันบังคับระหว่างกันได้ สัญญาฉบับนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2538  จำเลยกู้ยืมเงินคนอื่นเพื่อใช้จ่ายในคดีที่โจทก์ถูกจับฐานพกอาวุธปืนและเพื่อใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหนี้สินทั้งหมดจึงเกิดจากการนำมาใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยและบุตรมิใช่เกิดขึ้นเพราะจำเลยนำไปเล่นสลากกินรวบดังที่โจทก์อ้างการกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)  การที่จำเลยหึงหวงและโกรธที่โจทก์หนีไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจึงด่าโจทก์และบุพการีว่ามึงมันเลวเหมือนโคตรมึงนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรงเพราะเป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจการกระทำของจำเลยต่อโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้นถือว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสามีภริยาทั่วไปไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)  หลังจากทำทัณฑ์บนแล้วโจทก์ยังมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจำเลยจึงดุด่าและทำร้ายโจทก์อีกการกระทำของจำเลยมีสาเหตุจากการกระทำของโจทก์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8)

          (11) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(9))

          (12) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(10))
          สภาพแห่งกายที่ทำให้สามีหรือภริยาไม่อาจร่วมประเวณีได้ หมายถึง สภาพและอวัยวะส่วนที่ทำให้กำเนิดบุตรของชายหรือหญิงผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถร่วมประเวณีกันได้ อย่างไรก็ตาม สภาพแห่งกายที่ไม่อาจร่วมประเวณีได้นี้ต้องเป็นอยู่ตลอดกาล หากเป็นเพียงชั่วคราวก็ไม่เป็นเหตุหย่า


          ข้อยกเว้นในเหตุฟ้องหย่า

          กฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา 1517 และมาตรา 1518 ประกอบด้วยข้อยกเว้น 4 ประการ คือ

          ก. การยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจของฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2527 ระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ จำเลยมีอาชีพผิดกฎหมายค้ายาเสพติด โจทก์รู้เห็นและร่วมกระทำด้วยโจทก์ให้ญาติของโจทก์นำเฮโรอีนมาจากภาคเหนือ จนญาติของโจทก์และจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมหรือรู้เห็น เป็นใจในการกระทำของจำเลยที่เป็นเหตุหย่านั้น โจทก์จะ ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยหาได้ไม่

          ข. การกระทำของฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าเป็นเหตุให้เกิดเหตุหย่านั้น
       
          ค. เหตุหย่าเป็นเหตุเล็กน้อย

          ง. ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าให้อภัยแล้ว