12 มี.ค. 2567

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


          ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

          โกงเจ้าหนี้จำนำ ตามมาตรา 349
          โกงเจ้าหนี้ทั่วไป ตามมาตรา 350

          โกงเจ้าหนี้จำนำ

          มาตรา 349  "ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดตามมาตรา 349 ผู้กระทำผิดจะต้อง

          1. เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ 
          2. ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น  
          3. โดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ 

          การจำนำก็เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 747 "อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้"
          
          การจำนำนั้น ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้ไว้แก่ผู้รับจำนำ ที่ส่งมอบให้ไว้ก็เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ถ้าเพียงแต่ทำสัญญาจำนำกันไว้ โดยผู้รับจำนำยอมคืนทรัพย์ที่จำนำให้ผู้จำนำไป สัญญานั้นก็ไม่ใช่การจำนำตามความหมายของกฎหมาย

          กรณีที่ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้จำนำ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2550 โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 349
          โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมาก จึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2536  จำเลยนำข้าวสารและข้าวเปลือกที่จำเลยจำนำแก่โจทก์ไปจำหน่าย ซึ่งตามทางปฎิบัติ ข้าวสารและข้าวเปลือกที่ลูกค้าจำนำแก่โจทก์จะอยู่ในความดูแลของลูกค้า ลูกค้าสามารถนำออกไปจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโจทก์ แต่ต้องนำข้าวสารและข้าวเปลือกจำนวนใหม่เข้าไปไว้แทน แสดงว่าโจทก์ยอมให้ข้าวสารและข้าวเปลือกอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวสารและข้าวเปลือกไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

          ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะว่า ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สิน คือ ข้าว ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ ดังนั้น แม้จะเรียกว่าสัญญาจำนำข้าว แต่ก็มิใช่การทำสัญญาจำนำตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747  เมื่อมิใช่สัญญาจำนำตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิด คือ ข้าวมิใช่ทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น 


          โกงเจ้าหนี้ทั่วไป 

          มาตรา 350  "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


          ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350 มีอยู่ 2 กรณี คือ 
          1. ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด หรือ
          2. แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง
          โดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

          กรณีทำการยักย้ายหรือซ่อนเร้น ทรัพย์สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070 - 16072/2555 ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2555 แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินจำนวน 32 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ตาม แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้สำคัญที่ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่า เมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 มิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงเฉพาะบุคคลผู้ที่ชนะคดีและคดีได้ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายความถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งจึงมิใช่องค์ประกอบความรับผิดในทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 615/2551 ก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น จึงไม่อาจนำมารับฟังในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14025/2557  การที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยึดใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 มาบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557  โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2563  จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 จากเดิมเลขที่ 286 ไปอยู่ที่ใหม่ แล้วจำเลยที่ 4 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 3 ขึ้นมาโดยใช้สำนักงานแห่งใหญ่เดิมของจำเลยที่ 1 เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 มีวัตถุที่ประสงค์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คือประกอบกิจการรับจ้างผลิตเหล็ก รีด หล่อและหลอมเหล็ก และจำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ 3 ได้ใช้เครื่องจักรที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 286 ด้วย เมื่อขณะนำยึดป้ายทะเบียนเครื่องจักรมีร่องรอยถูกขูดลบออก โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรักษาเครื่องจักรตามที่ได้จดทะเบียนไว้ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการ รวมทั้งนำป้ายชื่อจำเลยที่ 3 มาติดอยู่หน้าเลขที่ 286 การกระทำของจำเลยทั้งสี่นอกจากจะเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการร่วมกันซ่อนเร้นเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อมิให้โจทก์ติดตามยึดเครื่องจักรนั้นมาชำระหนี้ได้ แม้โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายกิจการและเครื่องจักรไปให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จริงหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไร แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ก็รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาเพื่อไม่ให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

          กรณีเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ก็ถือว่าสามีของภรรยาที่ตนเองไปเป็นชู้ด้วยเป็นเจ้าหนี้ เพราะสามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทน ถ้ายักย้ายทรัพย์สินเพื่อมิให้สามีของหญิงได้รับชำระหนี้ก็มีความผิด
          ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้...” แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4179 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลย และโฉนดเลขที่ 834 ตำบลปากพลี (เบ็ญพาศ) อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่บุตรจำเลย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2541 โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 แล้ว
        

          กรณีแกล้งเป็นหนี้ อันไม่เป็นความจริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน




          กรณีไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          กรณียังไม่แน่ว่าเป็นเจ้าหนี้จริงหรือไม่ เนื่องจากมีประเด็นโต้แย้งเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกันอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10314/2550 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีแพ่งอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินทับเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์ออกไป และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนกว่าจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินในที่ดินของตน มิได้ออกทับที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง  ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ไป ในคดีแพ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่ง ป.อ. ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม  

          กรณีที่ลูกหนี้ไม่รู้ว่าผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล        
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175/2547 เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และในที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ศาลแพ่ง แต่เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติและผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นคู่ความด้วยเหตุนี้เอง การที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้ รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 

          กรณีที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้หรือหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563  หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า “เจ้าหนี้ของตน” ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          กรณีที่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของลูกหนี้ ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ มิใช่คดีที่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของลูกหนี้ ฟ้องจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2562  โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)