แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สัญญาทางปกครอง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สัญญาทางปกครอง แสดงบทความทั้งหมด

01 มีนาคม 2567

เหตุสุดวิสัย ที่อาจจะขอขยายระยะเวลาดําเนินการตามสัญญาทางปกครอง

               สัญญาทางปกครอง
               สัญญาเป็นการแสดงเจตนาทำข้อตกลงที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันไว้ อาจจะต้องเสียค่าปรับ ถูกบอกเลิกสัญญา หรืออาจถูกลงโทษ ตามข้อกําหนดที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้างในสัญญาทางปกครองต้องปฏิบัติไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการทําสัญญากับทางราชการมีกฎหมายกําหนด ระเบียบ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งบางกรณี การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากคู่สัญญาฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยบางประการ ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นกฎหมายได้กําหนดให้หัวหน้าส่วนราชการมีอํานาจที่จะพิจารณาอนุญาตขยายระยะเวลาดําเนินการตามสัญญาได้ 
               ส่วนกรณีใดจะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันอาจขยายระยะเวลาได้นั้น ศาลปกครองได้เคยวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรับเหมาซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างจริง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถขอขยายเวลาการทำงานตามสัญญาออกไปได้

          คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 260/2552  คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นซองประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาและได้ลงนามในสัญญาจ้างกับผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 วงเงินค่าก่อสร้าง 7,980,000 บาท รวมทั้งได้นําหนังสือค้ําประกันของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุจํากัด (มหาชน) จํานวน 399,000 บาท มอบให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยต้องเริ่มทํางานภายในวันที่ 23 มีนาคม 2547 และต้องทําให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งในสัญญาจ้างดังกล่าวได้กําหนดว่าถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทํางานภายในกําหนดเวลาหรือไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จตามกําหนดเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิยกเลิกสัญญาและมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทํางาน รวมทั้งมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ภายหลังจากที่ทําสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าทํางานภายในระยะเวลาที่กําหนด นายอําเภอบันนังสตาในฐานะผู้รับมอบอํานาจจากผู้ถูกฟ้องคดีจึงจัดทําหนังสือเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดําเนินการก่อสร้างตามสัญญา แต่ผู้ฟ้องคดีขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาการก่อสร้างโดยอ้างว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทําให้แรงงานไม่ยอมเข้าทํางานในพื้นที่ ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า เหตุดังกล่าวมิใช่เหตุอันอาจขอขยายระยะเวลาได้แต่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ขอให้ผู้ฟ้องคดีเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือยืนยันความรับผิดชอบในการทํางาน แต่เมื่อถึงกําหนดก็ไม่ได้เข้าดําเนินการก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างและขอสงวนสิทธิในการริบเงินประกันตามสัญญากับผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุมัติให้อําเภอบันนังสตาดําเนินการจ้างก่อสร้างอาคารที่ว่าการโดยวิธีพิเศษ แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจรับงานก่อสร้างอาคารดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนหน้านี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการสํารวจว่ามีผู้ประกอบการรับเหมาที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้รับเหมายื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างหรือขอต่ออายุสัญญาจ้างหรือของดหรือลดค่าปรับ ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจริบหลักประกันได้เนื่องจากการที่ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาเป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทําให้คนงานไม่กล้าเข้าไปทํางานในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ฟ้องคดี
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 139 วรรคหนึ่ง กําหนดว่า การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือขยายระยะเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในอํานาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจํานวนที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของส่วนราชการ (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่าได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง กรณีจึงมีเพียงปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาคนงานเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างได้จริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการสํารวจแล้วพบว่า ผู้ประกอบการรับเหมาเกือบทั้งหมดอยู่ในข่ายได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีก็ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจที่จะรับงานก่อสร้างดังกล่าว โดยต่างให้เหตุผลว่า พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัย คนงานก่อสร้างไม่กล้าเข้าทํางาน หรือพักอาศัยในสถานที่ก่อสร้าง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถรับงานจ้างก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอบันนังสตา ไม่ได้มีสาเหตุสําคัญมาจากเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอแต่เพียงประการเดียว และข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น มีความรุนแรง จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรับเหมาซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างจริง ประกอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามนัยข้อ 139 วรรคหนึ่ง ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และของสัญญาจ้าง เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเหตุสุดวิสัยดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบและขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ผู้ถูกฟ้องคดีชอบที่จะพิจารณาขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่พิจารณาขยายระยะเวลาและบอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี รวมทั้งริบเงินหลักประกันจากธนาคารผู้ค้ำประกันจึงเป็นการไม่ชอบตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 
               

28 ธันวาคม 2565

เหตุสุดวิสัย อันเนื่องมาจากพื้นที่ก่อสร้างยังไม่พร้อมส่งมอบ ต้องขยายเวลาและลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้าง | สัญญาทางปกครอง

 

          การจัดทําภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐโดยการทําสัญญาทางปกครอง เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมดําเนินการหรือเป็นผู้ดําเนินการแทนโดยตรง การทําสัญญาทางปกครองดังกล่าวจะมีการกําหนด รายละเอียดของงานหรือข้อกําหนดอื่น ๆ ไว้  เช่น เรื่องของระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาที่มีผลผูกพันให้เอกชนมีหน้าที่ต้องเริ่มปฏิบัติงานหรือดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา และในกรณีที่เอกชนไม่สามารถปฏิบัติหรือดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาตามสัญญาได้ หน่วยงานของรัฐย่อมมีสิทธิที่จะพิจารณาให้เอกชนชําระค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ทํากันไว้ได้ เว้นแต่ เหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากการกระทําของมนุษย์หรือเหตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 
          โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีแนวทางในการวินิจฉัยพฤติการณ์อันถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น การที่เอกชนผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามสัญญาได้ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีความรุนแรงทําให้ขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 260/2552) หรือการที่เอกชนผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างอาคารตามสัญญา เนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำท่วมจนเกิดอุทกภัยและมีการประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 452/2557) เป็นต้น 

          เรื่องนี้ เป็นกรณีกรุงเทพมหานครเรียกค่าปรับจาก เอกชนผู้รับจ้างซึ่งไม่สามารถปรับปรุงถนนให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาตามสัญญา แต่เหตุดังกล่าว เกิดจากการที่กรุงเทพมหานครไม่ส่งมอบพื้นที่ที่พร้อมก่อสร้างและไม่ขยายเวลาดําเนินการให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ข้อ 133 ได้กําหนดหลักเกณฑ์การลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือการขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลงไว้ 

          ข้อเท็จจริงมีว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) โดยผู้อํานวยการเขต (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ผู้รับมอบอํานาจ ได้ทําสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีให้ปรับปรุงถนนในซอย โดยสัญญาระบุให้ดําเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 มีนาคม 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการส่งมอบสถานที่ ในวันเดียวกันนั้น ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าดําเนินการได้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีแนวท่อประปา จึงได้มีหนังสือแจ้งอุปสรรคต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งสํานักงานประปาสาขามีหนังสือแจ้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการสํารวจ และออกแบบการก่อสร้างท่อประปา  ต่อมา ในวันที่ 5 เมษายน 2548 ผู้ฟ้องคดีได้ทําการส่งมอบงานงวดที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ปรับผู้ฟ้องคดีเนื่องจากทํางานล่าช้าเป็นเวลา 8 วัน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญา แต่ปลัดกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ไม่อนุญาต  จนกระทั่งวันที่ 16 กันยายน 2548 ผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานงวดสุดท้าย แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานและมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้าง ล่าช้ากว่ากําหนดในสัญญาเป็นเวลา 172 วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเสียค่าปรับรายวันตามจํานวนวันดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์การไม่อนุญาตให้ต่ออายุสัญญา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) พิจารณาแล้วมีคําสั่งให้ลดค่าปรับเป็นเวลา 36 วัน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินการแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากําหนดเวลาในสัญญาเป็นเพราะสาเหตุ 4 ประการ คือ (1) ความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไม่ประสานงานกับการประปาเพื่อแก้ไข ปัญหาท่อประปากีดขวางงานก่อสร้าง (2) เกิดฝนตกหนักในระหว่างการทํางาน (3) การจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้า และ (4) ไม่ได้รับการเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาจากกรรมการตรวจการจ้าง จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้เพิกถอนคําสั่งแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์และให้ชําระค่าปรับดังกล่าว 

          ข้อพิพาทในคดีมีประเด็นคือ การไม่ขยายเวลาการปฏิบัติงานตามสัญญา แต่ได้ลดค่าปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา 36 วัน เป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?  

          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า ในการทําสัญญาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่ที่พร้อมจะทําการก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมีแนวท่อประปาทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดําเนินการก่อสร้างได้โดยสะดวก ซึ่งสํานักงานประปาสาขามีหนังสือแจ้งว่า การสํารวจและออกแบบการก่อสร้างท่อประปาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 และได้มีการเริ่มขุดวางท่อประปาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 และดําเนินการแล้วเสร็จวันที่ 12 เมษายน 2548 การพิจารณาค่าปรับจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ              
          ช่วงแรก ในระหว่างการสํารวจและออกแบบท่อประปา ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยสภาพของการก่อสร้างถนน หากต้องมีการติดตั้งท่อประปาก็ควรที่จะดําเนินการไปพร้อมกัน เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาและประชาชนเกิดความไม่สะดวกในการสัญจร แต่เมื่อขณะวันทําสัญญาจ้าง (วันที่ 29 กันยายน 2547) การประปานครหลวงยังมิได้กําหนดแนวท่อก่อสร้างท่อประปาที่แน่นอน อุปสรรคในการดําเนินงาน จึงเริ่มตั้งแต่วันเริ่มต้นสัญญาถึงวันที่การออกแบบการก่อสร้างท่อประปาแล้วเสร็จ คือ วันที่ 30 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2547 รวม 79 วัน  ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ทราบแนวท่อประปา ที่แน่นอนและสภาพพื้นที่ไม่พร้อมที่จะทําการก่อสร้างได้ การที่ผู้ฟ้องคดีมิได้เริ่มลงมือทํางานในทันที ที่รับมอบพื้นที่ซึ่งไม่สามารถก่อสร้างได้เนื่องจากมีอุปสรรคการวางแนวท่อประปา จึงเป็นพฤติการณ์ปกติ ที่ผู้ฟ้องคดีพึงกระทําและสมควรต้องกระทําเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่งานที่ทําไป ซึ่งหากงานที่ทํา ไปแล้วไม่สอดคล้องกับแนวการก่อสร้างท่อประปาก็จะก่อให้เกิดความเสียหายและสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงถือได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอันเป็นเหตุขอขยายเวลาการก่อสร้างตามสัญญาได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงควรต้องขยายเวลาการก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้เป็นเวลา 79 วัน  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาลดค่าปรับในช่วงเวลาดังกล่าวเพียง 15 วัน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณา ที่ไม่เหมาะสมสอดคล้องตามข้อเท็จจริง  
          ช่วงที่สอง ในระหว่างที่มีการก่อสร้างท่อประปา (วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2548) รวม 67 วัน ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีไม่อาจปฏิบัติงานได้ แต่การที่ผู้ฟ้องคดีได้ไปทํางานในส่วนอื่น ๆ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คิดอัตราส่วนที่ผู้ฟ้องคดี สามารถทํางานได้ในระหว่างที่มีการก่อสร้างเป็นเวลา 46 วัน ระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถทํางานได้จริง ในช่วงเวลานี้จึงมีจํานวน 21 วัน (67-46) และเหตุดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถขอขยายเวลาการปฏิบัติงานตามสัญญาได้  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาลดค่าปรับให้ 21 วัน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบเหมาะสมสอดคล้องตามข้อเท็จจริงแล้ว  
          สําหรับเหตุอื่นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างถือเป็นเหตุสุดวิสัยในการขอขยายเวลาตามสัญญานั้น  ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อจากรายงานข้อมูลปริมาณฝนรายวันของสถานีวัดปริมาณน้ําฝนที่บริเวณ ใกล้สถานที่ก่อสร้างพบว่า มีฝนตกประมาณ 5-19 วันต่อเดือน โดยเป็นฝนตกหนัก 2-3 วันต่อเดือน ปริมาณน้ำฝนและความถี่ของจํานวนวันที่ฝนตกดังกล่าวจึงยังไม่เป็นฝนตกหนักผิดปกติจนเป็นอุปสรรคทําให้ไม่สามารถทํางานได้  ประกอบกับการก่อสร้างอยู่ในช่วงฤดูฝน ฝนตกจึงเป็นเหตุการณ์ปกติและเป็นอุปสรรค ต่องานก่อสร้างเป็นธรรมดา และในส่วนของการจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นหน่วยงานราชการย่อมมีระเบียบกําหนดขั้นตอนและวิธีการจ่ายเงินไว้อย่างชัดเจน และไม่ปรากฏพฤติการณ์ประวิงการจ่ายเงินค่าจ้างแต่อย่างใด สําหรับการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการแก้ปัญหางานก่อสร้างนั้น ผู้ฟ้องคดี ก็สามารถติดต่อกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงได้ เหตุอื่นดังกล่าวนี้จึงไม่อาจถือเป็นเหตุสุดวิสัยเหตุหนึ่งเหตุใดที่จะนํามาใช้อ้างเป็นเหตุในการขอขยายเวลาการก่อสร้างได้ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีขอขยายเวลาสัญญาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 จึงชอบที่จะขยายเวลาปฏิบัติงานให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจํานวน 100 วัน (79+21) กําหนดเวลาสิ้นสุด สัญญาจึงขยายไปเป็นวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 การที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 16 กันยายน 2548 จึงเป็นการก่อสร้างล่าช้ากว่ากําหนดเวลาในสัญญา 72 วัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังมิได้ชําระค่าจ้าง งวดสุดท้ายให้แก่ผู้ฟ้องคดี  จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้เงินค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่ผู้ฟ้องคดีโดยให้หักเงินค่าปรับก่อนได้ 
          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 433/2559)