12 มี.ค. 2567

เจ้าหนี้กองมรดกใช้สิทธิเรียกร้องให้ทายาทชำระหนี้ได้ (ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกแก่ทายาท)

          เมื่อลูกหนี้ตาย กฎหมายคุ้มครองเจ้าหนี้เพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากกองมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1734, 1737, 1753 กองมรดกที่มีหนี้สินก่อนจะนำมาแบ่งแก่ทายาทก็ต้องนำไปชำระหนี้ก่อน หากหนี้สินมีมากกว่าทรัพย์มรดก ทายาทก็อาจจะไม่ได้รับมรดกเลย อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ภายในอายุความมรดกด้วย มิฉะนั้น ทายาทก็อาจยกเรื่องอายุความมรดกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้

          สิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก

          1. เจ้าหนี้กองมรดกมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองมรดกโดยสิ้นเชิง ตามมาตรา 194 ประกอบ มาตรา 1734 และ 1738 วรรคหนึ่ง

          2. เจ้าหนี้มีสิทธิคัดค้านการขายทอดตลาดและตีราคาทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1740 วรรคสอง

          3. เจ้าหนี้มีสิทธิรับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1742

          4. เจ้าหนี้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม ตามมาตรา 1683

          5. เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทายาทคนใดก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะไม่อยู่กับทายาทที่ถูกฟ้องก็ตาม แต่ทั้งนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทายาทได้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกแก่ทายาท ตามมาตรา 1601, 1738 วรรคสอง



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11631/2557   การที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2540   เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมขอให้บังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้จัดการมรดกหรือแบ่งมรดกระหว่างทายาทของจำเลยก่อน ดังนั้น การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลก็ตาม กรณีก็หาใช่เหตุสมควรที่ศาลจะสั่งงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 292 (2) ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2535  ป. กู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อ ป. ตาย โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1737 โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยได้รับมรดกของ ป. หรือไม่เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตาม มาตรา 1601, 1738 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2506  (ประชุมใหญ่)  ในกรณีที่ได้แบ่งมรดกแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องให้ทายาทคนใดชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นรับไป หาได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกจากทายาทคนอื่นที่มิได้ถูกฟ้องด้วยไม่.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539   ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาท จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตาย มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ

          6. เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งก่อตั้งมูลนิธิ หากทรัพย์สินที่เหลือจากการก่อตั้งมูลนิธิไม่มีหรือไม่มีพอชำระหนี้ ตามมาตรา 1680 วรรคสอง