ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 437 วรรคสอง "ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย"ความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์อันตราย มี 3 ชนิด ได้แก่
(1) ทรัพย์อันตรายโดยสภาพ
(2) ทรัพย์อันตรายโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ และ
(3) ทรัพย์อันตรายโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น
ทรัพย์อันตรายโดยสภาพ ตัวทรัพย์นั้นเองเกิดอันตรายได้ เช่น ดินปืน น้ำมันเบนซิน ลูกระเบิด กระแสไฟฟ้า เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2523 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยขึงสายทองแดงเปลือยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้รอบบ้าน แล้วไม่ดูแลให้สายไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นเหตุให้สายไฟฟ้าตกลงมาพาดรั้ว ผู้ตายไปยืนปัสสาวะริมรั้วจึงถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายดังนี้ จำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ไฟฟ้านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ดูแลบ้านเท่านั้น แม้จะเป็นผู้ว่าจ้างให้ช่างไฟฟ้ามาเดินสายไฟดังกล่าวก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองไฟฟ้านั้น จึงไม่ต้องรับผิด
ทรัพย์อันตรายโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ คือ ตัวทรัพย์โดยลำพังไม่อันตราย ต้องนำมาใช้ก่อนจึงจะก่อให้เกิดอันตราย เช่น มีด ปืน เป็นต้น
ทรัพย์อันตรายโดยอาการกลไกของทรัพย์ คือ ตัวทรัพย์มีอาการกลไกหรือเครื่องจักรกลในการทำงาน เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องจักรกลในโรงงาน
ผู้รับผิดตามมาตรา 437 วรรคสอง คือ ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งทรัพย์อันตรายนั้น ทั้งนี้ ผู้ครอบครองอาจจะเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ได้ ผู้ครอบครองในที่นี้ต้องเป็นผู้ครอบครองตามข้อเท็จจริงว่าขณะเกิดเหตุมีใครครอบครองหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3734/2531 ข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าระบุว่า สายและอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามายังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าต้องดูแลรับผิดชอบเอง เมื่อปรากฏว่าการไฟฟ้านครหลวง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดตั้งสายไฟฟ้ามาบรรจบสายที่ตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เท่านั้น และขณะเกิดเหตุ สายไฟฟ้าที่ต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าซึ่งติดกับเสาไฟฟ้าส่วนที่ใกล้ขอบชายคาโทรศัพท์ชำรุดเป็นเหตุให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านตู้โทรศัพท์ลงน้ำเป็นเหตุให้ ป. ถึงแก่ความตาย เช่นนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าที่ชำรุดดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และมาตรา 437 วรรค 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
เหตุยกเว้นความรับผิด ตามมาตรา 437 วรรคสอง กำหนดเหตุยกเว้นความรับผิดอยู่ 2 กรณีเหมือนกับวรรคหนึ่ง คือ จะต้องเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้เสียหายเอง ซึ่งภาระการพิสูจน์ก็ตกอยู่กับผู้ครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2524 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง จำเลยนำสืบว่าผู้ตายคงขึ้นไปนั่งบนผนังกันตกที่ดาดฟ้าแล้วเสียหลักมือจึงไปถูกสายไฟฟ้าเข้า ดังนี้ ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของผู้ตายเองดังจำเลยอ้าง
การเดินสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเป็นสายเปลือยผ่านอาคารที่เกิดเหตุในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง หากจำเลยจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสายไฟฟ้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ ก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากสายไฟฟ้านั้นได้ จึงอยู่ในวิสัยของจำเลยที่จะป้องกันได้ อันตรายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2522 กระแสไฟฟ้าที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ ผู้ครอบครองต้องรับผิดถ้าเกิดความเสียหายขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง เมื่อจำเลยยอมรับว่าเสาไฟที่หักเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยจะพ้นผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดของโจทก์ผู้เสียหายเองหรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย
ข้อเท็จจริงได้ความว่าเสาไฟที่หักเป็นเสาไม้เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 คืบขึงสายไฟแรงสูง 10,000 โวลท์ 3 เส้นบนหัวเสา ปักอยู่ในทุ่งหญ้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ทุกปีจะมีไฟไหม้ทุ่งหญ้า เสาไฟต้นที่ปักถัดไปเคยถูกไฟไหม้หักมาแล้ว หญ้าในทุ่งเต็มมาถึงโคนเสาไฟ ไม่เคยมีใครเข้าไปถางหญ้าโคนเสา ไฟไหม้หญ้าเป็นทางมาถึงโคนเสาที่หัก เช่นนี้ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยควรรู้ได้เป็นอย่างดีว่าบริเวณนั้นมีไฟไหม้หญ้ามาติดเสาไฟซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ถ้าใช้ความระมัดระวังไม่ปล่อยให้มีหญ้าขึ้นอยู่เต็มที่โคนเสาไฟก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก จึงอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะป้องกันได้ อันตรายที่เกิดขึ้นถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2523 กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 การที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหม้ทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุที่ต้นมะพร้าวอยู่ใกล้ชิดกับแนวสายไฟฟ้าเป็นเหตุให้ทางมะพร้าวพาดไปถูกสายไฟฟ้าเมื่อมีลมพัด มิใช่เหตุสุดวิสัยเพราะจำเลยอาจป้องกันได้ถ้าตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้โจทก์ตัดอันเป็นหน้าที่จำเลย แต่โจทก์ไม่สนใจตัดต้นมะพร้าวในที่ดินที่โจทก์เช่าหรือแจ้งให้จำเลยตัดถือได้ว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงควรรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2538 กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อกระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นที่บ้านของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งกระแสไฟฟ้าดังกล่าวและต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้าลัดวงจร เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคสอง จำเลยทั้งสองนำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสองดูแลรักษาสายไฟฟ้าภายในบ้านให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอยู่เสมอและเพิ่งเปลี่ยนสายไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบ้านของจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อและไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นได้อย่างไรไม่ทราบ ดังนี้ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองแสดงไม่ได้เลยว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2518 ผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรถยนต์ย่อมรวมถึงสายไฟฟ้าในบริเวณสถานที่นั้น ซึ่งต่อออกมาจากบ้านพักไปยังกริ่งสำหรับบ้านพักด้วย เด็กปีนรั้วเก็บดอกรักถูกสายไฟฟ้าเปลือยตกลงมาทับสายไฟฟ้าตาย ไม่มีร่องรอยที่เด็กในวัยนั้นจะคาดคิดว่าจะมีสายไฟฟ้าเปลือยพาดอยู่ไม่เป็นความผิดของเด็ก ผู้ครอบครองสายไฟฟ้าต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437