08 มีนาคม 2567

สิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากผลของการหย่า


          การใช้อำนาจปกครองบุตรหลังการหย่า


          มาตรา 1520 กำหนดให้ใครมีอำนาจปกครองบุตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี

          (1) การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรส  สำหรับกรณีนี้ เมื่อสามีภริยาตกลงกันได้โดยทำเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรคนใด อำนาจปกครองบุตรก็เป็นไปตามนั้น แต่หากสามีภริยาตกลงกันไม่ได้ในเรื่องอำนาจปกครองบุตร ก็จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
          สำหรับข้อตกลงเป็นหนังสือในเรื่องอำนาจปกครองบุตรนั้น จะต้องมีข้อความชัดแจ้งด้วยว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่ที่ใคร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2536  โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกันสองคน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน และได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าไว้ว่า โจทก์จำเลยตกลงให้จำเลยเป็นผู้อุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ตกลงกันว่า จำเลยจะยกรถยนต์ 2 คัน และบ้านอีก 1 หลัง ให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนภายในกำหนด 1 ปี มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตามบันทึก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามของโจทก์เองได้ แต่เป็นเรื่องของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว เห็นว่า ข้อความในข้อ 2 ดังกล่าวเพียงให้จำเลยอุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเท่านั้น หาใช่ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ผู้เดียวไม่ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังอยู่กับโจทก์ด้วย โจทก์มีอำนาจฟ้องในนามของตนเองได้ไม่จำต้องให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเรียกชำระหนี้จากโจทก์ เพราะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี

          (2) การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล  กรณีนี้ศาลก็จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจปกครองบุตร ซึ่งแม้คู่ความมิได้มีคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องอำนาจปกครองบุตร ศาลก็มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548 แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติคู่ความควรจะมีคำขอและนำสืบถึงความเหมาะสมในเรื่องอำนาจปกครองบุตร เพื่อให้ศาลมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพียงพอแก่การวินิจฉัย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2543  โจทก์ฟ้องขอหย่าจากจำเลยและขอให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์ยิ่งกว่าโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ได้ฟ้องแย้งศาลก็มีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ฝ่ายเดียวได้
          อย่างไรก็ตาม แม้ศาลสั่งให้ใครมีอำนาจปกครองบุตรแล้ว หากต่อมาปรากฏว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543  บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิง ป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องรับราชการเป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลไม่แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาได้


          การอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่า


          เมื่อหย่าขาดจากกัน สามีและภริยายังมีหน้าที่จะต้องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไป เนื่องจากการหย่าขาดจากกันมิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรสิ้นสุดลงแต่อย่างใด โดยในการหย่าโดยความยินยอมอาจมีการกำหนดว่าฝ่ายใดต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจำนวนเท่าใด แต่หากมิได้ตกลงกันไว้ในหนังสือหย่า ก็ต้องให้ศาลสั่งกำหนดจำนวนเงินให้ตามสมควร ส่วนกรณีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้น ศาลก็จะสั่งกำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่สามีหรือภริยาจะต้องเป็นผู้ชำระเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2520  เมื่อจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรโดยจำเลยยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรและค่าเล่าเรียนตลอดจนอุปกรณ์การเรียนกับค่ารักษาพยาบาลบุตรให้โจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยจะนำเหตุที่ว่าตนมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรภริยา (คนใหม่)และมีหนี้สินมาอ้างเพื่อปัดความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548  บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย
          บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296
          โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522
          การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12


          การเรียกค่าทดแทน


          กรณีศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันเนื่องจากเหตุมีการล่วงเกินในทางประเวณีนั้น สามีหรือภริยาผู้เป็นโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
          (1) ภริยาประพฤตินอกใจสามีหรืออุปการะเลี้ยงดูชายอื่นฉันสามี มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับชายอื่นเป็นอาจิณ หรือมีการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว
          กรณีนี้ อาจโดยการฟ้องหย่าแล้วเรียกค่าทดแทนหรือเลือกฟ้องเรียกเฉพาะค่าทดแทนโดยไม่ต้องหย่าก็ได้ โดยการฟ้องภริยาและชายอื่นเป็นจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2530  การล่วงเกินในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้และค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2533  เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นชู้กับภริยาโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2โดยไม่จำเป็นจะต้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ด้วย และค่าทดแทนเกี่ยวกับกรณีนี้ กฎหมายให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
          (2)  สามีประพฤตินอกใจภริยาหรืออุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ หรือสามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นในทำนองชู้สาว
          กรณีนี้ หากภริยาต้องการเรียกค่าทดแทนจากสามีและหญิงอื่น ภริยาต้องฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนโดยการฟ้องสามีและหญิงอื่นเป็นจำเลย หรือหากไม่ต้องการฟ้องหย่าก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535  พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวจึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525 แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538   การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


          การเรียกค่าเลี้ยงชีพ


          (1) การหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายเดียวและการหย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง โดยคู่สมรสฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีฟ้องหย่านั้น จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพในภายหลังจากคดีฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะสิทธิเรียกร้องเรียกค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว เช่นเดียวกันกับการหย่าโดยความยินยอมที่ต้องตกลงกันในเรื่องค่าเลี้ยงชีพให้เรียบร้อยพร้อมกับการทำสัญญาหย่า หากไม่ตกลงกันไว้ก็จะมาฟ้องในภายหลังไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2525 โจทก์เพิ่งจะหางานทำได้หลังจากที่แยกกันอยู่กับจำเลยจึงติดใจขอค่าเลี้ยงชีพจากจำเลย จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น กรณีถือได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากการงานตามที่เคยทำอยู่ในระหว่างสมรส เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2539  โจทก์ออกจากบ้านที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลยเพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัวใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลยซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดังโจทก์และจำเลยเคยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแต่หย่าไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาและการแยกกันอยู่ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) การที่จำเลยจะ เรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีจำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้

          (2) การหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง โดยฝ่ายผู้วิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่อจะต้องฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนด้วย จะมาฟ้องในภายหลังไม่ได้

          (3) กรณีทำสัญญาตกลงเรื่องค่าเลี้ยงชีพกันเอง หากผิดสัญญาก็ฟ้องร้องได้ แต่ถ้าไม่มีการตกลงกันไว้ในสัญญาหย่า ก็จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังไม่ได้

          (4) การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ สิทธิในการรับค่าเลี้ยงชีพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ

          (5) สิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี