4 มี.ค. 2567

การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

            เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกซึ่งเรามักเรียกกันว่ากองมรดก เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร เงินที่เขายืมไป ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล บ้านช่อง ย่องตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย คือ เจ้ามรดกไปยืมเงินใครเขาไว้หรือเป็นหนี้เขา ค้างค่าเช่าบ้าน พวกนี้เป็นพวกความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
          แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้ว แต่ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินก็จะปฎิเสธบ้าง ลูกหนี้เจ้ามรดกปฎิเสธบ้าง หรือแม้จะไปเบิกเงินธนาคารๆ ก็ปฎิเสธบ้างว่า ต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่า ผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้
          จึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก จึงขออนุญาตนำสาระเกี่ยวกับการร้องจัดการมรดกมาฝากให้ศึกษากันครับ

          สิ่งที่ควรรู้ในการขอเป็นผู้จัดการมรดก


          1.  จะขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อใด?
               เมื่อเจ้ามรดกตาย เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดก และมีเหตุขัดข้องที่จะต้องจัดการมรดก

          2.  ใครเป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก?
               ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้แก่ ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิรับมรดก เช่น บุตร บิดามารดา คู่สมรสของเจ้ามรดกผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก กรณีเช่นนี้ที่มีมากคือ กรณีที่สามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและมีทรัพย์สินร่วมกันนั่นเอง สำหรับเจ้าหนี้ ตามปกติแล้วไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ (ยกเว้น กรณีที่เจ้ามรดกไม่มีทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ กรณีนี้ เจ้าหนี้จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้)

          3.  คุณสมบัติของผู้จัดการมรดกเป็นอย่างไร?
               ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดก จะเป็นใครก็ได้ แต่สำหรับผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียดังที่กล่าวแล้ว ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งนาย ก. นาย ข. หรือนาย ค. ก็ได้ ประการสำคัญผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย เนื่องจากคนประเภทนี้เห็นแล้วว่าไม่สามารถรู้ผิดชอบ หย่อนความคิดอ่าน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขืนไปจัดการทรัพย์สินคนอื่น ก็มีแต่จะเสียหายยิ่งขึ้นไปเท่านั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามเอาไว้

          4. การยื่นคำร้องขอยื่นที่ไหน?
               ยื่นที่ศาล โดยทั่วไปเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาที่ไหน เช่น ที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ตรัง ตราด ก็ยื่นศาลที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายนั่นเอง ถ้ายื่นที่ศาลจังหวัดในกรุงเทพฯ ก็ยื่นที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดตลิ่งชัน แล้วแต่กรณี

          5. คำร้องต้องทำอย่างไร?
              ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการทำคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้มีความรู้ในทางกฎหมายและทางปฏิบัติเท่านั้นจะเข้าใจและทำได้ถูกต้อง เราประชาชนหรือมีอาชีพอื่นย่อมไม่เข้าใจ ก็ต้องปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ สำหรับคำร้องจะมีแบบคำร้องแล้วนำมาบรรยายในคำร้องระบุรายละเอียดต่างๆไว้


          คำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับผู้จัดการมรดก
          (1) ผู้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย
          (2) ผู้จัดการมรดกที่ศาลจะแต่งตั้งนั้นต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายและมีความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2547  ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซ. บุตรของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของ ซ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาทได้ และเมื่อ ล. บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอรับที่ดินมรดก ซ. และ ถ. คัดค้าน แต่ต่อมา ซ. และ ถ. ได้ตกลงให้ ล. รับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและ ล. ได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เช่นนี้ถือได้ว่า ซ. ถ. และ ล. ทายาทเจ้ามรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หาก ซ. ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้ จึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2543  แม้ที่ดินที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรสกับผู้ร้อง อันเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย แต่ผู้ร้องก็เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 และตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้จำกัดเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นที่จะร้องขอไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้ที่มีสิทธิรับมรดกย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557  เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301/2556  แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2554  แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2554  ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งน้องๆ และหลานทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้างผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อเห็นว่าการให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านจัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดกมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกฝ่ายเดียว ศาลย่อมตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12704/2556  เด็กหญิง ช. เป็นผู้เยาว์ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ต. แม้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก็เป็นผู้จัดการมรดกแทนผู้เยาว์ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ เด็กหญิง ช. โดย ต. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายย่อมเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6166-6167/2552  บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบด้วยที่ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายจำนวน 8,000,000 บาท โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม ตามหนังสือรับรองว่าเป็นหนี้และสัญญากู้เงิน ซึ่งการที่ผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าหนี้กองมรดกอยู่เป็นจำนวนมากจึงอยู่สองสถานะ คือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกอาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของทายาทอื่นโดยตรงทั้งก่อนผู้ตายจะถึงแก่กรรมประมาณ 10 วัน ผู้ตายได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.8 ถึง ร.12 หายไป แต่กลับปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง 5 ฉบับ อยู่ที่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ตายมอบให้ผู้ร้องเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งถ้าผู้ตายมอบให้จริงก็ไม่น่าหลงลืมจนไปแจ้งความ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นผู้มีอารมณ์รุนแรง มีสาเหตุกับบุตรและหลานของตนเองจนกระทั่งผู้คัดค้านที่ 1 และ ส. ซึ่งเป็นหลานไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าถ้าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจะมีอุปสรรคและมีข้อโต้แย้งกับเครือญาติ ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552  พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก