01 มีนาคม 2567

การทำนิติกรรมเพราะถูกข่มขู่ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ฟ้องเพิกถอนได้


          การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

          การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น (มาตรา 164)

          การแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกข่มขู่ เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ไม่ได้เกิดด้วยความสมัครใจ แต่การแสดงเจตนาทำนิติกรรมเกิดขึ้นเพราะความเกรงกลัวจากผลของการข่มขู่ นิติกรรมที่ทำขึ้นจึงตกเป็นโมฆียะ
          ทั้งนี้ การข่มขู่ที่จะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2540  ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากันได้มีการโต้เถียงกัน แล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์ เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้น โดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ยิ่งกว่านั้นในวันที่กำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดินตามนัด แต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการ เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551 โจทก์เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลยว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระ เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น มิได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

          ในบางกรณีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ ไม่ให้ถือว่าเป็นการข่มขู่ ได้แก่
          มาตรา 165  "การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่
          การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่"

          ขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ได้แก่ การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามที่ผู้ขู่มีอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2545  โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการโรงแรมได้ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด แต่เมื่อมีกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งมีข้อความว่า "หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าข้อหนึ่งข้อใด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายงดจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ทันที โดยผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยความสุจริตและจะไม่กระทำการใด ๆ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้า การละเมิดการใช้ไฟฟ้า หมายถึง การทำลายหรือดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าและหรืออุปกรณ์ประกอบใดๆ ... ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อน..." นอกจากนี้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้า ตามสัญญายังระบุว่า "กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าทางด้านกิโลวัตต์ และหรือกิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ซื้อต้องชดใช้ค่าละเมิดการใช้ไฟฟ้า..." ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยตามฟ้อง หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติ หาใช่เป็นการข่มขู่ อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นโมฆียะดังที่โจทก์อ้างไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2525  เมื่อลูกจ้างได้กระทำการอันส่อว่าทุจริตเกี่ยวกับการเงินแล้วนายจ้างบอกให้ลูกจ้างลาออกมิฉะนั้นจะดำเนินคดีเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ดังนั้น เมื่อลูกจ้างสมัครใจลาออก จึงถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2553  บุตรจำเลยเช่ารถยนต์รวม 3 คัน ซึ่งเป็นของโจทก์ ส. และ น. บุตรจำเลยกลับนำรถยนต์ไปจำนำผู้มีชื่อแล้วไม่สามารถนำรถยนต์มาคืนเพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้ โจทก์แจ้งความเพื่อนดำเนินคดีแก่บุตรจำเลย ก. บุตรเขยแจ้งแก่จำเลยว่า ว. ได้นำรถของโจทก์ไปจำนำไว้และได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ขอให้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากจำเลยเป็นมารดาของ ว. ซึ่งเช่ารถยนต์ของโจทก์กับพวกไปและนำรถไปจำนำแล้วไม่มีเงินค่าไถ่รถยนต์คืน โจทก์จึงไปแจ้งความกล่าวหาบุตรสาวจำเลยและได้เจรจากัน ต่อมาจำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หากไม่ทำก็จะดำเนินคดีอาญาแก่บุตรของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต อันถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 สัญญากู้ยืมเงินจึงมีผลใช้บังคับได้ และการที่จำเลยซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์มาทำสัญญากู้เนื่องจากบุตรจำเลยมีหนี้กับโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 350 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจลูกหนี้เดิมแล้ว สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้พิพาท

          แต่ถ้าเป็นการข่มขู่จะใช้สิทธิทางศาลในเรื่องที่ไม่มีมูล หรือข่มขู่จะดำเนินคดีอาญาเพื่อบีบบังคับให้ผู้ถูกข่มขู่ยอมทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมที่ข่มขู่ หรือข่มขู่จะใช้มาตราการอื่นที่ไม่ใช่การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เหล่านี้มิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2523  การที่นายตำรวจขู่ให้โจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้จำเลย มิฉะนั้นจะจับโจทก์ไปขังในฐานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมนั้น ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหรือตามปกตินิยม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2540  โจทก์มิได้สมัครใจซื้อรถบรรทุก 10 ล้อ คันเกิดเหตุจากจำเลย จำเลยมิได้เจ้าของรถคันดังกล่าวแล้ว แต่กลับกล่าวหาว่าโจทก์ถอดเอาอุปกรณ์ของรถคันดังกล่าวไปขายอันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แล้วบังคับให้โจทก์ซื้อรถคันดังกล่าวในราคา 55,000 บาท หากไม่ซื้อก็จะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขู่โจทก์ จนโจทก์จำต้องยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการชำระหนี้พิพาท และยอมมอบเช็คจำนวนเงิน 55,000 บาท ให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวมาถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม แต่ถือได้ว่าเป็นภัยถึงขนาดที่จะจูงใจให้โจทก์มีมูลต้องกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่เสรีภาพของโจทก์ เป็นภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงเท่ากับที่จะพึงกลัวต่อการอันถูกจำเลยข่มขู่เอานั้น บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์ได้บอกล้างแล้ว บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นโจทก์ไม่จำต้องรับผิด ตามบันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวนั้น

          การที่กระทำไปเพราะความนับถือยำเกรง เช่น บุตรยำเกรงพ่อแม่ ลูกศิษย์ยำเกรงครูอาจารย์ นิติกรรมเหล่านี้ไม่ถือเป็นการข่มขู่ จึงมีผลสมบูรณ์

          แม้บุคคลภายนอกข่มขู่ ก็ย่อมมีผลให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ
          มาตรา 166  "การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะแม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่"