11 มี.ค. 2567

เบี้ยปรับ

          มาตรา 379 "ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้น ได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น "
          มาตรา 380 "ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
          ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่ง ค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้ พิสูจน์ได้"
          มาตรา 381 "ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้
          ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 380 วรรค 2
          ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้"

          เบี้ยปรับ มี 2 ประเภท
          1. เบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ (มาตรา 380)
          2. เบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร (มาตรา 381)

          ข้อสังเกต

          1. ถ้าเป็นเบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิ
               (1) เรียกเอาเบี้ยปรับ แต่ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้
               (2) บังคับชำระหนี้ หมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับ
          ทั้ง 2 ประการ ถ้าดำเนินการแล้วยังมีความเสียหายอยู่ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา 380 วรรคสอง แต่เป็นการเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 213 วรรคสี่ และ 215
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2554  แม้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ โดยยึดเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย และพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ 2,000,000 บาท นั้นเป็นจำนวนพอสมควรและไม่สูงเกินส่วนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าจำนวนเบี้ยปรับนั้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14175/2558  หลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ครบถ้วน โจทก์ได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นมาปลูกทดแทนลงในแปลงเพาะปลูกที่โจทก์ไถดินจัดเตรียมไว้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการไถดินเตรียมแปลงเพาะปลูกแล้ว ย่อมไม่มีความเสียหายเป็นค่าไถ่ดินเตรียมแปลงเพาะปลูกที่โจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิด
          จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิมยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยการส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราเพิ่มอีกจำนวน 20,000 ต้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยรับผิดสัญญาเดิม มิใช่ให้รับผิดตามบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิม โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยรับผิดในต้นพันธุ์ยางพาราจำนวน 20,000 ต้น เพราะต้นพันธุ์ยางพาราดังกล่าวเป็นเพียงค่าเสียหายที่จำเลยตกลงว่าจะชดเชยให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ต้นพันธุ์ยางพาราที่จำเลยจะต้องส่งมอบตามสัญญาเดิม
           เบี้ยปรับนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา เจ้าหนี้ย่อมเรียกเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง เมื่อศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ต้องซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากผู้อื่นในราคาที่สูงขึ้น เป็นเงิน 1,988,595 บาท อันเป็นค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนอีกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2552  ข้อตกลงซื้อขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ข้อ 3 วรรคแรก มีข้อความว่า "ผู้ขายตกลงเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินของบริษัท ก. มีวงเงินค้ำประกัน 350,000,000 บาท ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534... และภายในวันที่ 3 เมษายน 2534 เช่นกัน ผู้ซื้อจะดำเนินการให้ธนาคารปลดผู้ขาย ส. และ ว. ออกจากเป็นผู้ค้ำประกัน และปลดจำนองทรัพย์สินซึ่งจำนองประกันหนี้สินของบริษัท ก. ทั้งหมด" วรรคสอง มีข้อความว่า "ถ้าหากล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ ผู้ซื้อและบริษัท ก. ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ขายเดือนละ 1,000,000 บาท ทุกๆ เดือนจนกว่าผู้ขายจะหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง" ซึ่งหมายความว่า โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนรายเดือนต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อหุ้นจากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองให้สำเร็จได้อันเป็นการผิดข้อตกลงแล้วเท่านั้น ค่าตอบแทนรายเดือนจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ระบุว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายเวลาที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องดำเนินการเช่นนั้นอีกต่อไปจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก ซึ่งหากเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
          หลังจากพ้นกำหนดวันที่ 3 เมษายน 2534 โจทก์ที่ยอมรับเอาค่าตอบแทนของเดือนพฤษภาคม 2534 และต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระสำหรับเดือนต่อไป ถือว่าโจทก์ที่ 1 แสดงต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองย่อมเป็นอันขาดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2548  โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง ซึ่งตามข้อตกลงเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์มาเป็นของโจทก์แต่เพียงผุ้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันเป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ แต่เมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนจำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตามข้อตกลงในสัญญาได้ สัญญายังคงมีผลผูกพันให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในเวลาต่อมา แต่จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) และมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2546  สัญญาที่โจทก์จ้างจำเลยตรวจซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบุว่า "ในขณะทำสัญญาผู้รับจ้าง (จำเลย) ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาของธนาคาร ท. ภายในวงเงินร้อยละห้าของเงินค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงิน 44,405 บาทมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง (โจทก์) เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา" ดังนั้น เงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันนั่นเอง เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอื่นอีก กรณีต้องนำเงินที่ธนาคาร ท. ส่งมาไปหักกับค่าเสียหายนั้นก่อนในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง

          2. เบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร เจ้าหนี้มีสิทธิ
               (1) เรียกให้ชำระหนี้
               (2) เรียกค่าปรับ แต่ต้องสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไว้ แต่ต้องดำเนินการเมื่อเป็นการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นการยอมชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1078/2496)
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2496  ข้อตกลงที่เรียกกันว่า"ค่าปรับ"เมื่อผิดสัญญานั้น ก็คือค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้านั่นเอง
               ข้อความในสัญญามีความว่า "ฯลฯหากปรากฏว่าผู้ขายไม่ส่งมอบไม้ให้กับผู้ซื้อให้ครบภายในเวลาดังกล่าวข้างต้นผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีฯลฯ" นั้นหมายความว่าเป็นความตกลงให้ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับว่าผู้ซื้อจะต้องใช้สิทธิ ทันทีจึงจะได้ค่าปรับไม่ การที่ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ใช้สิทธินั้น ผ่อนผันให้ผู้ขายได้แก้ตัวโดยเห็นใจผู้ขายต่อมาโดยความขอร้องของผู้ขายนั้น หาทำให้ผู้ซื้อหมดสิทธิเรียกค่าปรับในที่สุดอย่างใดไม่
               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 วรรค 3 ที่มีข้อความว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น" นี้หมายความว่าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ถ้าลูกหนี้ยังชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไม่ครบจำนวน กรณีก็ยังไม่เข้ามาตรา 381 วรรค 3
               (3) เรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2541  โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 53,200,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงาน 5 งวด รับเงินไปแล้ว 14,151,200 บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสร้าง จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันที่ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 2,660,000 บาท แต่หนังสือค้ำประกันมิใช่สิ่งซึ่งจะพึงริบ เมื่อมีการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(2) เงินจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์จึงมิใช่มัดจำแต่เป็นเงินประกันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง กำหนดว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นใน ฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ริบเบี้ยปรับแล้วต้องนำเบี้ยปรับที่ริบจำนวน 2,660,000 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ต้องไปจ้างบุคคลภายนอกให้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในราคา 62,900,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพียง 21,191,200 บาท การที่สัญญาจ้างระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใดๆไม่ได้นั้น เป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับนี้ได้ตามมาตรา 381 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้ว่าจ้างกับผลงานและพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างที่ปฏิบัติมาตามสัญญา เห็นได้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว โจทก์ย่อมริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใดๆเกี่ยวกับค่าผลงานที่ทำไปแล้วอีก
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2537  ค่าปรับรายวันตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างคือเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 วรรคแรก นั่นเอง ส่วนค่าตัดลดเปลี่ยนแปลงรายการอันเป็นค่าเสียหายตามสัญญา จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสอง ที่ให้บังคับตามบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรคสอง โจทก์จะเรียกค่าเสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ต่อเมื่อโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายสูงกว่าเบี้ยปรับที่กล่าวแล้ว โดยหากมีโจทก์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนที่สูงกว่าเบี้ยปรับนั้นอีกได้ สำหรับคดีนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายซึ่งไม่สูงไปกว่าเบี้ยปรับที่โจทก์ได้รับดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์อีก

          3. เบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายล่วงหน้า ศาลลดเบี้ยปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แต่ต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่จะลดได้ต่อเมื่อลูกหนี้ยังมิได้ชำระค่าปรับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16520/2557  เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557  โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556  สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383