17 มี.ค. 2567

ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน

          ความหมายของอาวุธปืน          

          “อาวุธปืน” หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา 4 (1))
          ส่วนของอาวุธปืนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น “อาวุธปืน” ตามความในมาตรา 4 (1) คือ
          (1) ลำกล้อง
          (2) เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน
          (3) เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก
          (4) เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้
          (กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2551 ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2536  ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ที่แก้ไขแล้ว มิได้บัญญัติว่าอาวุธปืนจะต้องใช้ยิงได้จึงจะเป็นอาวุธปืน ดังนั้น การที่จำเลยมีปืนของกลางจำนวน 4 กระบอกไว้ในครอบครอง แม้จะปรากฏว่าปืนของกลางมีสภาพเก่า ลำกล้องมีสนิมขึ้นไม่สามารถใช้ยิงได้และบางกระบอกไม่มีด้ามปืน จำเลยก็มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72


          ความหมายของเครื่องกระสุนปืน 

          “เครื่องกระสุนปืน” หมายความรวมตลอดถึงกระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีกรดแก๊ส เชื้อเพลิง เชื้อโรค ไอพิษ หมอกหรือควัน หรือกระสุน ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน หรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน (มาตรา 4 (2))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2550  พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (2) มิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน

          ความหมายของวัตถุระเบิด

          “วัตถุระเบิด” คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน หรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหาร กับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อประทุต่าง ๆ หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้ หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 4 (3))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2545  น้ำมันเบนซินที่บรรจุอยู่ในขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอน เมื่อจุดไฟจากเศษผ้าซึ่งเป็นสายชนวนแล้วขว้างปาไปจะทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้เป็นระเบิดเพลิงชนิดทำเอง แต่ไม่มีสะเก็ดระเบิด มีแต่ทำให้เกิดไฟไหม้มากน้อยแล้วแต่การกระจายของน้ำมันเบนซิน จึงไม่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน และไม่มีกำลังดันทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารอีกทั้งไม่ใช่เชื้อประทุหรือวัตถุที่มีสภาพคล้ายคลึงกับเชื้อประทุซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิด จึงไม่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิดตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 4(3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2536  แม้ลูกระเบิดจะไม่มีชนวนหัวท้ายที่จะนำมาประกอบ เข้าด้วยกัน แต่ลูกระเบิดก็มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองพร้อมที่จะใช้งาน หากนำชนวนหัวและชนวนท้ายมาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะสามารถทำการยิงได้ทันที จึงเป็นวัตถุระเบิดหรือ เครื่องกระสุนปืนตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4(2) และ (3) แล้ว

          สิ่งเทียมอาวุธปืนไม่ถือว่าเป็นอาวุธโดยสภาพ       
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2557  เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติกจึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

          ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4174/2555  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่" และมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของคำว่า "มี" ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อการจำนำนั้นผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้อยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 747 และมาตรา 758 การที่จำเลยที่ 3 รับจำนำอาวุธปืนของกลางจึงมีเจตนายึดถืออาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มิใช่เพียงแต่ยึดถือไว้แทนจำเลยที่ 1 ชั่วขณะ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2548  จำเลยได้รับฝากอาวุธปืน เหล็กพานท้ายปืน และด้ามปืนของกลางไว้จาก ภ. เพื่อทำความสะอาด การที่จำเลยครอบครองอาวุธปืนของกลางในลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยยึดถืออาวุธปืนไว้แทน ภ. เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนายึดถือ เพื่อตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง ตามความหมายแห่ง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2552  พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ฯ มาตรา 4 (6) ได้ให้ความหมายคำว่า "มี" ว่า หมายถึงมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง จำเลยร้องบอกพวกให้ส่งอาวุธปืนให้ พวกของจำเลยจึงส่งอาวุธปืนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยยิง แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองอาวุธปืนมาแต่แรก ขณะที่จำเลยยิงนั้นพวกของจำเลยซึ่งส่งอาวุธปืนให้ก็ยังอยู่ด้วยกัน การใช้อาวุธปืนของจำเลยเป็นเพียงชั่วคราวในขณะที่ยิงเท่านั้น อาวุธปืนจึงยังคงอยู่ในครอบครองของพวกจำเลย แม้จำเลยรู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืน ก็จะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมในการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวมาแต่ต้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการพาอาวุธปืนติดตัวไปนั้น ก่อนเกิดเหตุพวกของจำเลยเป็นคนพาอาวุธปืนติดตัวไป จำเลยจึงอาจส่งมอบคืนให้แก่พวกแล้วต่างคนต่างหลบหนีไปก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2536  จำเลยบอกให้พวกของจำเลยส่งอาวุธปืน พวกของจำเลยก็ส่งให้แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้นเองโดยพวกของจำเลยก็ยังอยู่ที่เกิดเหตุนั้นด้วย พวกของจำเลยจึงยังคงควบคุมดูแลอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิดและมิได้มอบการครอบครองให้จำเลย สิทธิครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนยังคงอยู่กับพวกของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองและไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืนด้วย โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2551 ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 แม้ซองกระสุนปืนของกลางสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด แล้วก็เป็นซองกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และซองกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 32
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2550  พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (2) มิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยมีพลุดังกล่าวไว้ในครอบครองย่อมไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพสำหรับความผิดในข้อหานี้ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว ก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ และต้องคืนพลุสดุดส่องแสงของกลางแก่จำเลย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555  จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12775/2553  นาย พ. กับพวกไปหาจำเลยที่บ้านร่วมดื่มสุราแล้วชวนไปเที่ยวงานวัดด้วยกันประมาณ 12 คน โดยนั่งตอนท้ายรถยนต์กระบะและอาวุธปืนของกลางอยู่ที่นาย พ. เพียงผู้เดียว จนกระทั่งวันและเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นพบอาวุธปืนของกลางบนพื้นถนนข้างรถยนต์กระบะดังกล่าว
          พฤติการณ์ที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางจากนาย พ. แล้วส่งต่อให้เพื่อนไปโยนทิ้งทันที เป็นการที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางมาอยู่ที่จำเลยเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นเพื่อส่งต่อไปทันทีเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนาย พ. มีและพาอาวุธปืนของกลาง

          ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21745/2556  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ซึ่งคำว่า "ชุมนุมชน" หมายความถึง หมู่ชนที่มารวมกันมาก ๆ โดยเป็นการรวมบุคคลหลาย ๆ คนโดยทั่วไป มิใช่บุคคลเฉพาะบางหมู่บางพวก แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพเข้าไปในบริเวณที่มีหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยถืออาวุธปืนพกยืนอยู่บริเวณข้างกำแพงด้านนอกแม้ไม่ได้เข้าไปที่ศาลหลักเมืองบริเวณที่จัดงานแสดงหมอลำและชกมวยก็ตาม แต่บริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนดังกล่าวมีรถยนต์ของผู้มาเที่ยวงานจอดอยู่ห่างจากปากทางเข้าออกงานประมาณ 20 เมตร แสดงว่าบริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนนั้นอยู่ในที่ซึ่งหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ มาจอดรถเพื่อเข้าร่วมงาน ถือว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2554  เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และมาตรา 8 ทวิ ต่างเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเองแยกจากกันได้ การพิจารณาว่าจำเลยจะกระทำความผิดตามมาตรา 8 ทวิ หรือไม่ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 7 มาก่อน และมาตรา 8 ทวิ ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าใช้บังคับใช้กับอาวุธปืนที่มีหรือไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับ ดังนั้น ต้องถือว่าใช้บังคับกับอาวุธปืนทั้งที่มีและไม่มีเครื่องหมายประจำอาวุธปืนของนายทะเบียนประทับ ซึ่งกรณีปกติย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมาตรา 8 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้มิให้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหาร และตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นพาอาวุธปืนของกลางติดตัวออกไประงับเหตุทะเลาะวิวาทอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แม้อาวุธปืนของกลางจะไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนและจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางก็ตาม ย่อมไม่ใช้บังคับแก่จำเลยในกรณีนี้ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2554 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต หรือเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จากบทบัญญัติดังกล่าว การพาอาวุธปืนติดตัวไปได้ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หากมิได้รับใบอนุญาตจะต้องเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปในการประกอบธุรกิจของจำเลยเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แต่อย่างใด มิฉะนั้นเท่ากับว่าจำเลยสามารถพาอาวุธปืนไปได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12775/2553  นาย พ. กับพวกไปหาจำเลยที่บ้านร่วมดื่มสุราแล้วชวนไปเที่ยวงานวัดด้วยกันประมาณ 12 คน โดยนั่งตอนท้ายรถยนต์กระบะและอาวุธปืนของกลางอยู่ที่นาย พ. เพียงผู้เดียว จนกระทั่งวันและเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นพบอาวุธปืนของกลางบนพื้นถนนข้างรถยนต์กระบะดังกล่าว
          พฤติการณ์ที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางจากนาย พ. แล้วส่งต่อให้เพื่อนไปโยนทิ้งทันที เป็นการที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางมาอยู่ที่จำเลยเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นเพื่อส่งต่อไปทันทีเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนาย พ.มีและพาอาวุธปืนของกลาง