12 มีนาคม 2567

การระบุวิธีการและระยะเวลาการฟ้องคดีใน “คําสั่งทางปกครอง” มีความสำคัญต่อการใช้สิทธิฟ้องคดี | คำสั่งทางปกครอง | คดีปกครอง

          หน้าที่สําคัญอย่างหนึ่งของฝ่ายปกครองในการออก “คําสั่งทางปกครอง” คือ คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ ให้ผู้ออกคำสั่งระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย และในกรณีที่มีการฝ่าฝืน ไม่ยอมระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ในคำสั่ง ให้ถือว่าระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 แหงพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และคำสั่งใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ให้ผู้ออกคำสั่งระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 
          มาตรา 50  "คำสั่งใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ให้ผู้ออกคำสั่งระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วย
          ในกรณีที่ปรากฏต่อผู้ออกคำสั่งใดในภายหลังว่า ตนมิได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นดำเนินการแจ้งข้อความซึ่งพึงระบุตามวรรคหนึ่งให้ผู้รับคำสั่งทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีนี้ให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ผู้รับคำสั่งได้รับแจ้งข้อความดังกล่าว
          ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ตามวรรคสองและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง"
          จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลให้คำสั่งทางปกครองใดก็ตามที่ผู้ออกคำสั่งไม่ได้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไว้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ย่อมมีผลให้มีการขยายระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ออกไปได้อีกเป็นเวลาหนึ่งปี และหากในคำสั่งทางปกครองใดที่อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ก็ไม่มีการระบุวิธีการและระยะเวลาในการยื่นคำฟ้องไว้อีกด้วย ระยะเวลาในการฟ้องคดีก็ย่อมขยายออกไปได้อีกเป็นหนึ่งปี(เฉพาะระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปี)


          คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 546/2550  เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยไม่อนุมัติปริญญาเกียรตินิยมอันดับสองให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีลงทะเบียนซ้ำ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัย โดยผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อธิการบดีฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ไม่ได้แจ้งสิทธิในการฟ้องคดีโดยระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งสิทธิดังกล่าวในภายหลัง ผลตามกฎหมายมาตรา 50 ก็คือ ระยะเวลาในการยื่นคําฟ้องขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคําสั่ง ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งในวันที่ 26 มกราคม 2549 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธินําคดีมาฟ้องต่อศาลได้ถึงวันที่ 26 มกราคม 2550 การที่ผู้ฟ้องคดีนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 4 กันยายน 2549 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในกําหนดเวลาการฟ้องคดี

          กรณีนี้ หากผู้ออกคําสั่งไม่ได้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการยื่นฟ้องคดีไว้ในคําสั่ง ก็ควรที่จะมีการแจ้งให้ผู้รับคําสั่งทราบในภายหลัง ซึ่งระยะเวลาการฟ้องคดีจะมีกําหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้รับคําสั่งได้รับแจ้งข้อความดังกล่าว

          แต่มีปัญหาว่า หากพ้นกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 50 แล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ทําหนังสือถึงผู้ออกคําสั่งขอให้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการฟ้องคดีให้ถูกต้องและผู้ออกคําสั่งได้ดําเนินการแจ้งข้อความตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ กรณีเช่นนี้ระยะเวลาในการฟ้องคดีจะสามารถเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งที่ระบุข้อความดังกล่าวหรือไม่ ?

          ข้อเท็จจริงในคดีนี้... ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกํานันตําบล เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์กระทําความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่ใช้ในราชการสงครามซึ่งนายทะเบียนไม่อนุญาตให้ใช้หรือมีไว้ในครอบครอง อีกทั้งมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการค้ารถตามแนวชายแดนและการลักพาตัวราษฎรลาว
          แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคําสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อตน เนื่องจากเป็นการกล่าวหาเท็จโดยปราศจากพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวหา ผู้ร้องเรียนต้องการกลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกํานันตําบล และกรณีที่กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนซึ่งนายทะเบียนไม่อนุญาตไว้ในครอบครองนั้น พนักงานอัยการได้มีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีคําสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากตําแหน่ง
          ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นหนังสืออุทธรณ์ร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทย
          กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีคําสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแต่ได้แก้ไขคําสั่งลงโทษบางส่วนโดยให้ตัดข้อความที่ว่า “มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการค้ารถตามแนวชายแดนและการลักพาตัวราษฎรลาว” ออก นอกนั้นให้คงเดิม ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มีคําสั่งแก้ไขคําสั่งเดิม รวมทั้งแจ้งคําสั่งยกอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยไม่ได้ระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ในคําสั่ง
          สำหรับคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีสามารถนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคําพิพากษาหรือมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งปลดออกจากตําแหน่งได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคําสั่งยกอุทธรณ์ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ ระยะเวลาในการฟ้องคดีจึงต้องขยายจาก 90 วัน ออกเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งยกอุทธรณ์ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  แต่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีก็มิได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 1 ปี
          หลังจาก 1 ปีผ่านไป ผู้ฟ้องคดีได้ทําหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการยื่นฟ้องคดีในคําสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องครบถ้วน และผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้แจ้งคําสั่งใหม่โดยได้ระบุวิธีการและระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ฟ้องคดีทราบด้วย ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งใหม่ดังกล่าว

           ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ในคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีจึงมีผลทําให้ระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องขยายจาก 90 วัน เป็น 1 ปี เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์อย่างช้าประมาณเดือนสิงหาคม 2544 จึงครบกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีที่ขยายออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2545 แต่ผู้ฟ้องคดีก็มิได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองแต่อย่างใด จึงพ้นระยะเวลาที่จะนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาในการยื่นคําฟ้องหลังจากที่พ้นกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไปแล้ว และแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะได้แจ้งวิธีการดังกล่าวตามคําขอนั้น ก็ย่อมไม่มีผลทําให้กําหนดระยะเวลาสําหรับการฟ้องคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว กลับมาเริ่มต้นนับใหม่ได้อีก จึงมีคําสั่งไม่รับคําฟ้องไว้พิจารณาและให้จําหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 535/2547)

          ดังนั้น กําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นเงื่อนไขสําคัญสําหรับการฟ้องคดีที่หากยื่นคําฟ้องเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว ศาลปกครองมีอํานาจสั่งไม่รับคําฟ้องไว้พิจารณาและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
          สำหรับการกําหนดหน้าที่ให้ผู้ออกคําสั่งทางปกครองระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ในคําสั่งด้วยนั้น ก็เพื่อให้ผู้รับคําสั่งทราบเพื่อจะได้ใช้สิทธิฟ้องคดีได้ถูกต้องตามกําหนดเวลา และหากฝ่าฝืนไม่แจ้ง กฎหมายก็ได้คุ้มครองสิทธิดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคําสั่ง แต่เมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่ากําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีสิ้นสุดลง