9 มี.ค. 2567

สัญญาประกันชีวิต

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 889  "ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง"

          มาตรา 890  "จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา"

          มาตรา 891  "แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
          ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 309 มาใช้บังคับ"

          มาตรา 892  "ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น"

          มาตรา 893 " การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน
          แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ"

          มาตรา 894  "ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย"

          มาตรา 895  "เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใดท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
          (1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญาหรือ
          (2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
          ในกรณีที่ 2 นี้ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น"

          มาตรา 896  "ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย"

          มาตรา 897  "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
          ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้"

          สัญญาประกันชีวิต คือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันตกลงว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ หรือผู้สืบสิทธิของเขา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันชีวิตได้เสียชีวิตภายในเวลา หรือมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาอันได้กำหนดไว้ และผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันชีวิตภายในเวลาที่กำหนด


          เมื่อสัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557   สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า “การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น” แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์
          บทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดระงับไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557    เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่
          การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423-6424/2555   พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18
          เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554   ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย
          แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก
          ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2550   โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รถยนต์พิพาทถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนทำให้คนบนรถยนต์พิพาทรวม 4 คนเสียชีวิต โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรวม 4 คน ๆ ละ 50,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตไป โจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 กับพวกได้ไม่
          ผู้รับประกันภัยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายสินไหมมรณกรรม จึงผิดสัญญาและถือว่าผิดนัดผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2548   ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ถึงโจทก์ผู้รับประโยชน์บอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหมมรณกรรม จึงเป็นการผิดสัญญาและถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย
          กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2546   ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตายและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่
          ธุรกรรมที่เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว โดยการจะใช้จำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ธุรกรรมดังกล่าวจึงเป็นการรับประกันชีวิต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2544   ธุรกรรมของจำเลยที่เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว โดยการจะใช้จำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ธุรกรรมดังกล่าวจึงเป็นการรับประกันชีวิต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889
         เมื่อจำเลยยอมรับว่า ช. ผู้เอาประกันมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ และจำเลยจะต้องผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันรับฝากเงิน หากจำเลยปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของตนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งขณะนั้น ช. ยังมีชีวิตอยู่ จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ เมื่อกรมธรรม์ออกให้แก่ ช. ล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จำเลยย่อมไม่อาจนำข้อกำหนดในตอนท้ายของคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิต  และครอบครัวที่ระบุว่า "ข้าพเจ้า (ผู้เอาประกัน) ยอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใดๆ กับข้าพเจ้าจนกว่าธนาคารจะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว…" ซึ่งมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดโดยมิชอบด้วยความเป็นธรรมหาได้ไม่ และต้องถือว่าสัญญารับประกันชีวิตมีขึ้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันฝากเงินแล้ว ทั้งข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในเรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา
          ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิตของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ เป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2544   โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้กับจำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิตของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แม้จะเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่ก็มิใช่กรณีที่ผู้ตายเอาประกันชีวิตตนเองไว้ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ตกได้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยโดยตรง หาใช่เป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้ตายไม่ โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อการเสียชีวิตของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุจากจำเลยได้
          ผู้เอาประกันกรอกข้อความหรือตอบคำถามจำเลยไปตามความเป็นจริง สัญญาประกันชีวิตจึงไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219/2542   จำเลยอ้างและขอคำสั่งศาลเรียกประวัติการตรวจรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเป็นพยานเอกสาร เมื่อโรงพยาบาลส่งเอกสารมาแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาถึง 2 ครั้ง ให้จำเลยชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน แต่จำเลยไม่ชำระในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโจทก์ได้กล่าวแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นว่าจำเลยไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน จำเลยมิได้นำค่าอ้างเอกสารเป็นพยานมาชำระต่อศาล ดังนี้แสดงว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตามตาราง 2(5)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลชอบที่จะปฏิเสธไม่รับเอกสารนั้นไว้และถ้ารับไว้แล้วก็ไม่ชอบที่จะรับฟังเอกสารนั้น ศาลจึงนำข้อความในเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยไม่ได้
          ส. กรอกข้อความหรือตอบคำถามจำเลยไปตามความเป็นจริง สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง
          สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามความหมายในมาตรา 889 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2541   สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามความหมายในมาตรา 889 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย ดังนี้ โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเกี่ยวกับการตายของผู้เอาประกันที่โจทก์จ่ายไป เมื่อค่าเสียหายเกี่ยวกับการเสี่ยงภัยกรณีบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาลก่อนตายของผู้เอาประกันที่โจทก์จ่ายไป ซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครอง หาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่ถือเป็นค่าเสียหายที่ผู้เอาประกันได้รับจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยเมื่อโจทก์จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันมาฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยผู้ทำละเมิดต่อผู้เอาประกันได้
          ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540  ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2539   โจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่ต้องอาศัยการฟังเสียงเครื่องยนต์ประกอบการซ่อมรถและพูดคุยกับลูกค้า เมื่อประสบอุบัติเหตุทำให้ประสาทหูทั้งสองข้างของโจทก์เสียไม่ได้ยินเสียง โจทก์จึงหย่อนความสามารถในการประกอบการงานตามปกติโดยสิ้นเชิงตลอดไป ถือว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงตามสัญญาแล้ว หาจำต้องเป็นกรณีขาดกำลังที่จะประกอบการงานถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำหรืออาชีพอื่นได้โดยสิ้นเชิงไม่  ข้อสัญญาตกลงกันว่า"การบอกกล่าวเรียกร้องผู้เอาประกันภัยต้องบอกกล่าวให้บริษัททราบถึงการทุพพลภาพดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วันนับแต่วันเริ่มทุพพลภาพเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรจึงไม่อาจแจ้งให้บริษัททราบ" มิได้กำหนดโดยเคร่งครัดว่าต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วันนับแต่วันเริ่มทุพพลภาพทุกกรณี โจทก์ไปติดต่อจำเลยด้วยตัวเองแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือเพราะใช้มือเขียนหนังสือไม่ได้ และจำเลยได้รับคำบอกกล่าวของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว แสดงว่าไม่ติดใจให้โจทก์แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9070/2538   ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยผู้รับประกันภัยได้จำกัดความรับผิดในกรณีอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ไว้ไม่เกิน 300,000 บาท ต่อ 1 คน และในกรณีถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายไว้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อ 1 คน ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินหรือมีทุนประกันเท่าใด ดังนั้น แม้ผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเลือกซื้อสัญญาประกันภัยเช่นนี้ไว้กี่ครั้งก็ตาม หากเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียวกันแล้ว ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว คดีนี้ ล. ทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ต่อจำเลย 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวนเงินเอาประกันภัย 300,000 บาทระบุให้ ม. และ ศ. เป็นผู้รับประโยชน์ ครั้งที่สองจำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้น จำเลยผู้รับประกันภัยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กล่าวคือ ต้องนำจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันตามสัญญาทั้งสองฉบับมารวมกันถือเป็นจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยไว้ทั้งสิ้น เมื่อรวมแล้วเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยเกินกว่า 500,000 บาท จำเลยจึงคงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์ทั้งสองสัญญารวมกันเพียง 500,000 บาทเมื่อทั้งสองสัญญามีจำนวนเงินเอาประกันภัยจำนวน 300,000 บาทและ 500,000 บาท จึงต้องเฉลี่ยการได้รับค่าสินไหมทดแทนกันตามอัตราส่วนดังกล่าว ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงจำนวน 312,500 บาท
          ผู้เอาประกันรู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิตดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็นโมฆะ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2534   ล. รู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิต ล. โดยไม่ทราบการเป็นโรคไตร้ายแรงดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็นโมฆะ ดังนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตได้
          ตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของบริษัทประกันขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกัน ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะการทำฉ้อฉลของบริษัทประกัน เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2522   โจทก์มิได้รับการตรวจสุขภาพ มิได้รับการฉายเอ๊กซเรย์ และตรวจคลื่นหัวใจ และจำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงให้โจทก์เอาประกันชีวิต โดยแจ้งว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพแล้วจัดหาบุคคลอื่นไปรับการตรวจสุขภาพแทน ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์มีสุขภาพดี และรับประกันชีวิตโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิต โดยเข้าใจผิดว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว ซึ่งถ้าโจทก์รู้ว่าเป็นการไม่ชอบก็จะไม่ทำสัญญาด้วย
          จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะการทำฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดส่งคืนเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
          ผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายภายหลังก็ตาม ผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2536   ผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตามผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2532  แม้สัญญาประกันภัยจะไม่คุ้มครองการทำร้ายหรือฆาตกรรมก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคนที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เอาประกันเป็นใครและยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าผู้เอาประกันถึงแก่ความตายเพราะถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนับว่าการตายของผู้เอาประกันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุผู้รับประกันภัยคุ้มครองมรณกรรมเนื่องจากอุบัติเหตุจะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่.
          เมื่อผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันได้แจ้งให้ผู้รับประกันทราบถึงอุบัติเหตุและได้ส่งหลักฐานความเสียหายไปให้ผู้รับประกันภัยครบถ้วนแล้ว ผู้รับประกันเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยของเงินที่ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับ นับแต่วันผิดนัด.
          แม้ผู้เอาประกันจะป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตาม แต่เหตุที่ทำให้ผู้เอาประกันถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้านหลังล้มหงายศีรษะฟาดพื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ผู้เอาประกันถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2530   ขณะศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำ ณ. เข้าสืบยังอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานประเด็นโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้แถลงหมดพยานทั้งหมดแม้จำเลยจะนำพยานเข้าสืบบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามโจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มในกรณีนี้ จึงรับฟังคำพยานของ ณ. ได้  
          กรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุที่ ส. เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าในกรณีที่ ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินจำนวนประกันรวมจำนวนเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ส.ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตาม แต่เหตุที่ทำให้ส. ถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้านหลังล้มหงายศีรษะฟาดพื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา จำเลยที่ 3 ตัวแทนเชิด เก็บเบี้ยประกันตามที่ได้รับมอบหมายมาให้จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยยังไม่ออกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยโดยผ่านทางจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว กรมธรรม์จึงยังไม่สิ้นผลบังคับ.
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2530   สัญญาประกันคุ้มครองอุบัติเหตุมีข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบชดใช้ค่าทดแทนใดๆ ถ้าหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยสาเหตุการถูกฆาตกรรม ดังนี้ หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต โดยมีพฤติการณ์แสดงว่าถูกคนร้ายฆ่าตายโดยเจตนา ถือได้ว่าการตายของผู้เอาประกันภัยเกิดจากการฆาตกรรมผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิด
          ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540   ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยดังนั้นแม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่