9 มี.ค. 2567

การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 
          ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 แต่อย่างไรก็ตาม หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยการยกเว้นความผิดให้

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 329 "ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
          (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
          (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
          ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ซึ่งไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 329 ได้แก่

          1. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11119/2558  การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่าโจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่ รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2558  ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงาน น. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ว. นั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน น. และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์ พ. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงาน น. เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ "การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย" (Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงาน น. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการนั้นย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คน เหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ "โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย" ที่บริษัท ส. ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงาน น. แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงาน น. ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่มีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกันโดยบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นก็อ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความอีกด้วยว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดยจะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือการกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์เผยแพร่ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษ จึงต้องพิจารณาจากข้อความในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวตามฟ้องทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการที่บริษัท ส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง จ. ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเองหรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556  จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555  การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8974/2555  จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2533  จำเลยและผู้เสียหายต่างทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินแห่งเดียวกันการที่มีผู้ไปติดต่อขอรับมรดกที่ดินที่สำนักงานที่ดินดังกล่าวโดยได้ไปติดต่อกับผู้เสียหายก่อนแล้วจึงไปสอบถามจำเลยในลักษณะที่มีมูลทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายได้เรียกเอาเงินจากผู้ไปติดต่อ อันเป็นการมิชอบ จำเลยจึงแจ้งเรื่องให้ ศ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งของตนและของผู้เสียหายทราบเพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปนั้น เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          แต่ถ้าเป็นการกล่าวประจาน โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้ได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียง การกระทำนั้นก็ย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554  การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แต่เมื่อ ป. เข้ามาร่วมรับฟังในภายหลังและจำเลยกล่าวต่อหน้า ป. ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. แม้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้า ป. ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

          2. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2523  ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการในตำแหน่งสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท จำเลยในฐานะหัวหน้าส่วนราชการของอำเภอวัดสิงห์ ได้เข้าร่วมประชุมข้าราชการประจำเดือนของทางอำเภอวัดสิงห์มีนายอำเภอเป็นประธาน ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล รวมราว 100 คนเข้าร่วมประชุม จำเลยกล่าวในที่ประชุมขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ดูแลสอดส่องรายงานความเคลื่อนไหวของผู้ลักลอบเล่นการพนันและโจรผู้ร้ายซึ่งได้กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ตั้งบ่อนการพนันทั้งในและนอกสถานที่ โจทก์เลี้ยงโจร ลูกน้องเป็นโจร โจทก์ตั้งตัวเป็นหัวหน้าโจร ลูกน้องโจทก์ไปทางไหน ขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยสอดส่องดูด้วย มูลเหตุที่จำเลยกล่าวเช่นนี้ก็สืบเนื่องจากเรื่องบัตรสนเทห์ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนกล่าวหาตำรวจในอำเภอวัดสิงห์ โจทก์และคนอื่นหลานคนตั้งบ่อนการพนันและเรื่องนาย จ. นาย ส. ลูกจ้างของโจทก์รับสารสภาพในชั้นสอบสวนว่าคนร้ายปล้นทรัพย์และวางเพลิง แสดงว่าจำเลยมิได้จงใจกล่าวให้โจทก์เสียหายและเป็นการกล่าวถึงโจทก์ในขณะจำเลยเข้าประชุมข้อราชการประจำเดือนของทางอำเภอวัดสิงห์ที่จำเลยพูดเป็นเรื่องปฏิบัติตามหน้าที่เพราะจำเลยมีหน้าที่จะต้องชี้แจงในที่ประชุมจำเลยมีความประสงค์จะไม่ให้มีบ่อนการพนันและซ่องโจรในท้องที่ของจำเลยจึงเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วย จำเลยไม่มีความผิด

          3. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2561  ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559  การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558  ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2550  ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตรี ส. ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรี ส. และโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรี ส. โดยร้อยตำรวจเอก ฉ. เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้นชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547  เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

          4. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543  การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์ เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (4) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง