2 มี.ค. 2567

การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 ซึ่งสามีหรือภริยาทำขึ้นฝ่ายเดียวหรือไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

          การจัดการสินสมรสของสามีภริยาซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน 
          อย่างไรก็ตาม การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งทำไปโดยฝ่าฝืนมาตรา 1476 นี้ กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น (มาตรา 1480)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560  แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2558  แม้การขายฝากที่ดินพิพาทจะมีการทำนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ราคาขายฝากที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด ทั้ง ส. ซึ่ง จ.ผู้ขายฝากอ้างว่าเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น ก็เป็นญาติกับจำเลยผู้รับซื้อฝาก และราคาขายฝากนั้นจำเลยยอมรับว่าได้นำหนี้ของ ส. มารวมเข้าในราคาขายฝากด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นหนี้เท่าใด รวมทั้งไม่มีหลักฐานการเป็นหนี้มาแสดง นอกจากนี้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์เสนอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนในราคา 8,000,000 บาท แต่จำเลยไม่ยินยอม อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทมีราคาสูงกว่าราคาที่ขายฝาก ตามพฤติการณ์แห่งคดีพอรับฟังได้ว่าจำเลยรับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ซึ่งโจทก์เพิ่งทราบเรื่องการขายฝากที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2554 การที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/2557   ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556  การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2552  โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 1 และ ส. มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า รู้จักกับโจทก์ตั้งแต่เด็กเนื่องจากโจทก์มีบ้านอยู่ติดกับบ้านมารดาของจำเลยที่ 2 และทราบว่า ภายหลังโจทก์และจำเลยที่ 1 สมรสกันแล้วมีทรัพย์สินเป็นที่ดินพิพาทโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนแต่ก็เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10633/2551  โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และเมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2548  การที่ อ. สามีโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสให้แก่จำเลย เป็นกรณีที่ อ. จัดการสินสมรสซึ่งโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 เมื่อ อ. จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทได้ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำดังกล่าวหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนขายฝาก เว้นแต่ขณะที่ทำนิติกรรมนั้นจำเลยได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม มาตรา 1480  เมื่อจำเลยทราบว่า อ. มีคู่สมรส และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ อ. ดังนั้น การที่จำเลยยังทำนิติกรรมขายฝากทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จึงมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับ อ. ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2544  บ. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อ 6 ธ.ค. 2501 ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยอีกเมื่อ 16 มี.ค. 2505 ป.พ.พ. บรรพ 5 (เดิม) มาตรา 1488 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อในขณะที่ บ. ซื้อที่พิพาทยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยยังชอบอยู่ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของทั้ง บ. โจทก์ และจำเลย
          แม้ บ. จะมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไปตามกฎหมาย แต่การที่ บ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา อันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสังคมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายในขณะที่มีการจดทะเบียนให้ขึ้นใช้บังคับ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7978/2542  จำเลยที่ 1 นำทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปจำนองแก่ธนาคารจำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่จำเลยที่ 2 กลับรับจำนองไว้ โดยอ้างว่า ว. ซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแล้ว ย่อมถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำนิติกรรมจำนองโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
          บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินที่ให้จำเลยที่ 1  มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทนั้นเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1469 การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอหย่าและขอแบ่งสินสมรส และศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว อันเป็นการใช้สิทธิบอกล้างในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว ย่อมทำให้สัญญาดังกล่าวสิ้นความผูกพัน ทำให้ทรัพย์สินกลับเป็นสินสมรสดังเดิม และเมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง จึงต้องถือว่าขณะฟ้องคดีนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นผลแล้ว ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสอยู่ขณะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

          แม้นิติกรรมที่ทำขึ้นจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1476 แต่ตราบใดที่นิติกรรมนั้นยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2557  ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7674/2550  ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งรวมถึงผู้ร้องออกไปจากที่ดินพิพาทได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2546  การที่จำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา คงมีผลเพียงว่า ภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480  แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

          การเพิกถอนนิติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 มีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2557  ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มี ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ไม่สามารถเพิกถอนได้หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้ได้

          การเพิกถอนนิติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 ต้องฟ้องเพิกถอนทั้งหมด จะเลือกฟ้องเพิกถอนเฉพาะส่วนมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2551  การเพิกถอนนิติกรรมตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ต้องเพิกถอนทั้งหมด โดยมีผลเป็นว่าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นถ้าเพิกถอนได้ก็ย่อมกลับคืนมาเป็นสินสมรสทั้งหมด มิใช่เพิกถอนแต่เฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอม ดังนั้น ในทางกลับกันถ้าเพิกถอนไม่ได้เพราะบุคคลภายนอกดังกล่าวทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้ทั้งหมด

          การใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 ตามมาตรา 1480 นั้น คู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรม จะต้องใช้สิทธิฟ้องภายในกำหนดอายุความด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2560   เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบดูเอกสารสิทธิเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ทั้งยังได้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่บ้านของ ส. กำนันตำบลตาลชุม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทจริง ย่อมแสดงว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง 

          สิทธิในการฟ้องเพิกถอนการจัดการสินสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 ตามมาตรา 1480 มิใช่สิทธิเฉพาะตัว แม้คู่สมรสที่มีสิทธิเพิกถอนนั้นเสียชีวิต ก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2517  โจทก์และจำเลยต่างเป็นบุตรของ ย. แต่ต่างมารดากัน มารดาโจทก์และมารดาจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับ ย.มาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใครจะเป็นภริยาหลวงหรือภริยาน้อยก็ตาม ก็อยู่ในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ย. ด้วยกันทั้งคู่  การที่สามีจะยกสินสมรสซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่ผู้ใดโดยเสน่หานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1473 สามีต้องได้รับความยินยอมของภริยาเสียก่อนเว้นแต่จะเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสังคม และตามมาตรา 1476 การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกัน ถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ ในระหว่างสมรส ย.ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่พิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยโดยเสน่หา การให้ในกรณีนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสมาคม เมื่อไม่ปรากฏว่าภริยาของ ย.ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ การให้ดังกล่าวแล้วจึงไม่สมบูรณ์ หลังจากบิดาและมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของมารดาซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ย. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์พิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานี้ได้ 

          อย่างไรก็ตาม นิติกรรมที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 1476 นั้น ถ้าหากตัวของบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คู่สมรสอีกฝ่ายก็ไม่อาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560  ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้

          แต่ถ้าตามพฤติการณ์นั้นคู่สมรสรู้เห็นยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมได้ฝ่ายเดียวโดยไม่คัดค้าน ก็ย่อมถือว่าคู่สมรสมีการให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสโดยปริยายแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนิติกรรมนั้นอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799 - 8801/2559  การที่ บ. ยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่า บ. มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บ. อีก ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดจาก บ. และ ส. และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า บ. โต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่ บ. ยังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่า บ. ยินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของ บ. จึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง