12 มี.ค. 2567

ความผิดฐานแจ้งความเท็จ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 137  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 172  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 173  "ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"
          มาตรา 174  "ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๒ หรือมาตรา ๑๗๓ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
          ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิและแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่อนายทะเบียน โดยอ้างว่าบอกกล่าวนัดประชุมและที่ประชุมมีมติถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9556/2558  การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
          การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267



          แม้ทำเอกสารในหน้าที่ไม่ตรงกับความจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะเพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15248 - 15249/2557   จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด

          โฉนดอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น แต่ไปแจ้งว่าโฉนดหายเพื่อนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกโฉนดใหม่ ผิดฐานแจ้งความเท็จ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19287/2555  จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้

          ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน คำร้องดังกล่าวถึงแม้เป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15508/2555  การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ถือว่าศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองกับพวกยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137

          สิทธิของผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่ถ้าได้แจ้งความเท็จไว้แก่เจ้าพนักงานก่อนจะตกเป็นผู้ต้องหาในภายหลัง จึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5346/2540  จำเลยแจ้งข้อความต่อพนักงานสอบสวนขณะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า"ภายหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้หลบหนีไป" ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคนขับรถสามล้อเครื่องยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พนักงานสอบสวน หรือประชาชนเสียหาย แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาก็ตามแต่ได้ความจากคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอผัดฟ้องและฝากขังจำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 โดยระบุในคำร้องดังกล่าวว่าจำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 และถูกกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายไม่หยุดให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตนและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวตามฟ้องแก่เจ้าพนักงานในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเช่นนั้นแก่เจ้าพนักงานก่อนจำเลยถูกสอบสวนว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือไม่ มิใช่เป็นการให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนอันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137

          สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่การที่จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. ในเรื่องการผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7123/2557  ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะจะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367

          แจ้งข้อความต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งโดยปกปิดเรื่องที่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่ผลจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯออกใช้บังคับ มีผลให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2187/2554   วันที่จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวันภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องอันฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้อำนวยการเลือกตั้ง โดยปกปิดเรื่องที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา แต่โดยผลของ พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 45 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งหรือประชาชน กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

          จำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 และยังผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8611/2553  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 นอกจากนี้ จำเลยยังมีเจตนายังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

          แจ้งความร้องทุกข์ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่แจ้งหรือไม่ม่สำคัญ การแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5236/2549  ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

          จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส(อันเป็นความเท็จ)ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8739/2552  จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
          เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
          การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

          แต่ถ้าเคยจดทะเบียนสมรสและหย่าแล้ว แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเอง ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1237/2544   ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 การที่จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเองการที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267

          จำเลยร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ จึงเป็นขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  133/2548  แม้พลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 แต่ตามหนังสือที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ และย้ายโจทก์ออกจากพื้นที่รับผิดชอบทางราชการ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด และพลตำรวจโท ป. มิได้มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดในทางอาญาแก่โจทก์ คงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ความคุ้มครองจำเลยที่ 1 แล้วรายงานให้พลตำรวจโท ป. ทราบด้วยเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172