23 พ.ค. 2558

หมิ่นประมาท : การทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แม้มีข้อความไม่สุภาพอยู่บ้าง หากไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจหรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

      การทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แม้มีข้อความไม่สุภาพอยู่บ้าง หากไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2555 - จำเลยพูดทวงเงินที่ ถ. ค้างชำระแล้วจำเลยกับ ถ. มีปากเสียงด่าว่ากัน และจำเลยได้ด่าว่า โคตรของมึงยืมเงินกูไปเป็นประจำ ไอ้หรัด อีต้อย ก็ไปยืมเงินกู เหตุเกิดขณะ ถ. กับจำเลยต่างทะเลาะ โต้เถียงกันต่างอยู่ในอารมณ์โกรธ ข้อความที่ว่าไอ้หรัดซึ่งหมายถึงผู้เสียหายเป็นเพียงคำเรียกหาที่ไม่สุภาพ ส่วนที่ว่าผู้เสียหายเคยยืมเงินจำเลยก็กล่าวตามข้อเท็จจริงซึ่งผู้เสียหาย รับว่าเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยจริง ทั้งการกู้ยืมเงินกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกับว่าผู้เสียหายคดโกง ดังนี้ ตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไปจึงไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

หมิ่นประมาท : การแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

          บุตรเข้าใจว่าผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบิดา จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ดังนี้ เป็นกรณีที่ลูกบ้านอยู่ในความปกครองของผู้ใหญ่บ้าน พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านหาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของตน เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์  แต่ถ้ามีคนนอกเข้ามานั่งฟังอยู่ด้วย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาททันที
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นาย ส.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจากนาย ม.ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างบุตรของนาย ม. นาย ส.จึงไปที่บ้านของนาย ค. บุตรของนาย ม.คนหนึ่ง พบนาย ค.และบุตรของนาย ม.อีกหลายคน บรรดาบุตรของนาย ม.รวมทั้งจำเลยด้วยต่างเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ม.จึงปรึกษาหารือหรือพูดคุยกับนาย ส.เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่านาย ม.จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมด จะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่า ในฐานะที่จำเลยกับพวกเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของนาย ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปรับทุกข์กับนาย ส. เพื่อให้นาย ส.หาทางช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ครอบครัวของนาย ม. ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
          แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นาง ป.เข้ามาร่วมรับฟังด้วยแล้ว การที่จำเลยกล่าวต่อหน้านาง ป.ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับนาย ม.และหลอกเอาเงินของนาย ม.นั้น เห็นว่า ที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ม.บิดาของจำเลย ไม่ก่อให้จำเลยเกิดสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้านาง ป.ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทเช่นว่านั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย และเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

พยานที่รับรองพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น(ต่อหน้า) เป็นสำคัญ

          ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง ไม่ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656
          มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
          บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน (และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น) เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไป เป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อใน พินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำ พินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็น โมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบ ด้วยกฎหมายไปได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553  พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้