12 มี.ค. 2567

ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามมาตรา 59 วรรคสาม เท่ากับกระทำโดยไม่มีเจตนา ไม่มีความผิด

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 59  "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
          กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
          ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
          ........"

          การกระทำที่ผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด มีผลเท่ากับกระทำไปโดยไม่มีเจตนากระทำผิด จึงไม่มีความผิดในความผิดฐานนั้นๆ เช่น

          ไม่รู้ว่าผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี เนื่องจากผู้เสียหายรูปร่างสูงใหญ่ดูเหมือนคนอายุ 18-19 ปี จึงร่วมประเวณีด้วยโดยความยินยอมของผู้เสียหาย ไม่มีความผิดฐานชำเราเด็ก ตามมาตรา 277 เพราะขาดเจตนา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11683/2556   จำเลยเบิกความว่า จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุประมาณ 18 ปี ถึง 19 ปี เพราะรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าอายุ หากดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุเกิน 18 ปีแล้ว เจ้าของร้านอาหารริมชีรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานเนื่องจากเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หากเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 จะรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อน บุคคลทั่วไปมองผู้เสียหายที่ 1 แล้วอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุ 17 ถึง 18 ปี จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารริมชีมาก่อนโดยทำงานตั้งแต่เวลา 9 ถึง 19 นาฬิกา อีกทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่านอกจากจำเลยแล้วยังมีชายอื่นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก 11 คน จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่ารูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปี จำเลยอาจสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกิน 18 ปี ดังที่อ้างก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องและทำให้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19960/2555   ขณะจำเลยรับผู้เสียหายเข้าทำงานไม่ได้ตรวจดูหลักฐานเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายก่อน ผู้เสียหายมีรูปร่างโตกว่าเด็กทั่วไปตัวใหญ่และมีส่วนสูงประมาณ 155 เซนติเมตร และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายของผู้เสียหายแล้วก็มีรูปร่างสูงใหญ่และลักษณะสูงใหญ่เกินกว่าเด็กหญิงที่มีอายุ 15 ปี โดยทั่วไป เช่นนี้จึงมีเหตุผลที่จำเลยจะเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายมีอายุ 17 ถึง 18 ปี การที่จำเลยสำคัญผิดเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายนี้เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง แม้จะมีบทบัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในมาตรา 276 วรรคแรก แต่เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดมาตรา 276 วรรคแรก

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 18 ปี จึงพาผู้เสียหายไปอยู่ในห้องนอนเพื่อจะร่วมประเวณีกัน ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 318 วรรคสาม เพราะขาดเจตนา 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9285/2556   เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว(ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงกว่าและอวบกว่าคนในวัยเดียวกัน รวมทั้งอยู่ในร้านอาหารที่ติดป้ายห้ามคนอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงาน) จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่ตนเองเอาไปทิ้งน้ำนั้นยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับไม่มีเจตนาฆ่าผู้อื่น จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 เพราะการกระทำขาดองค์ประกอบความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5729/2556  ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเช็คซึ่งตนเองนำไปเข้าบัญชีนั้นเป็นตั๋วเงินปลอม เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) จึงไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1761/2552   จำเลยนำเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมเข้าบัญชีจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินแทนนาง ย.โดยไม่ทราบว่าเป็นตั๋วเงินปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) และมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้ตั๋วเงินปลอม(ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้ร่วมทำปลอมโดยกรอกข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของนาย ส.ลงในเช็ค อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์ลายมือของผู้เขียนข้อความในเช็คก็น่าจะเป็นลายมือของบุคคลอื่น มิใช่ลายมือชื่อของจำเลยด้วย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน)

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จึงเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั้ว เท่ากับไม่มีเจตนาบุกรุก ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3714/2540  ที่ดินของผู้เสียหายไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยโต้เถียงตลอดมาว่า ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย ขณะที่จำเลยเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั้ว และก่อสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินจำเลยจึงไม่รู้ว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งตามมาตรา 59 วรรคสาม จะถือว่าจำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้จึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนาไม่มีความผิด
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เห็นจำเลยที่ 2 กับพวกอีกสี่คนกำลังปักหลักไม้และหลักคอนกรีตในที่ดินของผู้เสียหายประมาณ 10 หลัก ผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ขอดูหลักฐาน เมื่อผู้เสียหายเอาโฉนดให้จำเลยที่ 2 ดู จำเลยที่ 2 บอกว่าเป็นโฉนดปลอมผู้เสียหายจึงขอให้ไปตกลงที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนองเจ้าพนักงานตำรวจสอบสวนแล้วแนะนำให้ผู้เสียหายรังวัดสอบเขตที่ดินให้แน่นอนก่อนจำเลยที่ 2 ว่า หากรังวัดแล้วเป็นที่ดินของผู้เสียหายจะรื้อถอนหลักที่ปักไว้ออกไป และจะไม่เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีก พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ผู้เสียหายอ้างว่าเป็นที่ดินมีโฉนดจำเลยที่ 1 ว่าไม่มีโฉนด และเป็นฝ่ายครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ทั้งสองฝ่ายตกลงจะให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัด หากผลการรังวัดปรากฏว่าเป็นที่มีโฉนดจำเลยที่ 1 ยอมให้เป็นของผู้เสียหายและเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ตอนที่ผู้เสียหายนำชี้ให้ทำแผนที่เกิดเหตุยังไม่ทราบว่าสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำที่ดินพิพาทหรือไม่ ทราบว่ามีการรุกล้ำเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำรูปจำลองเสร็จแล้ว จำเลยทั้งสองเบิกความว่าครอบครองที่พิพาทมานานแล้ว เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยทั้งสองโต้เถียงตลอดมาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั้ว และก่อสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฟ้องนั้น จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้รู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ขณะเข้าไปปลูกสร้างดังวินิจฉัยข้างต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติว่า จะถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก และวรรคสอง ไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2264/2538  จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามและจำเลยที่ 2 ปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิกันและต่างฟ้องคดีแพ่งอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองโดยเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีเจตนาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362