14 มี.ค. 2567

บุคคลสาบสูญ

          การร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลสาบสูญ

          หลักเกณฑ์ตามมาตรา 61
          1. ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี หรือ
          2. ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาสองปีในกรณีต่อไปนี้
               (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
               (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
               (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
          3. เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5770/2548   เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พบรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะที่ ช. ใช้เดินทางกรณีจึงมิใช่ยานพาหนะที่ ช. เดินทางสูญหาย อันจะเข้าหลักเกณฑ์ระยะเวลา 2 ปี ที่จะร้องขอให้ ช. เป็นคนสาบสูญตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่จะต้องใช้หลักเกณฑ์ระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2535   ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ.เป็นคนสาบสูญโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ผ.แทนที่ ท. บิดาผู้ร้องซึ่งเป็นลุงของ ผ. ดังนี้ หากศาลสั่งให้ ผ. เป็นคนสาบสูญตามกฎหมาย ก็ต้องถือว่า ผ. ถึงแก่ความตายเมื่อครบ 7 ปี นับแต่ไปจากภูมิลำเนา คิดแล้วไม่เกินปี พ.ศ. 2476 เพราะ ผ. ไปจากภูมิลำเนาเมื่อปี พ.ศ. 2469 แต่ ท. บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2478 ดังนั้น ถึง ท.จะมีสิทธิรับมรดกของ ผ.ในฐานะลุงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผ.แทนที่ ท. เพราะขณะที่ถือว่า ผ. ถึงแก่ความตายนั้นท.ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ. เป็นคนสาบสูญ


          ผลของการที่ศาลสั่งเป็นบุคคลสาบสูญ
          บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 (มาตรา 62)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย...” หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552   ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

          การขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
          เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น (มาตรา 63 วรรคหนึ่ง)
          บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 63 วรรคสอง)