21 พ.ค. 2560

สิทธิและหน้าที่ของทายาทที่มีร่วมกันจนกว่าแบ่งมรดกเสร็จสิ้น

          ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทหลายคน ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดของเจ้ามรดกที่ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวย่อมตกแก่ทายาททุกคน ทายาททุกคนมีสิทธิและหน้าที่ร่วมกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้นจนกว่าการแบ่งมรดกจะเสร็จสิ้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ร่วมกันของทายาทนั้น มาตรา 1645 บัญญัติให้นำมาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 ในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในเรื่องมรดก บทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งนำมาใช้ ได้แก่
          (1) การจัดการมรดกต้องจัดการร่วมกัน
          (2) การใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกทั้งหมดต่อสู้บุคคลภายนอก
          (3) มีสิทธิใช้ทรัพย์มรดกและสิทธิได้ดอกผล
          (4) จำหน่ายทรัพย์มรดกส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์มรดกส่วนของตนได้
          (5) ร้องขอให้ศาลแบ่งทรัพย์มรดกได้หากไม่สามารถตกลงการแบ่งกันได้


          สิทธิของทายาทในกองมรดกก่อนแบ่งปันมรดก


          (1) ทายาทมีส่วนเท่ากันในมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานตามมาตรา 1746
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2519  โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์จำเลยได้ครอบครองที่นามรดกร่วมกัน 2 แปลง เรียกว่านา ต. กับนา ห. ต่อมาจึงแยกกันทำนา โดยโจทก์ทำนา ต.จำเลยทำนา ห. แต่จำเลยไปขอ น.ส.3 เป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวโจทก์ขอให้แบ่งกันคนละแปลง จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่นามรดกกับโจทก์คนละแปลง โดยให้โจทก์ได้นา ต. ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ จำเลยให้การว่าได้แบ่งมรดกกันแล้วโดยนา ต. กับนา ห. ให้แก่จำเลย ได้ความว่านาทั้งสองแปลงนี้เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์จำเลยได้รับมา โจทก์จำเลยแยกกันทำนาคนละแปลง แต่ต่างฝ่ายต่างครอบครองแทนอีกฝ่ายหนึ่งตลอดมา โจทก์จำเลยต่างยังเป็นเจ้าของนาทั้งสองแปลงร่วมกัน นา ต. ก็เป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะแบ่งให้แก่โจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงพิพากษาว่านาทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่โจทก์จำเลย ให้แบ่งนา 2 แปลงนี้ให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง

          (2) ทายาทมีสิทธิรับมรดกแม้จะเคยได้รับทรัพย์สินจากเจ้ามรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1747

          (3) ทายาทมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งมรดก โดยต้องใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีภายในอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ยกเว้นจะเป็นกรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คือ กรณีทายาทครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2493  การที่บิดาพูดรับรองในวันทำบุญ 7 วันศพภริยาจะแบ่งนาพิพาทให้บุตรทุกคน แล้วบิดาได้ครอบครองนาพิพาทต่อมาร่วมกับบุตรบางคน ดังนี้ ถือว่าบิดาได้ครอบครองนาพิพาทแทน
          สินสมรสระหว่างบิดามารดานั้น หากมารดาตาย แต่ถ้าบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรคงมีส่วนเฉพาะที่เป็นมรดกของมารดาเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราย ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2498  เมื่อได้ความว่าเจ้าหนี้ครอบครองที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกไว้ทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตลอดมา โดยทายาทมิได้ครอบครองมรดกนั้นด้วย ดังนี้ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ครอบครองในนามของผู้ตายหรือครอบครองแทนทายาทของผู้ตายร่วมกัน และอายุความที่เกี่ยวกับฟ้องขอให้แบ่งที่พิพาทระหว่างทายาทด้วยกันนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับบท มาตรา 1754 (อายุความ 1 ปี)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดก ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้

          (4) ทายาทมีสิทธิตามข้อตกลงไม่ให้แบ่งมรดก คือ ทายาทอาจตกลงกันไม่ให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ได้ แต่ข้อตกลงห้ามแบ่งมรดกนี้จะกำหนดเกินคราวละสิบปีไม่ได้

          (5) ทายาทมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีมรดก ตามบทบัญญัติมาตรา 1749 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2491  ผู้ตายมีภริยาคือโจทก์และนางผิวเล็ก โจทก์ฟ้องแบ่งมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายกับนางผิวเล็กกึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 แล้ว ต้องแบ่งตามมาตรา 1635 และ  1636 กล่าวคือ โจทก์และนางผิวเล็กสองคนรวมกันได้หนึ่งส่วน จำเลยเป็นบุตรได้หนึ่งส่วน ระหว่างโจทก์กับนางผิวเล็กได้ในส่วนนั้นคนละครึ่ง และเห็นว่าการแบ่งต้องแบ่งให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ จะแบ่งให้กึ่งหนึ่ง โดยเอาส่วนของนางผิวเล็กไปให้โจทก์ด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอส่วนแบ่งในนามของนางผิวเล็กด้วย การแบ่งนี้ไม่ขัดกับมาตรา 1749  คำว่า "กันส่วนไว้เพื่อทายาทอื่น" ตามมาตรา 1749 ห้ามนั้น หมายความว่า กันไว้เพื่อทายาทนั้นมารับเอาไปได้ทีเดียว โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาเมื่อก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 6 เรื่องนี้ ถ้านางผิวเล็กต้องการส่วนของตน จะมารับเอาไปจากศาลไม่ได้ จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ การแบ่งให้โจทก์เพียง 1 ใน 4 เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการกันส่วนไว้เพื่อนางผิวเล็กไม่ แต่เป็นการแบ่งให้ตามสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับ

          (6) ทายาทมีสิทธิฟ้องคดี ถึงแม้จะมีผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2543  แม้มรดกนั้นจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้สินของกองมรดกอันเป็นการรักษาสิทธิอันจะพึงตกแก่กองมรดกได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์มรดกนั้นก็จะตกยังทายาท เมื่อมีทายาทหลายคนทายาทแต่ละคนก็ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของตามส่วนที่ตนจะพึงได้ ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก รวมถึงการเรียกร้องเอาทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ซึ่งมาตรา 1745 ก็ให้นำมาใช้บังคับได้ ทั้งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะ 4 อันว่าด้วยวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกก็มิได้ห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องในกรณีเช่นนี้ แต่จะเห็นได้ตามมาตรา 1737 ว่าแม้แต่เจ้าหนี้กองมรดกจะฟ้องร้องทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้มรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วเจ้าหนี้ก็ยังฟ้องร้องทายาทได้ แต่เพื่อความสะดวกก็ให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วยจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องดังเช่นคดีนี้ โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10484/2551  แม้จำเลยที่ 2 และ ฉ. จะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แล้ว ก็หาทำให้สิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ อ. ที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากบุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ของ อ. สิ้นไปแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิไว้ เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย หนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจาก อ. ก็ตกเป็นสิทธิของทายาทของ อ. รวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกองมรดกจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กลับกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก หากทายาทไม่มีอำนาจฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก



11 พ.ค. 2560

สิทธิในการขอแบ่งมรดกของทายาทที่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก

          มาตรา 1748  "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
          สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
       

          ก. การครอบครองทรัพย์มรดก


          (1)  การครอบครองตามมาตรา 1748 มีความหมายถึงการครอบครองทั่วไป กล่าวคือ การยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนในฐานะทายาท ซึ่งการครอบครองนี้อาจมีการครอบครองแทนกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาทและให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายนั้นถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราบ  ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครองคงถือว่าทายาทที่ลอบไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้นและคดีไม่ขาดอายุความมรดก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506 (ประชุมใหญ่)  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาทก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเป็นเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยคนเดียว ขอให้แบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 3 ส่วน แต่ปรากฏว่าคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความมรดกแล้ว โจทก์ที่ 2 คงมีสิทธิรับมรดกร่วมกับจำเลยเพียง 2 คนดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 2 ส่วน ไม่ได้เพราะเกินคำขอ  คงพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 3 ส่วนตามคำขอ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2505)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2508  การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538  จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
          กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2540  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การที่ผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งทายาทคนหนึ่งของผู้ตาย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อการยกให้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาไปยังทายาทคนอื่นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557  การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557  อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้      
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2537  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินโดยโจทก์ทั้งสี่และ ส. เจ้ามรดกตกลงให้จำเลยทั้งสองใส่ชื่อไว้แทน แสดงว่าที่ดินมิใช่ของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสี่และ ส. ให้จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้แทนเท่านั้น สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ยังเป็นของทายาททุกคน มิใช่ของจำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่หากฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นความจริงแล้ว คำขอบังคับก็เป็นการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดิน และการให้ไปในตัว โจทก์ทั้งสี่ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดินและการให้เสียก่อน ดังนั้น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสี่จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ   หลังจาก ผ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์บางคนร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยทั้งสองมีชื่อในที่ดินพิพาทเป็นการถือสิทธิและครอบครองแทนทายาทโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ส.และผ. ย่อมมีสิทธิฟ้องแบ่งมรดกได้แม้จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย


          ***ผู้จัดการมรดกถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาทจนกว่าการจัดการมรดกจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553  ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาท แสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8267/2538  จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกย่อมเป็นตัวแทนของทายาทคือโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ตามป.พ.พ.มาตรา 1720 ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสองแปลงไว้ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วยตลอดมา จำเลยจะอ้างว่าจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ผู้เดียวโดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือหาได้ไม่ หากจำเลยประสงค์จะครอบครองที่ดินแต่ผู้เดียว จำเลยจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจะไม่ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังอยู่ในระหว่างการจัดการ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมไม่มีสิทธิอ้างอายุความมรดกขึ้นต่อสู้เพื่อที่จะบอกปัดไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ และเมื่อถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแทนโจทก์ด้วยตลอดมาเช่นนี้แล้วคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความมรดก
          ***ทรัพย์มรดกที่อยู่ระหว่างการแบ่งปันยังไม่เสร็จสิ้น ต้องถือว่าทายาทนั้นครอบครองแทนทายาทอื่นทุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2539  แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอให้ทางราชการออกเลขที่บ้านให้โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นเจ้าบ้านในหลักฐานทะเบียนราษฎร์ ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ผู้ขอออกเลขที่บ้านและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านจะมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าว เพราะหลักฐานดังกล่าวมิใช่หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ต้องการทราบว่าในหมู่บ้านนั้นมีบ้านอยู่กี่หลัง และมีคนอาศัยอยู่ในบ้านที่ขอออกเลขที่บ้านกี่คน เพื่อประโยชน์ในทางทะเบียนราษฎร์เท่านั้น เมื่อรูปคดีฟังได้ว่าบ้านพิพาทเป็นของเจ้ามรดกจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่บรรดาทายาททุกคน เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในปี 2528 ทายาทของเจ้ามรดกตกลงกันว่าทายาทจะยังไม่แบ่งมรดกกันจนกว่าจะมีการเผาศพเจ้ามรดกเสียก่อน และได้มีการเผาศพเจ้ามรดกหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 2 ปี นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานว่ามรดกของเจ้ามรดกยังอยู่ในระหว่างการแบ่งปันของบรรดาทายาท เมื่อมรดกยังแบ่งกันไม่เสร็จ แม้ทายาทคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเป็นผู้ครอบครองมรดกอยู่ก็ต้องถือว่าทายาทคนนั้นหรือเหล่านั้นครอบครองมรดกแทนบรรดาทายาทอื่นด้วยทุกคน แม้จะล่วงเลยเวลา 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นก็ชอบที่จะฟ้องขอแบ่งมรดกได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามครอบครองที่ดินและบ้านพิพาททั้งสองหลังอันเป็นมรดกแทนผู้ตายซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วยคนหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2537  ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ยังแบ่งปันกันไม่เสร็จ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปัน ถือว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเอาไว้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกของ ส. ซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีส่วนได้รับนั้นได้จำเลยจะยกเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          ***ผู้เช่าที่ดินมรดกต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกตาย ถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542   ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบและมีการกำหนดเวลาให้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
          ***แต่การครอบครองเพียงโฉนดที่ดินนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2555  โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการที่ ก. ครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดก ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ล. กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

          (2) ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดก
          ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดกที่จะทำให้มีผลตามมาตรา 1748 นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องครอบครองนานเท่าใด ดังนั้น แม้จะเข้าไปครอบครองเพียงหนึ่งวันก็ถือว่าทายาทนั้นได้เข้าไปครอบครองแล้ว แต่การเข้าไปครอบครองจะต้องเริ่มต้นภายในอายุความด้วย มิฉะนั้นทายาทอื่นย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2508  เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา ต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่น จำเลยจึงครอบครอบทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครองครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375        

          (3) การครอบครองตามมาตรา 1748 มีผลเฉพาะในทรัพย์สินที่ครอบครองเท่านั้น
          ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกอันมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายความถึง การเรียกร้องเอาเฉพาะทรัพย์มรดกที่ครอบครองเท่านั้น การครอบครองนั้นไม่มีผลทำให้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกอย่างอื่นที่ตนไม่ได้ครอบครองแต่อย่างใด

          ข. ข้อตกลงมิให้แบ่งมรดก ตามมาตรา 1748 วรรคท้าย

          สิทธิที่จะแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของรวมนั้น เจ้าของรวมอาจตกลงกันมิให้แบ่งก็ได้ โดยข้อตกลงนี้อาจทำได้เป็นคราวๆไป ครั้งละไม่เกิน 10 ปี


9 พ.ค. 2560

สิทธิในการสืบมรดกโดยผู้สืบสันดานของทายาท

          การสืบมรดก ตามมาตรา 1615 วรรคสอง นั้น เป็นกรณีที่ "เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้น ต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น" 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2518   การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทำได้ต่อเมื่อหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว และผู้สละเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นด้วย หากเจ้ามรดกยังไม่ตายก็ย่อมจะไม่มีมรดกตกทอดเพื่อให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกสละได้ ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 1615 บัญญัติให้การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
          เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2501 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2504 ผู้ร้องและเจ้ามรดกได้ทำสัญญากันมีใช้ความว่า ผู้ร้องไม่ขอเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของเจ้ามรดก นอกจากนา 10 ไร่ และยุ้งข้าวครึ่งหนึ่งแล้ว ผู้ร้องยอมสละสิทธิหมดทุกอย่างเท่าที่มีสิทธิจะพึงได้ ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ดังนี้สัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดก เพราะได้ทำไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ไม่มีผลกระทบกระเทือนพินัยกรรมของเจ้ามรดกที่ทำไว้ข้างต้น และเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย จึงชอบที่จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2544  การสละมรดก หมายถึงการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งมาตรา 1615 วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น หนังสือตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยจะยกให้เด็กหญิง ด. แต่ผู้เดียว แต่ผู้ร้องและผู้คัดค้านยังประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอยู่ จึงมิใช่เป็นการสละมรดก ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961-3962/2528  มารดาของจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และเจ้ามรดก เมื่อมารดาจำเลยสละมรดก จำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมีสิทธิสืบมรดกได้ตามมาตรา 1615 และมีฐานะเป็นทายาทของเจ้ามรดก ในลำดับเดียวกับโจทก์ มีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามมาตรา 1755


7 พ.ค. 2560

การใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งและฟ้องเรียกค่าเสียหาย ใช้กำหนดระยะเวลายื่นฟ้องคดีที่ต่างกัน

          การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง อันเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้น มาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้ยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่วนการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายหรือขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่ง ซึ่งเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) กฎหมายฉบับเดียวกัน ในมาตรา 51 ได้กำหนดให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่หากเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งมิได้ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำสั่งทราบ ผลทางกฎหมายจะทำให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องซึ่งมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปีขยายไปเป็นหนึ่งปี ทั้งนี้ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
          ดังนั้น การฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งก็คือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หรือวันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ก่อนฟ้องคดี  แต่หากผู้มีหน้าที่ไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้เดือดร้อนเสียหายจะต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว การนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ย่อมส่งผลให้ศาลไม่อาจรับคำฟ้องและไม่อาจสั่งให้เพิกถอนได้ถึงแม้คำสั่งที่พิพาทจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม โดยคำสั่งดังกล่าวจะยังมีผลต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ทั้งนี้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ทำให้มีปัญหาต่อไปว่า หากพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อขอเพิกถอนคำสั่ง แต่ยังไม่พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิจารณาเฉพาะกรณีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งได้หรือไม่?
          มีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ ข้อเท็จจริงมีว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นนายแพทย์ ได้เข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลตำบลความฝัน ซึ่งแพทย์ที่ปฏิบัติงานตามโครงการดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน ต่อมาได้มีการจัดประกวดโครงการนวัตกรรมหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าดีเด่น ผลการตัดสินได้แจ้งว่านวัตกรรมด้านบริการของโรงพยาบาลตำบลชวนชื่นที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่เมื่อถึงกำหนดวันไปรับรางวัลกลับเป็นสาธารณสุขอำเภอที่ได้รับรางวัลดังกล่าวแทน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนและบุคลากรของโรงพยาบาลตำบลชวนชื่น จึงได้มีการมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีไปสอบถามเหตุผลจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำอำเภอ จนเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ต่อมาผู้อำนวยการฯ ได้มีคำสั่งยกเลิกเงินค่าตอบแทนต่างๆ ของผู้ฟ้องคดี แล้วสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยไม่ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐานใดๆ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องทุกข์ต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความเป็นธรรม แต่ก็ไม่มีการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องผู้อำนวยการโรงพยาบาลและพวกต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ยกเลิกเงินค่าตอบแทนดังกล่าว รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นการฟ้อง 2 ข้อหาพร้อมกัน
          ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า หากฟ้องเพิกถอนคำสั่งไม่ได้เพราะเหตุพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ก็จะไม่สามารถฟ้องกรณีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งดังกล่าวได้ด้วย แม้ข้อหาที่สองจะยังอยู่ในระยะเวลาการฟ้องคดีก็ตาม
          แต่ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นต่างจากศาลปกครองชั้นต้น โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะยังมีผลบังคับต่อไปเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องเพิกถอนเมื่อพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ได้นำคดีมาฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คำสั่งนั้นจะกลายเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ หากแต่ศาลยังคงมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ เพียงแต่ไม่อาจเพิกถอนได้
          ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งมาพร้อมกับฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินค่าตอบแทนพิเศษด้วย ซึ่งในข้อหาที่หนึ่ง ศาลไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้เพราะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว แต่ศาลยังสามารถที่จะรับคำฟ้องในข้อหาที่สอง คือ การฟ้องขอให้ชดใช้เงินค่าตอบแทนพิเศษซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีได้ และศาลย่อมมีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้เพราะการจะพิจารณากำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าตอบแทนในประเด็นละเมิดอันเกิดจากคำสั่งได้ จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าคำสั่งที่พิพาทเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดจึงกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับข้อหาที่สองไว้พิจารณาตามรูปคดีต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 849/2549)
          จึงสรุปได้ว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น หากพ้นระยะเวลาการฟ้องเพิกถอนคำสั่งแล้ว ผู้เดือดร้อนเสียหายยังสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในข้อหาละเมิดได้ แต่จะต้องอยู่ในระยะเวลาการฟ้องคดีละเมิดคือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีซึ่งถือเอาวันเดียวกันกับวันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องเพิกถอนคำสั่ง (แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี) ทั้งนี้ การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีละเมิดนี้ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับคืนตามส่วนที่ชนะคดี


4 พ.ค. 2560

ผู้จำนองจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองนั้น บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของไม่มีสิทธิจำนอง

          การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว บุคคลอื่นจะจำนองหาได้ไม่ (มาตรา 705) แม้ผู้รับจำนองจะรับจำนองไว้โดยสุจริต แต่ถ้าปรากฏว่าผู้จำนองไม่ใช่เจ้าของ สัญญาจำนองย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าแม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ตาม แต่ในเรื่องจำนองกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าถ้ารับจำนองโดยสุจริตแล้วจะได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น เจ้าของที่แท้จริงจึงสามารถฟ้องเพิกถอนการจดจำนองที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 705 เสียได้

          กรณีปลอมหนังสือมอบอำนาจไปจำนองโดยที่เจ้าของไม่ได้ประมาทเลินเล่อ นิติกรรมจำนองนั้นไม่มีผลผูกพันเจ้าของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2555   โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดจำนองที่ดินพิพาทและลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่เป็นเอกสารและโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกลักไปไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่อย่างใดแม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างยันแก่โจทก์ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548  จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705

          ซื้อที่ดินมือเปล่าโดยเจ้าของเดิมส่งสอบการครอบครองที่ดินให้แล้ว ที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ซื้อ เจ้าของเดิมไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นอีกต่อไปและไม่มีสิทธินำที่ดินไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วนำไปจดจำนอง การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2552   ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากนาย ค. นาง บ. ผู้เป็นเจ้าของ เมื่อนาย ค. นาง บ. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้วการครอบครองที่ดินพิพาทของนาย ค. นาง บ. จึงสิ้นสุดลง ผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 และ 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของผู้ร้อง
          เมื่อนาย ค. นาง บ.ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ ทายาทของนาย ค. กับนาง บ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของตน และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยหามีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่โจทก์ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะอ้างสิทธิที่เกิดจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551   จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้วดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เพราะผู้ที่จะจำนองทรัพย์สินได้ต้องเป็นเจ้าของในขณะนั้น การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยที่ 1 จดเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อโจทก์นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป. ที่ดิน

          ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในภายหลังนั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดจำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2544    คำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก. ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ ว. ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการขายทอดตลาด และไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนสิทธิครอบครองให้แก่ ว. ทั้ง ว. ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด จึงไม่อาจอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองและจดทะเบียนโดยสุจริตและไม่อาจอ้างว่าคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ผูกพันผู้ร้องได้ เมื่อ ว. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินและไม่อาจนำมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 ทั้งการจดทะเบียนจำนองเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 702 แต่การเพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตา 296 วรรคสอง (เดิม)เป็นคนละกรณีไม่เกี่ยวข้องกัน ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะปฏิเสธไม่ส่งมอบต้นฉบับ น.ส.3 ก ตามคำสั่งศาลชั้นต้น

          กรณีนิติกรรมการโอนทรัพย์มรดกตกเป็นโมฆะ  ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดก สัญญาจำนองที่ผู้รับโอนในฐานะส่วนตัวทำกับผู้รับจำนองก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่ผู้รับจำนองที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551   ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550   ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11978/2547  จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิรับมรดกของ ค. เนื่องจาก ค. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์กับพวก แต่ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ต่อศาล จนกระทั่งศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก และเมื่อได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปขอใบแทนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ทั้งที่ขณะนั้นโฉนดที่ดินตัวจริงอยู่กับโจทก์ จากนั้นจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ที่ดินเป็นชื่อของตนโดยใช้ใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน การได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นการได้มาโดยทุจริตอาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิด และการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ย่อมเป็นตัวแทนบรรดาทายาทในการจัดการมรดก จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ ค. ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ค. มาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมและเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก จึงไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยสุจริตตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ค. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1712 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของกองมรดกของ ค. อยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเสียแล้ว ก็ไม่มีสิทธิจะเอาที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ผู้ใดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตามการจำนองจึงไม่ผูกพันโจทก์

          เมื่อการจำนองที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่เจ้าของนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้วโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นเสียได้การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การพิจารณาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง หาเป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

          จดจำนองเฉพาะส่วน ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะส่วนเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันที่ดินทั้งแปลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2540   จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลย โจทก์ชอบที่จะบังคับจำนองได้เฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินทั้งหมดเป็นการไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง


2 พ.ค. 2560

การส่งหมายมิชอบ ต้องถือว่ากระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นไม่ชอบด้วย

          การส่งหมายนั้นจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งต้องส่งให้คู่ความหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในหมายนั้น โดยต้องส่งไปที่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น หากส่งไปที่อื่นหรือกรณีที่ผู้รับแทนเป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ย่อมมีผลให้การส่งหมายนั้นไม่ชอบ ผลก็คือกระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นต้องเสียไป ซึ่งศาลสามารถมีคำสั่งให้เพิกถอนเสียได้
          ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558  การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21(2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ตามคำแถลงลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นส่งคำคู่ความใหม่ แล้วไต่สวนและมีคำสั่งต่อไปนั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องแล้วตรวจพบว่า นาย ช. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทถึงแก่ความตาย และมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอจัดการมรดกนาย ช. เจ้ามรดกอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกัน ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม ย่อมถือได้ว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาทตามคำแถลงลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของนาย ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของนาย ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น


          การส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2558  การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องเป็นการดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะการแจ้งให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์ภาค 4 แม้ผลคดีเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง ภายใน 8 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้อง กระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นการไม่ชอบเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หลงผิดมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ ทางแก้ คือ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบได้ หาใช่เรื่องที่ผู้ร้องจะต้องแก้ไขโดยใช้สิทธิฎีกาเพียงทางเดียว แม้การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งเสียเองโดยลำพังให้เพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าก่อนไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่โจทก์และจำเลยทราบโดยชอบแล้ว โจทก์และจำเลยมิได้คัดค้านทั้งปรากฏว่าผู้ร้องได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้องครบถ้วนแล้วตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาในประเด็นที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องเพิกถอนการขายทอดตลาด
          ผู้ร้องระบุยืนยันที่อยู่ในคำร้องขอตั้งแต่แรกแล้วว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความยอมรับว่าผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2558   คำร้องขอของผู้ร้องระบุแต่แรกว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงค์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหลายคนส่งจดหมายไปที่บ้านดังกล่าว ทั้งคดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ที่บ้านดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่มีชื่อผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ
          เมื่อผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง การที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์ หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2559   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพิพาทว่าตนไม่ใช่บริวารศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวนและเจ้าหน้าที่ศาลได้นัดไต่สวน โดยผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเสียใหม่จากเดิมที่นัดไว้ และผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง และการแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้ร้องทราบนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสาร ที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์นั้น หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
          คำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แต่ผู้ร้องใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ดังนี้ จะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2552   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่าเลขาธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ทราบ เพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ไม่อาจทราบประกาศแต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
          ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่สำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย จะใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์ไม่ได้ การที่ศาลอนุญาตจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4276/2532   ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88, 90 การยื่นบัญชีระบุพยานและการส่งสำเนาเอกสารนั้นใช้บังคับเฉพาะการสืบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นแห่งคดีที่พิพาทไม่ใช้บังคับในการไต่สวนคำร้องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดี   ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 1274/115 อันเป็นสำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบคำฟ้องและวันนัดสืบพยาน กรณีมีเหตุที่จะให้พิจารณาใหม่
          การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยทางไปรษณีย์ตอบรับ หากผู้รับมีอายุยังไม่เกิน 20 ปี การส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2536   การส่งประกาศขายทอดตลาดโดยทางไปรษณีย์ตอบรับหากผู้รับประกาศขายทอดตลาดมีอายุ 17-18 ปี การส่งเอกสาร ดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ,76
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ตอบรับและมีผู้รับไว้แล้ว แต่ได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ว่าผู้รับประกาศขายทอดตลาดมีอายุ 17 -18 ปี ฉะนั้น การส่งเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ, 76 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบวันขายทอดตลาด และในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 การขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
          พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 839 ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5606/2530   เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งความและเตือนให้ผู้ร้องชำระหนี้โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องมิได้รับหนังสือดังกล่าวด้วยตนเอง แต่มีบุตรของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ร้องซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบปีเป็นผู้รับแทนทั้งสองครั้ง การส่งเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ, 76 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2536    ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76 บุคคลที่รับคำคู่ความหรือเอกสารไว้แทนจะต้องอายุเกินยี่สิบปีแต่คดีนี้เด็กหญิง ก. หลานสาวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับหนังสือยืนยันหนี้ไว้แทนผู้ร้องมีอายุเพียง 14 ปี เท่านั้น การส่งหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2533 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำแจ้งความยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านในวันที่ 3 มกราคม 2534 จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องยื่นเกินกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยันหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 119 วรรคสอง การส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2524 ข้อ 353 เป็นเรื่องการส่งจดหมายทั่วไปมิใช่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76
          ถ้าย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายและคำพิพากษาคดีหลักถึงที่สุดไปก่อนแล้ว ก็ไม่ต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป ดังนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ส่งไปยังภูมิลำเนาเดิมจึงเป็นการไม่ชอบ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 74(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2553    จำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าคดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป และไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดีนี้ของจำเลยที่ 1 เพราะภูมิลำเนาของบุคคลย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมด้วยเจตนาชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41
          ผู้ร้องทราบว่าจำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาใหม่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องในคดีนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วนหรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1โดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดเสียก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำสั่งดังกล่าวของศาลล่างทั้งสองเสียได้ตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1
          ย้ายภูมิลำเนาใหม่พร้อมแนบเอกสารแสดงภูมิลำเนาใหม่มาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ดังนี้ การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2553   โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 เป็นบ้านเลขที่ 9/81 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2550 นอกจากนี้ตามคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำแถลงรวมทั้งหนังสือรับรองของโจทก์ที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาก็ได้ระบุภูมิลำเนาแห่งใหม่ของโจทก์ไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ ที่ทำการใหม่แล้ว ตั้งแต่ก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่ง ดังนั้น การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าโจทก์รับหมายนัดและสำเนาฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ใหม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ามีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาให้โจทก์หรือไม่
          เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่อื่น ไม่ตรงตามคำสั่งศาล การส่งหมายจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852/2551  โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำเลย โจทก์ได้แถลงยืนยันภูมิลำเนาของจำเลยว่า ปัจจุบันจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลย ณ บ้านหลังดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้มีคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลยได้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย  เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้ปิดหมายไว้ ณ บ้านหลังดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายดังที่ได้ประทับข้อความไว้ในหมายนัด แต่เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 65/71-72 ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ไม่ตรงตามคำสั่งศาล จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
          ผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย การส่งหมายไปยังภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 74(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2549   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ไม่ชอบ เนื่องจากผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย ตามแถลงของโจทก์นับว่ามีเหตุที่จะต้องทำการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนว่า ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านที่มีการส่งหมายหรือไม่เพราะหากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้อง การส่งหมายก็จะไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้อง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ทำการไต่สวนจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งดังกล่าวตามาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
          แม้ส่งคำคู่ความไม่ชอบ แต่เมื่อได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบแล้ว เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2547   จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)