10 มี.ค. 2567

สิทธิในการรับมรดกบิดาของบุตรนอกสมรส

 

          บุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมาย ซึ่งเกิดจากหญิงผู้เป็นมารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชายผู้เป็นบิดา แม้กฎหมายถือว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้เป็นมารดา (ป.พ.พ.มาตรา 1546) แต่ก็ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา เว้นแต่บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร (ป.พ.พ.มาตรา 1547) 

          อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นบุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง(โดยพฤติการณ์)แล้ว  กฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในกองมรดกของบิดาเท่าๆกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 1627) ทุกประการ รวมถึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดานั้นด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538  ม. และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกันเป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม. ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม. ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2537  ผู้ตายได้แสดงออกกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า นาย ต. เป็นบุตรของผู้ตายและพักอาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้ตาย และให้ใช้นามสกุลของผู้ตายด้วย เมื่อครั้นนาย ต. แต่งงานกับมารดาของผู้คัดค้านก็ได้มาอยู่กินกันที่บ้านของผู้ตายตลอดจนผู้คัดค้านเกิด ผู้ตายก็แสดงออกว่าผู้คัดค้านเป็นหลานของผู้ตาย จึงฟังได้ว่านาย ต.เป็นบุตรของผู้ตายซึ่งผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เมื่อนาย ต. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแทนที่นาย ต.

          เมื่อบิดาเสียชีวิตและยังมีทายาทซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้แสดงการรับรองไว้แล้วนั้น ย่อมมีผลทำให้ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดไปหลังจากนั้น ยกเว้นบิดามารดาของเจ้ามรดก หมดสิทธิในกองมรดกของเจ้ามรดก (ป.พ.พ.มาตรา 1629)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2537  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังอันดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานซึ่งตามมาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2537  ผู้ตายแนะนำผู้คัดค้านที่ 1 ต่อบุคคลอื่นว่าผู้ตายเป็นบิดาให้ความอุปการะเลี้ยงดูส่งเสียเล่าเรียน ทั้งระบุในใบสมัครสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรให้เป็นผู้รับประโยชน์ด้วย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ย่อมถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนรับรองและไม่จำต้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้สืบสันดาน โดยเป็นทายาทลำดับ 1 ส่วนผู้ร้องเป็นทายาทลำดับ 3 จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายแม้ผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับผู้คัดค้านทั้งสองก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองด้วยกันเอง และทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับการมีสิทธิรับมรดกแต่อย่างใดไม่ก่อให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้


          พฤติการณ์ที่ถือว่าบุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมายนั้น บิดาได้รับรองว่าเป็นบุตรของตนแล้ว

          1. ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7272/2562  โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเนื่องจากโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามมาตรา 1627 ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก และส่วนที่สองคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้ามรดกที่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของตน เช่น เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งเกิดให้แก่โจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของตน ยอมให้ใช้ชื่อสกุล เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนแนะนำและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปอย่างเปิดเผยว่าโจทก์เป็นบุตร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2534   พฤติการณ์ที่ พ. พาโจทก์ไปมอบตัวตามโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนบิดากับบุตรโดยทั่วไปได้ปฏิบัติกัน และปฏิบัติต่อโจทก์อย่างโจทก์เป็นบุตรของตนเช่นนี้ถือได้ว่า พ. ได้รับรองโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายว่าเป็นบุตรของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2537   ผู้ตายพามารดาผู้คัดค้านที่ 3 ไปคลอดที่โรงพยาบาลกับแจ้งว่าเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ออกค่าใช้จ่ายการคลอด และรับกลับจากโรงพยาบาล ส่งเสียให้เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนตลอดมา ทั้งยังพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปสมัครงานโดยใบสมัครงานระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากนี้ผู้ตายยังเคยพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปเที่ยวเป็นประจำ พฤติการณ์ที่ผู้ตายปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของตนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

          2. บิดาแจ้งการเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบุตรของตน และยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของบิดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2559  แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556  เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552  เด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713

          3. บิดาแจ้งย้ายชื่อบุตรเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2534   การที่ ค. เจ้าบ้านแจ้งย้ายผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในบ้านต่อนายทะเบียนในฐานะบุตรของตน ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ ค. บิดารับรองแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของ ค. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627

          4. บิดาแสดงออกโดยเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นบุตรของตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2549  ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิต ผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายถูกคุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งมารดาของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544  ป. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกและ บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รับรู้ของบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป และมีบุตรด้วยกันก่อนโจทก์แล้วคนหนึ่งซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ป. ถึงแก่ความตายขณะ บ. ตั้งครรภ์โจทก์ พฤติการณ์ของ ป. และบ. ที่ปฏิบัติต่อกันแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ป. ยกย่อง บ. เป็นภริยาและยอมรับว่าเด็กที่เกิดจาก บ. เป็นบุตร บ. ตั้งครรภ์โจทก์ขณะที่ ป. ยังไม่ถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่าป. ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์ บ. ไม่ใช่เป็นบุตรของ ป. จึงต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรและต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บ. แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. และเป็นทายาทของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1604
          เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1205/2542  แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านกับสำเนาทะเบียน นักเรียนระบุว่า ล. เป็นบิดาโจทก์ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยใช้นามสกุลของผู้ตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายรับโจทก์มาอยู่กับผู้ตายที่บ้านและจำเลยที่ 3 ระบุในบัญชีเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกต่างมารดาเท่ากับยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย เมื่อได้ความว่าผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้โจทก์เรียนตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งผู้ตายยังเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้โจทก์ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวที่ผู้ตายแสดงต่อโจทก์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4), 28(2)  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2538  ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับ อ.เจ้ามรดก อ. มิได้จดทะเบียนสมรสกับ พ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายของ อ. ผู้ร้องนำสืบสมุดรายงานประจำตัวนักเรียนของผู้ร้องในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญซึ่งมีข้อความระบุว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ อ. กับ พ. กับมีข้อความที่ อ. ได้บันทึกลงในช่องความเห็นผู้ปกครองแล้วลงลงชื่อกำกับไว้ทั้ง อ. เคยพาผู้ร้องไปให้พระภิกษุเปลี่ยนชื่อให้นอกจากนี้ในใบมอบตัวสำหรับนักเรียนเข้าใหม่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญก็มีข้อความระบุว่า อ. เป็นบิดาของผู้ร้องและมีลายมือชื่อของ อ. ลงไว้ในฐานะผู้ปกครองของผู้ร้องถือได้ว่า อ. ได้รับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตรของตนแล้ว

          ทั้งนี้ แม้ว่าบุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองแล้วจะมีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่ในทางกลับกัน หากบุตรนอกกฎหมายเสียชีวิตก่อนบิดา บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสแต่อย่างใด 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551  ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

          อนึ่ง เมื่อกรณีที่เป็นบุตรนอกกฎหมาย บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู ดังนั้น ถ้าบิดาต้องเสียชีวิตลงเพราะถูกผู้อื่นทำให้ตายโดยละเมิด บุตรนอกกฎหมายไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2543  โจทก์เป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของนาง ด.กับนาย ป.ผู้ตาย ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และผู้ตายก็ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์เป็นบุตร นาย ป.เพียงแต่ให้ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และตามป.พ.พ. มาตรา 1564 บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามมาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่า เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลทำให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 เท่านั้น เมื่อนาย ป.ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลย ผู้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้นาย ป.ถึงแก่ความตาย กรณีดังกล่าว ป.พ.พ.บรรพ 5 ในเรื่องครอบครัวก็ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับไม่ได้