9 มี.ค. 2567

นายจ้างต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้าง

          ความรับผิดของนายจ้างในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำ


          มาตรา 425  "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"

          มาตรา 426  "นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น"

          การเป็นนายจ้างและลูกจ้างนั้น ย่อมต้องเป็นไปตามมาตรา 575 " อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ "

          หากเป็นกรณีที่ผู้ทำละเมิดนั้นมิใช่ลูกจ้างของตนแล้ว ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523  จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและเฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของ งานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์
          ผู้เช่าเหมาเรือจากเจ้าของเรือ โดยอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและการจัดการเกี่ยวกับเรือยังอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของเรือ ไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดที่ลูกเรือกระทำขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8174/2557  ตามสัญญาเช่าเหมาเรือลงวันที่ 21 มกราคม 2553 ข้อ 6 เอ ซีและดีมีใจความโดยสรุปว่า การเช่าเรือครั้งนี้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือมุ่งหมายเอาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือเป็นสำคัญ ส่วนการเดินเรือและการจัดการเกี่ยวกับเรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยร่วม แต่เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของบริษัท ด. ยิ่งไปกว่านั้นในข้อ 7.เอ ยังมีข้อความระบุว่าบริษัท ด. มีหน้าที่จัดหาและจ่ายเสบียงอาหาร ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่และลูกเรือด้วยตนเอง จำเลยร่วมไม่มีส่วนรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย คงรับผิดชอบชำระค่าเรือให้แก่บริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเท่านั้น ลูกเรือของเรือเฮอริเทจเซอร์วิสและจำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่จำต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือเฮอริเทจเซอร์วิสจากบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือลำดังกล่าวต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อที่ลูกเรือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าเหมาเรือลงวันที่ 21 มกราคม 2553 ข้อ 6 เอ, ซีและดีมีใจความโดยสรุปว่า การเช่าเรือครั้งนี้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือมุ่งหมายเอาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือเป็นสำคัญ ส่วนการเดินเรือและการจัดการเกี่ยวกับเรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยร่วม แต่เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของบริษัท ด. นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือที่จะพิจารณาและตัดสินใจ เพื่อให้การเดินเรือมีความปลอดภัย หากจำเลยร่วมไม่พอใจในการปฏิบัติงานของเรือ เจ้าหน้าที่หรือลูกเรือคนใด จำเลยร่วมไม่มีอำนาจที่จะสั่งการสั่งให้หยุดงานหรือเปลี่ยนตัวนายเรือ เจ้าหน้าที่หรือลูกเรือคนใดได้โดยลำพัง แต่ต้องร้องเรียนต่อนายเรือเพื่อให้นายเรือดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หากผลการสอบสวนเป็นไปตามคำร้องเรียนของจำเลยร่วม นายเรือก็จะสั่งให้เปลี่ยนแปลงตัวเจ้าหน้าที่หรือลูกเรือและสั่งตั้งบุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่ทดแทนได้ ยิ่งไปกว่านั้นในข้อ 7.เอ ยังมีข้อความระบุว่าบริษัท ด. มีหน้าที่จัดหาและจ่ายเสบียงอาหาร ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่และลูกเรือด้วยตนเอง จำเลยร่วมไม่มีส่วนรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย คงรับผิดชอบชำระค่าเรือให้แก่บริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเท่านั้น ลูกเรือของเรือเฮอริเทจเซอร์วิสและจำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่จำต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือดังกล่าวด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยร่วม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น




          สำหรับกรณีที่ผู้ทำละเมิดนั้นเป็นลูกจ้าง เนื่องจากนายจ้างมีหน้าที่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำละเมิดของลูกจ้างนั้นได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือไม่  หรือการทำละเมิดของลูกจ้างนั้นเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานหรือไม่ โดยจะเกิดละเมิดในเวลาปฏิบัติงานหรือนอกเวลาปฏิบัติงานก็ได้ แต่ต้องเป็นงานตามที่มอบหมายให้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่หากมอบหมายงานให้ทำนอกหน้าที่แล้วลูกจ้างยอมทำก็ถือว่าเป็นทางการที่จ้างเหมือนกัน หรือลูกจ้างทำเกินหน้าที่แต่นายจ้างยินยอมให้ทำ ก็ถือว่าทางการที่จ้างเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11 - 12/2495  นายจ้างใช้ให้ลูกจ้างนำรถยนต์ของนายจ้างไปรับใช้งานของข้าหลวงประจำจังหวัด ลูกจ้างขับรถยนต์ไประหว่างทางด้วยความประมาท รถยนต์จึงชนคนตายดังนี้ ถือว่าลูกจ้างได้ทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

          ลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4786/2558  ความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย

          แม้ขณะลูกจ้างขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถของผู้เสียหายเป็นเวลากลางคืน แต่ลูกจ้างยังคงสวมชุดทำงานและวันรุ่งขึ้นนายจ้างก็ไปพบพนักงานสอบสวนโดยไม่ปฏิเสธความรับผิดและร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหาย เป็นการยอมรับโดยปริยายว่าลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17440/2555  จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน บง - 6846 หนองบัวลำภู ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถโดยสาร หมายเลขทะเบียน 10 - 1759 เลย ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 90,581 บาท สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ และการที่จำเลยที่ 2 มาเจรจาชดใช้ค่าเสียหายต่อพนักงานสอบสวนย่อมแสดงว่ายอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์มีนาย ส.และนาย ก. คนขับรถโดยสารและพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 แต่งตัวลักษณะเป็นช่างก่อสร้าง เนื่องจากบริเวณเนื้อตัวและเสื้อผ้ามีเศษปูนติดอยู่ไม่มีอาการเมาสุรา ส่วนรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นรถที่ใช้ในการขนวัสดุก่อสร้าง จำเลยที่ 2 บอกนาย ส. นาย ก. และนาย จ.พยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่อยู่ร่วมในการเจรจาค่าเสียหายที่สถานีตำรวจว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และได้เสนอราคาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 10,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินค่าปรับแทนจำเลยที่ 1 ด้วย นาย จ.ยังเบิกความตอบคำถามค้านว่าขณะเจรจาได้ยินจำเลยที่ 1 พูดว่านายจ้างให้มาเอาของที่อำเภอภูกระดึงเพื่อไปส่งที่ผานกเค้า ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นช่างไม้และช่างปูน มีรถจักรยานยนต์ใช้ขับไปกลับที่ทำงาน เริ่มทำงานเวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา รถบรรทุกคันเกิดเหตุ เป็นของจำเลยที่ 3 ที่ให้นาย ส.เป็นผู้ขับรับส่งพนักงานและเก็บรักษาที่บ้านของนาย ส. ในวันเกิดเหตุ รถคันดังกล่าวจอดไว้โดยมีกุญแจรถเสียบคาอยู่ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปโดยพลการ เงินค่าปรับที่จำเลยที่ 2 จ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไป 400 บาท ได้หักจากค่าจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว และการที่จำเลยที่ 2 มาเจรจาค่าเสียหายเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 และจะหักค่าปรับจากค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ในภายหลังนั้น มีแต่จำเลยที่ 2 และนาย ส.เป็นพยานเบิกความลอยๆ ซึ่งจะเบิกความอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มีแต่จำเลยทั้งสามและพยานจำเลยทั้งสามเท่านั้นที่จะรู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 1 จะทำงานล่วงเวลาหรือได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ทำการงานในทางการที่จ้างหรือไม่นั้น เป็นเรื่องกิจการภายในที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายจำเลยที่มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างลูกจ้างเท่านั้น ยากที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเข้ามาเกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุแล้วจะล่วงรู้ถึงการใช้จ้างวานและการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก่อนเกิดเหตุได้ ประกอบกับข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังขัดแย้งกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่แสดงออกต่อบุคคลภายนอก เพราะจำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงานอยู่ในขณะเกิดเหตุ ทั้งในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 2 ก็ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 ด้วยโดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับตัวแทนฝ่ายโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวอ้าง แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวัน และขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย

          หลังเลิกงานแล้วยินยอมให้ลูกจ้างนำรถไปเก็บไว้เองเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษารถ แต่ขณะนำรถกลับไปเก็บยังที่พักลูกจ้างขับรถชนผู้ตาย ถือว่าเป็นการขับรถไปในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องร่วมรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10392/2553  จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกไม้ยางให้แก่จำเลยที่ 2 หลังเลิกงานจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ลูกจ้างนำรถไปเก็บไว้เอง เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษารถและนำรถกลับมาบรรทุกไม้ยางให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องไปส่งลูกจ้าง การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปในเวลากลางคืนในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงานด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และเพื่อนำไปเก็บไว้ยังที่พักของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์ของนายจ้างเองที่จะนำรถกลับมาใช้งานให้จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถชนผู้ตายและบุตรระหว่างขับรถกลับบ้าน ถือว่าเป็นการขับรถไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดกับจำเลยที่ 1

          ลูกจ้างพักอยู่ที่ทำงานและใช้รถคันเกิดเหตุประจำในการทำงาน แม้ลูกจ้างขับรถไปเติมน้ำมันแล้วเกิดเฉี่ยวชนหลังเลิกงานแล้ว แต่ก็เป็นหน้าที่ตามปกติที่ต้องทำ จึงเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3757/2553  จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่ที่ทำงานและจะให้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นประจำในการทำงาน เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากเวลาเลิกงานตามปกติแล้ว ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปเติมน้ำมัน แม้จะอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2

          กรณีการทำละเมิดของลูกจ้างมิใช่เป็นในทางการที่จ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2548  จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถหรืออำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ ป. ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง และกระทำไปโดยพลการนอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3750/2545  การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกผักและผลไม้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แวะรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถูกทำร้ายร่างกาย ด้วยความโกรธแค้นเพราะเหตุส่วนตัวที่ถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขับรถบรรทุกพุ่งชนโจทก์ที่ 5 และผู้ตายกับพวกที่ทำร้ายตนจนเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บเช่นนี้ เป็นเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้างหรือกรอบแห่งการจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นายจ้างที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างไปกระทำ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 3 ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 4 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย

          กรณีที่มูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการกระทำของลูกจ้างได้ระงับลงแล้ว นายจ้างย่อมไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2548  เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับตัวแทนของโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้อย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ โดยจำเลยที่ 1 ไม่จำเป็นจะต้องเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ข้อเสนอของจำเลยที่ 1 ในการซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ เมื่อตัวแทนของโจทก์ได้ตกลงยินยอมตามนั้น ย่อมถือว่าโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ ในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นเป็นอันระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีมูลหนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับลูกจ้างในอันที่นายจ้างจะต้องรับผิดต่อไปอีก