28 ก.พ. 2567

คนไร้ความสามารถ


          คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต ที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล และศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 28 ดังนั้น แม้จะเป็นบุคคลวิกลจริต แต่ถ้าศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ทั้งนี้ บุคคลไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล เพื่อทำหน้าที่อนุบาลดูแลคนไร้ความสามารถ และทำนิติกรรมต่างๆแทนคนไร้ความสามารถ

          อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นบุคคลวิกลจริต
          บุคคลวิกลจริต มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537)


          โรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ เป็นบุคคลวิกลจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537  คำว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่าจ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ. ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2527 คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว 
          มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 490/2509 ประชุมใหญ่)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2509 (ประชุมใหญ่)  คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารประกอบกิจการงานของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว
          ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใด ๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว.

          ผู้ที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถ
          (1) คู่สมรส 
          (2) บุพการี ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด 
          (3) ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
          (4) ผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้
          (5) ผู้พิทักษ์ สำหรับผู้พิทักษ์นี้คือผู้มีหน้าที่ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หากคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นวิกลจริต ผู้พิทักษ์ก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถได้ 
          (6) ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ คือผู้ที่ปกครองดูแลบุคคลวิกลจริตนั้นอยู่
          (7) พนักงานอัยการ 
          บุคคล 7 ประเภทข้างต้นเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ บุคคลอื่นนอกจากนี้ไม่มีสิทธิ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2534   โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่รับรองแล้วของ ส. เป็นผู้สืบสันดานของ ส.มีสิทธิรับมรดกของส. กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้ ส. ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 29 (เดิม) ได้ และโดยนัยเดียวกัน แม้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของ ส. ตามคำสั่งศาลอยู่แล้วก็ตาม ถ้า มีเหตุอันสมควร โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อนุบาลต่อไปได้.

          ความสามารถในการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
          นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม จะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทนเท่านั้น ตามมาตรา 29
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530  จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม

          เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

          สำหรับนิติกรรมที่ต้องทำเป็นการเฉพาะตัว เช่น การสมรส การทำพินัยกรรม นั้นกฎหมายห้ามทำทั้งหมด
          มาตรา 1449 ."การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 1704 วรรคหนึ่ง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ"
          แต่มีข้อสังเกตุว่า กรณีคนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถย่อมถือว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้มีความสามารถเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป จึงสามารถทำนิติกรรมใดๆได้โดยสมบูรณ์ เว้นแต่ จะเป็นโมฆียะได้ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นในขณะที่ผู้นั้นวิกลจริตอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่ว่าผู้นั้นเป็นคนวิกลจริต ตามมาตรา 30
          มาตรา 1704 วรรคสอง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่"

          ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ
          ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว การสิ้นสุดแห่งการเป็นคนไร้ความสามารถ จะมีได้ในกรณีที่เมื่อศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นเสีย โดยการที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการร้องขอ ตามมาตรา 31


ผู้เยาว์


          ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งการบรรลุนิติภาวะนั้นไม่ว่าจะเป็นการบรรลุนิติภาวะโดยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสที่ทำโดยถูกต้องตามมาตรา 1448 ก็ตาม (มาตรา 19 และมาตรา 20) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2558  แม้ผู้ร้องและผู้เยาว์เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การขออนุญาตศาลดังกล่าว เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพแห่งข้อหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องครอบครัวและมรดกโดยตรงที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์อันเป็นเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์อายุ 19 ปี จึงยังไม่พ้นจากภาวะผู้เยาว์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักกฎหมายอิสลามว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ มายกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2549  ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2541  เด็กหญิง ย. อายุยังไม่เกิน 15 ปี แม้จะได้แต่งงานตามประเพณีกับ จ. แล้ว ก็ยังไม่พ้นจากภาวะการเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20 เพราะการแต่งงานหรือการสมรสของผู้เสียหายมิได้อยู่ในเงื่อนไขตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  เนื่องจากผู้เสียหายมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ อีกทั้งความไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสหรือมีการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 การที่บิดามารดาผู้เสียหายอนุญาตให้ผู้เสียหายแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับ จ. จึงเป็นเพียงมอบการดูแลผู้เสียหายซึ่งยังเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ให้ จ. ดูแลแทน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายจากบริเวณโรงภาพยนตร์กลางแปลงไปยังห้องพักจำเลยเพื่อประสงค์จะกอดจูบลูบคลำโดยตั้งใจจะร่วมประเวณีกับผู้เสียหายในทำนองชู้สาว ถือว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากการดูแลของ จ.เพื่อการอนาจารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามแล้ว


          ความสามารถในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์
          โดยหลักแล้ว ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 21)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่โจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพ พูดและเดินไม่ได้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลจึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 จึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับพิจารณาคดีต่อไปจนเสร็จ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2541 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาให้ฟ้องและดำเนินคดีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนได้หาจำต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาอีกครั้งไม่

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายบัญญัติให้มีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่อาจให้ความยินยอมหรือทำแทนผู้เยาว์ได้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้เยาว์ ได้แก่ กรณีนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามมาตรา 1574 และนิติกรรมที่ประโยชน์ของผู้แทนโดยชอบธรรมขัดกันกับผลประโยชน์ของผู้เยาว์ ตามมาตรา 1575
          มาตรา 1574  "นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา  ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          มาตรา 1575  "ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ"
          มาตรา 1576  "ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1575 ให้หมายความรวมถึงประโยชน์ในกิจการดังต่อไปนี้ด้วย คือ
          (1) ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วน
          (2) ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125-2126/2558  การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552  เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574(12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21793/2556   ป. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. โดยคำสั่งศาล ได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และ พ. ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แต่อย่างใด การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของ ช. ระหว่าง ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555  หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
          แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2551  ขณะทำสัญญาขายที่ดินจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้เยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ การทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ทำสัญญาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอด ก็เป็นเพียงการเข้ายึดถือที่ดินแทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เท่านั้น ทั้งการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินเมื่อบรรลุนิติภาวะและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็หาใช่เป็นการแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดิน หรือถือว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 สละสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ประการใดไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550   ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2537  จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยมีจำเลยที่ 2 และนาง อ. บิดามารดาของจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนเพียงสองคน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่กู้จากโจทก์เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างปั๊มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้ในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวนาง อ. มารดาจำเลยที่ 3 จะได้ลงนามร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ได้ก็ตาม แต่นาง อ. ก็ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่ง ทั้งสัญญาที่ นาง อ. ร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาล การกระทำของนาง อ. ดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไป

          ข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้มีดังนี้
          (1) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22)
          (2) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (มาตรา 23)
          (3) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร (มาตรา 24)
          (4) ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์ (มาตรา 25)
          (5) ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร (มาตรา 26)
          (6) ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ กรณีนี้ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว (มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรคสอง)


          ผู้แทนโดยชอบธรรมคือใคร
          ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ ซึ่งมีอำนาจทำการต่างๆแทนผู้เยาว์ หรือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ ทั้งนี้ การใดที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำลงไปย่อมมีผลผูกพันผู้เยาว์

          ผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดาและมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกันในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นมีทั้งบิดาและมารดา หรืออาจจะเป็นบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย ไม่แน่นอนว่าบิดาหรือมารดามีชีวิตอยู่ บิดาหรือมารดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
          มาตรา 1566  "บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
          อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) มารดาหรือบิดาตาย
          (2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
          (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
          (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
          (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
          (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้"
          มาตรา 1569  "ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550  บุตรทั้งสองของโจทก์กับจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มาโดยตลอด โจทก์รับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์มากว่า 8 ปี แล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและในอนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

          ผู้ปกครอง จะมีได้ก็แต่เฉพาะในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้ว
          มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง  "บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้"
          มาตรา 1598/3 วรรคหนึ่ง  "ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544   ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์จึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอดถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง
           ป.พ.พ. มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าบิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ได้

อำนาจปกครองบุตร


          บุตรอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
          อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตรมีขึ้นนับตั้งแต่บุตรถือกำเนิดมา เป็นอำนาจที่ใช้ในการเลี้ยงดูรักษาบุตรให้เจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า โดยมาตรา 1566 กำหนดให้บิดาและมารดา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งบุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองนี้มีเฉพาะบุตรผู้เยาว์เท่านั้น หากบรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาอีกต่อไป สำหรับการใช้อำนาจปกครองบุตรนี้ บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจปกครองโดยลำพัง และจะสละอำนาจปกครองบุตรให้บุคคลอื่นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2537  โจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 แม้บิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของมารดาไม่ เมื่อมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ตาม มาตรา 1569 มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2542  โจทก์เป็นภริยาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิง ธ. ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ธ. ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยเป็นบิดามิชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ การที่โจทก์ทำบันทึกระบุข้อความมอบผู้เยาว์ให้อยู่ในความปกครองของพี่สาวจำเลยจึงเป็นการตั้งผู้ปกครองกันเองย่อมไม่มีผล เพราะการตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะด้วยคำสั่งศาลหรือบิดามารดาตกลงกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เท่านั้น ข้อความตามบันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ให้อยู่กับพี่สาวจำเลยเท่านั้น และกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้เป็นมารดาได้สละการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้บิดาหรือมารดาสามารถสละการใช้อำนาจปกครองให้แก่บุคคลอื่นได้ ทั้งมิใช่กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ จำเลยซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีหน้าที่ต้องส่งผู้เยาว์ให้แก่โจทก์
          เมื่อจำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์โต้แย้งสิทธิ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียว


          แต่กรณีที่มีเหตุให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมมีได้ ตามมาตรา 1566 วรรคสองและวรรคท้าย และมาตรา 1568 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
          (1) มารดาหรือบิดาตาย บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (2) ไม่เป็นการแน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย เช่น มารดาหรือบิดาหายไปไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเมือนไร้ความสามารถ เช่นนี้บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นนี้ศาลจะต้องคำนึงถึงความุขและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เช่น บิดามารดาหย่าขาดจากกันขณะที่บุตรยังเล็กอยู่ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาคนเดียวก็ได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550   แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านละทิ้งไม่ดูแลไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
          (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ กรณีนี้อำนาจปกครองบุตรก็อยู่กับคนใดคนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ แต่ทั้งนี้เฉพาะที่กฎหมายยอมให้ตกลงกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2544  โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่าให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลยังไม่ได้สั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่งแล้วโจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(6) ข้อตกลงตามสัญญาหย่าระบุเพียงให้จำเลยไปมาหาสู่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ตลอดเวลา หามีข้อตกลงให้จำเลยรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอุปการะเลี้ยงดูไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วย
          (7) บุตรเกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชาย จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงแต่เพียงผู้เดียว  
          (8) เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองที่มีต่อบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมา คู่สมรสของบุคคลนั้นไม่มีอำนาจปกครองบุตรด้วย

          สิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง
          ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ ดังนี้
          (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
          (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
          (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
          (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
          (5) สิทธิในการให้ความยินยอมบุตรผู้เยาว์ทำการหมั้นและสมรส
          (6) สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการอุปการะเลี้ยงดูบุตรในด้านต่างๆ เช่นการให้ความยินยอมในการเข้ารับการรักษาพยาบาลการผ่าตัดหรือการทำนิติกรรมต่างๆ

          ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรโดยอำนาจของกฎหมาย


ฉ้อโกงประชาชน


          มาตรา 343 "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

          สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้และมีโทษหนักกว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 โดยการกระทำความผิดนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งได้กระทำต่อประชาชนโดยทั่วไป สาระสำคัญของความผิดฐานนี้จึงต้องดูว่าการกระทำความผิดนั้นได้กระทำต่อประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ คำว่าประชาชนไม่ได้มีบทนิยามหรือคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายถึงบรรดาพลเมืองซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย


          หลอกลวงเฉพาะเจ้าหนี้ของตนแม้มีจำนวนมาก แต่มิใช่การหลอกลวงประชาชนทั่วไป จึงไม่ผิดมาตรา 343
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2523  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า "ประชาชน" มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง "บรรดาพลเมือง" และคำว่า "พลเมือง" มีความหมายถึง "ชาวเมืองทั้งหลาย"
          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วๆ ไป ฟ้องดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
          หลอกลวงกลุ่มนักศึกษาเพื่อขายข้อสอบไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2531  จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น
          หลอกลวงเฉพาะกลุ่มคนต่างด้าวในหมู่บ้านเดียวกับจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553   ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน" คำว่า "ประชาชน" หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          แม้มีการหลอกลวงผู้เสียหายเพียงรายเดียว แต่ถ้ามีลักษณะแสดงเจตนาหลอกลวงต่อประชาชนทั่วไปก็ผิดมาตรา 343
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2523  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงต่อประชาชน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น หาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลวงลวงมากหรือน้อยเป็นหลักไม่ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยหลอกผู้อื่นอีกนอกจากผู้เสียหายรายเดียว แต่แสดงเจตนาต่อประชาชนทั่วไปหลอกให้สมัครฝากเงินไว้กับบริษัทจำเลยก็ผิดมาตรา 343 (ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีการดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชน โดยได้พิมพ์ข้อความโฆษณา)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2540  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่นๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

          วางแผนหลอกลวงโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เป็นการฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2512 (ประชุมใหญ่)    จำเลยวางแผนประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อมาสมัครทำงาน โดยวางอัตราค่าจ้างเงินเดือนสูง วางระเบียบให้ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้นเป็นเงิน 900 บาท บริษัทตั้งขึ้นแล้ว จำเลยก็มิได้ดำเนินกิจการค้าดังวัตถุประสงค์แต่อย่างใด สินค้าในบริษัทก็ไม่มี ธุรกิจที่จะมอบหมายให้ผู้สมัครรับจ้างปฏิบัติก็ไม่มี ถือได้ว่าจำเลยก่อตั้งบริษัท ดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพื่อหลอกลวงประชาชน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343
          เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงของจำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงผู้เสียหายคนอื่นในกรณีนี้อีกได้ เพราะผู้เสียหายเป็นคนละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ตำแหน่งงานที่จะจ้างผู้เสียหายไม่เหมือนกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ  มิใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547   จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

          เลือกสุ่มโทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับบัตรและบัญชีธนาคาร โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินในบัญชีของประชาชน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลย จึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559   การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

          แม้จะแสดงข้อความเท็จแก่ประชาชน แต่ถ้าการแสดงข้อความเท็จนั้นไม่มีเจตนาจะได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อไม่ผิดฐานฉ้อโกงก็ย่อมไม่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000 บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

          เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องถึงจำเลยคนใด ถึงแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยคนนั้นกระทำความผิด แต่ศาลก็ลงโทษไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ซึ่งต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562  ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


          มาตรา 5 "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต"

          มาตรา 5 เป็นหลักทั่วไปที่ใช้บังคับในการใช้สิทธิหรือชำระหนี้ทางแพ่งของบุคคล เป็นหลักที่นำมาใช้ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิหรือชำระหนี้ของตนในเมื่อกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างกันมิได้กำหนดรายละเอียดถึงการปฏิบัติต่อกันไว้ ก็ให้ถือเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “บุคคลที่มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด" (He who comes to equity must come with clean hands.) หมายถึง การที่บุคคลใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นจะต้องใช้โดยสุจริต มิฉะนั้นศาลจะไม่รับรองสิทธินั้นหรือไม่รับบังคับให้ รวมทั้งการชำระหนี้ก็ต้องกระทำโดยสุจริตด้วยเช่นเดียวกัน โดยถือว่าในการที่บุคคลได้ผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันแล้วทุกคนต้องซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน และต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์และไว้วางใจด้วย ถ้าการกระทำใดเป็นปฏิปักษ์ต่อความซื่อสัตย์และความไว้วางใจดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต 
          การใช้สิทธิที่ไม่สุจริตนั้นมีผลถึงเรื่องการไม่มีอำนาจฟ้องคดี ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้คู่ความจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาไว้ก็ตาม

          มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 

          บังคับให้ทำสัญญากู้เกินจากความจริง แล้วนำสัญญากู้มาฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558   โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้




          การอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่แล้วนำมาฟ้อง หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีเดิม การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6799/2558  คดีก่อน โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกับจำเลย ในราคา 450,000 บาท จำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงภายในเดือนมกราคม 2554 จำเลยได้รับเงินครบถ้วนและส่งมอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์แล้ว เมื่อครบกำหนด โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย เท่ากับโจทก์ยอมรับว่า เคยมีการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจริง และที่ดินพิพาททั้งสองเป็นของจำเลย แต่คดีนี้โจทก์กลับอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยในราคา 400,000 บาท โดยโจทก์ประสงค์เพียงให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ อันเป็นการแสดงเจตนาลวง คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องก่อน ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อน อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2  มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2558  แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มิได้เขียนกรอกข้อความและมอบโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกับเอกสารอื่นๆ ให้จำเลยที่ 1 ไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารชุดดังกล่าวมอบให้จำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 4 เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจผิดจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2  มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เมื่อคดีฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นและไม่มีผลใช้บังคับ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตาม  ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ

          โจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องหน่วยงานราชการจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2558  การซื้อขายสินค้าลูกโลกรายพิพาทนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและ ม. ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับบุคคลภายนอกทราบระเบียบการจัดซื้อและจัดจ้างของส่วนราชการเป็นอย่างดี เชื่อว่า ม. ทราบว่าการจัดซื้อลูกโลกรายพิพาทนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ แต่โจทก์เข้ามาเสนอขายลูกโลกให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ทั้งๆ ที่เป็นการผิดระเบียบ แสดงว่า ม. สนิมสนมกับผู้บริหารของจำเลยที่ 3 เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 3 ต้องทราบว่าโจทก์มีสินค้าตรงกับตัวอย่างที่นำไปเสนอประกวดราคาต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มิเช่นนั้นจำเลยที่ 3 คงไม่เสนอซื้อจากโจทก์ ยิ่งไปกว่านั้นการที่โจทก์ทำใบเสนอราคาโดยไม่มีรายละเอียดของสินค้าเป็นการชี้ให้เห็นชัดขึ้นอีกว่าคงจะได้พูดคุยรายละเอียดถึงคุณลักษณะของสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ด้วยวาจาแล้วอันเป็นการรู้กัน จึงน่าเชื่อว่าลูกโลกสินค้าตัวอย่างที่จำเลยที่ 3 นำไปแสดงต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นของโจทก์ การซื้อขายลูกโลกเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ม. จะไม่สอบถามจำเลยที่ 3 ว่าซื้อไปขายให้แก่ใคร เชื่อว่า ม. ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 ซื้อลูกโลกไปขายให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประการสำคัญโจทก์ต้องดัดแปลงตัวสินค้าเปลี่ยนฐานและแกนลูกโลกเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากไม่แน่ใจว่าขายได้ย่อมเป็นการเสี่ยงแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ต้องไว้ใจกันเป็นพิเศษ อันมีลักษณะช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อกัน นอกจากนี้เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 คณะกรรมการตรวจรับสินค้าก็รับมอบสินค้าโดยไม่อิดเอื้อน ทั้งๆ ที่สินค้าไม่ตรงตามใบเสนอราคายิ่งแสดงให้เห็นว่ามีการพูดคุยกันแล้วล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 3 ขอผัดผ่อนชำระราคา โจทก์ก็ยินยอม จนสุดท้ายจำเลยที่ 3 แจ้งว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องการให้ทำมาตราส่วนที่แกนลูกโลกและขอให้เพิ่มแขวงใหม่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โจทก์ก็ยินยอม ซึ่งการแก้ไขมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ทั้งๆ ที่โจทก์มีสิทธิที่จะไม่แก้ไข แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ได้

          จำเลย(ธนาคาร)มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19395/2557  จำเลยมิใช่ผู้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตั๋วแลกเงินโดยตรง แต่รับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงซึ่งรับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงคนเดิมที่โจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปแล้ว โดยขณะจำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมานั้น จำเลยซึ่งเป็นธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมทราบว่าโจทก์ได้ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นที่เห็นได้โดยสุจริตว่าตั๋วแลกเงินที่จำเลยรับสลักหลังโอนมาในขณะนั้น มีมูลค่าลดน้อยลงไปกว่าราคาที่ผู้ทรงคนเดิมรับสลักหลังโอนมาเป็นจำนวนมาก หรือนัยหนึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวน่าจะไม่มีมูลค่าเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการซื้อขายเพื่อสลักหลังโอนกันตามปกติแล้ว ทั้งกรณีที่ผู้ทรงประสงค์จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ก็ชอบที่จะต้องนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจักได้ชำระบัญชีหรือดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์มาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของโจทก์ ให้ได้รับส่วนแบ่งโดยทัดเทียมกันอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนแห่งหนี้ พฤติการณ์การรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลย มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยจึงไม่อาจนำมูลหนี้ ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ มาหักกลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้




          โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557  ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่
          การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

          โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลย แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้อง ตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14405/2557  การที่โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้อง ตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยมารวมกับต้นเงินดังที่โจทก์คำนวณมาในคำฟ้อง เมื่อภาระหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์มีจำนวนน้อยกว่าค่าจ้างที่โจทก์ต้องรับผิดชำระแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

          ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง ของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2557   บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ระบุไว้ชัดเจนว่าคู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน โดยตอนท้ายบันทึกยังระบุอีกว่า บันทึกไว้เป็นหลักฐานและอ่านให้ฟังแล้วรับว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง และความก้าวหน้าในทางราชการของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น อันแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้อง

          โจทก์คาดหมายได้ว่าศาลอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อน พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออก เนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6998/2557   เดิมจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออกเนื่องจากโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่าได้รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยจริงแต่เป็นเงินที่ลูกหนี้ประสงค์จะให้นำไปทำบุญโดยโจทก์นำไปทำบุญแล้ว โจทก์ไม่เคยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นปฏิเสธต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลย เพิ่งยกขึ้นอ้างขณะเบิกความในคดีดังกล่าว เมื่อศาลสืบพยานในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโจทก์กลับยื่นใบลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยเนื่องจากเห็นว่าเมื่อโจทก์ลาออกแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์ไม่ลาออกศาลต้องพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์กระทำผิดศาลก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเห็นว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบของจำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าศาลอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออก เนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตมาขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการลาออกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

          โจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10424/2556   การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ดำเนินการโดยผู้ครอบครองที่ดินมิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จริง ไม่ทราบตำแหน่งที่ดิน ไม่มีการรังวัดสอบสวนการทำประโยชน์ระบุตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ ออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจำเลยร่วมทำเอกสารปลอมและเอกสารอันเป็นเท็จเสนอต่อนายอำเภอ เพื่อขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย ไม่มีการจัดทำตามขั้นตอนรายละเอียดดังที่ระบุในเอกสารประกอบเรื่องราวขึ้นจริง เลขต่อในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 8) บางส่วนถูกฉีกขาดหายไป ไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน โดยจำเลยร่วมดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อจำหน่าย จ่าย โอน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ บ่งบอกว่าการกระทำทั้งปวงมิได้มุ่งหมายให้ได้ที่ดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตามสภาพของทรัพย์สิน แต่มุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เพื่อเป็นสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ทั้งโจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ มาตรา 247

          โจทก์มอบเอกสารโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14437/2555   โจทก์มอบโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และใบมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ให้แก่ ต. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมา ต. นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบังคับจำนองดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต จะต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่สุจริตอย่างไร ลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 และการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์มอบเอกสารดังกล่าวพร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ย ของต้นเงินที่ ต. จะต้องรับผิดต่อ จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ต. จะผิดนัดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกเช่นกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.พ.พ. 142 (5), 246 และ 247

          โจทก์ใช้ทั้งสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็รับการผ่อนชำระของจำเลยไปเรื่อยๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11482/2555   แม้ข้อตกลงที่จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินกู้ค้างชำระทั้งหมดหากจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานจะมีผลบังคับได้ แต่หลังจากจำเลยลาออกแล้วโจทก์ก็ยังรับผ่อนชำระเงินกู้จากจำเลยมาตลอดโดยจำเลยไม่เคยผิดนัด แสดงว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกเงินกู้ค้างชำระทั้งหมดด้วยเหตุจำเลยพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์โดยปริยาย นอกจากนั้นการกู้เงินของจำเลยเป็นการกู้เงินสวัสดิการของพนักงานเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีที่ดินพร้อมบ้านจำนองเป็นประกัน ซึ่งหากจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้โดยไม่เสียหายอยู่แล้ว การลาออกของจำเลยก็มิได้เกิดจากการกระทำผิดหรือกระทำโดยมิชอบของจำเลย แต่เป็นเรื่องสุขภาพที่ฝ่ายโจทก์ขอให้จำเลยลาออกเอง ทั้งหลังจากลาออกแล้วจำเลยยังมีรายได้เพียงพอแก่การผ่อนชำระเงินกู้อีก ดังนั้น ที่โจทก์ใช้ทั้งสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดในขณะเดียวกันก็รับการผ่อนชำระของจำเลยไปเรื่อยๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตน บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” เมื่อการใช้สิทธิของโจทก์ไม่สุจริตอันไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

          การกระทำของโจทก์ตามข้ออ้างในคดีทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างและขัดกัน การดำเนินคดีที่โจทก์มุ่งประสงค์ต่อผลให้โจทก์ชนะคดีแน่นอนไม่ว่าศาลใดศาลหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงข้อความจริงซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดี และเมื่อพิจารณาถึงคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่อ้างเหตุว่าจำเลยปลอมเอกสารอันอาจเป็นมูลเหตุให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารด้วยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10847/2555   การที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนว่าโจทก์ให้ทรัพย์สินที่พิพาทแก่จำเลย และมาฟ้องคดีนี้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าโจทก์ทำสัญญาให้ทรัพย์สินที่พิพาทแก่จำเลยซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจ การกระทำของโจทก์ตามข้ออ้างในคดีทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างและขัดกัน ซึ่งหากศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าเป็นการปลอมหนังสือมอบอำนาจ ไม่ใช่การให้ทรัพย์สินพิพาทแก่จำเลย โจทก์ก็ชนะคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่หากศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าไม่เป็นการปลอมเอกสาร ย่อมมีผลโดยปริยายว่าเป็นการให้อันเป็นประโยชน์แก่คดีนี้ จึงเป็นการดำเนินคดีที่โจทก์มุ่งประสงค์ต่อผลให้โจทก์ชนะคดีแน่นอนไม่ว่าศาลใดศาลหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงข้อความจริงซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดี และเมื่อพิจารณาถึงคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่อ้างเหตุว่าจำเลยปลอมเอกสารอันอาจเป็นมูลเหตุให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารด้วยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

          ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมด เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555   ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้

          พฤติการณ์ของโจทก์เสมือนหนึ่งว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 จะต้องถูกทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ และทางการจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 5 โดยออกมาตรการให้นำตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นของสถาบันการเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งหากยังคงเป็นตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิมซึ่งเป็นของบริษัท น. อยู่ โจทก์ก็ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้ และดอกเบี้ยที่คิดรวมให้ในตั๋วแลกเงินตามฟ้องก็นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าเป็นอัตราตามตลาดเงิน กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5250/2555   โจทก์นำตั๋วแลกเงินของบริษัท น. ที่สั่งจ่ายแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับอาวัลแก่โจทก์จำนวน 4 ฉบับ ไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 5 ก่อนครบกำหนดอ้างว่าขอรับเป็นเงินสด แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีเงินสด จำเลยที่ 5 จึงออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องจำนวน 4 ฉบับ ให้แทน หลังจากนั้น 4 วัน จำเลยที่ 5 ถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เคยไถ่ถอนก่อนครบกำหนดใช้เงินมาก่อนครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นประเพณีการค้าปกติ การเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินตามฟ้องเป็นผลให้มีเพียงจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โดยบริษัท น. ซึ่งต้องร่วมรับผิดด้วยแต่เดิมหลุดพ้นความรับผิดไป ทั้งเป็นการเร่งรีบออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องให้ใหม่ โดยพฤติการณ์เสมือนหนึ่งว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 จะต้องถูกทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ และทางการจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 5 โดยออกมาตรการให้นำตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นของสถาบันการเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งหากยังคงเป็นตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิมซึ่งเป็นของบริษัท น. อยู่ โจทก์ก็ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้ และดอกเบี้ยที่คิดรวมให้ในตั๋วแลกเงินตามฟ้องก็นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าเป็นอัตราตามตลาดเงิน กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้รับแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินตามฟ้องเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้

          การทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563  การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7  



การรับมรดกแทนที่


          เมื่อบุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) และ (6) ถึงแก่ความตายหรือตายโดยผลของกฎหมายในเรื่องสาบสูญ หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานของบุคคลผู้เป็นทายาทที่ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้น ย่อมเข้ารับมรดกแทนที่ตามส่วนที่ผู้ตายหรือผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกมีสิทธิจะได้รับ รวมทั้งผู้สืบสันดานของทายาทนั้นก็อาจเป็นบุคคลที่จะถูกรับมรดกแทนที่ได้เช่นเดียวกัน

          มาตรา 1639  "ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย"

          มาตรา 1640  "เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้"



          หลักเกณฑ์การรับมรดกแทนที่

          (1) การรับมรดกแทนที่นั้นใช้บังคับในระหว่างทายาทโดยธรรมเท่านั้น ส่วนสิทธิตามพินัยกรรมรับมรดกแทนที่ไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2515  ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนหนึ่งให้ ท. ซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่ง แต่ ท.ตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรม ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพินัยกรรมนั้นจึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 ประกอบกับ มาตรา 1620 วรรคสอง ทรัพย์สินดังกล่าวต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งมีแต่ ท. แต่เมื่อ ท. ตายไปก่อนแล้ว ผู้สืบสันดานของ ท.จึงเข้ารับมรดกแทนที่ในทรัพย์มรดกดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639

          (2) ผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของบุคคลซึ่งจะเป็นทายาท ตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) และ (6) ซึ่งผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นหมายความถึงญาติผู้สืบสายโลหิตของบุพการีเท่านั้น ดังนั้น ผู้สืบสันดานประเภทบุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่
          อย่างไรก็ตาม หากบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกที่ถึงแก่ความตายไปก่อนนั้นคือบุตรบุญธรรม กรณีนี้ ผู้สืบสันดานโดยตรงของบุตรบุญธรรมที่เสียชีวิตนั้นย่อมมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่บุตรบุญธรรมนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2494  บุตรบุญธรรมตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรของบุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้ตามมาตรา 1639
          บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาได้ตามมาตรา 1639 และ 1643
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538   ม.และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม.ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม.ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436/2518   โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของ บ.พฤติการณ์ที่ บ.ได้อุปการะเลี้ยงดูกับให้การศึกษาเล่าเรียนแก่โจทก์ ถือได้ว่า บ.ได้รับรองและแสดงออกว่าโจทก์เป็นบุตรของ บ. โจทก์จึงเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกแทนที่ บ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546  โจทก์เป็นบุตรของ พ. ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ. ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ. โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639

          ภริยาไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่สามี 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2539  การรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1639 และ 1642 โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของ ส. มิใช่ผู้สืบสันดานของ ส. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส.  ส.มีบุตร 3 คน คือ พ. โจทก์ที่ 2 และที่ 3 พ.สละมรดกของ ส. เท่านั้น ไม่ได้สละสิทธิในการรับมรดกของ ก. อันเป็นการรับมรดกแทนที่ ส. ดังนี้ พ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ในการสืบมรดกของ ก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1645 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ในการสืบมรดกของ ก.คนละหนึ่งในสาม

          (3) บุคคลซึ่งจะเป็นทายาทจะต้องเสียสิทธิในการรับมรดกเพราะตาย(หรือสาบสูญ) หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548  ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546  โจทก์เป็นบุตรของ พ. ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ. ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ. โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639
          แต่ถ้าหากทายาทตายภายหลังเจ้ามรดก ก็ไม่ใช่เรื่องการรับมรดกแทนที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2554  แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้        

          (4) ผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต้องมีสิทธิรับมรดกและมีสิทธิสมบูรณ์ในการรับมรดก กล่าวคือ ต้องมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 (มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง) และต้องไม่เป็นผู้เสียสิทธิในการรับมรดก เช่น ถูกตัดมิให้รับมรดก เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2520   ท.มารดาจำเลยถูกตัดไม่ให้รับมรดกตั้งแต่ก่อน ท.ตาย ท.จึงไม่ได้เป็นทายาทตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 อีกต่อไป ท.จึงไม่มีที่ (ความเป็นทายาท) ที่จำเลยจะเข้ารับมรดกแทนได้และไม่มีบทกฎหมายมาตราใดบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานที่จะเข้าแทนที่การรับมรดกของทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดมรดก หนังสือตัดไม่ให้รับมรดกเป็นการแสดงเจตนาโดยเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไขใดๆ ของเจ้ามรดก จึงมีผลทันทีเมื่อได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย หาใช่จะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกตายไม่ เพราะหนังสือตัดทายาทโดยธรรมไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนการที่การแสดงเจตนาตามหนังสือตัดการรับมรดกจะเกิดผลขึ้นเมื่อใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538   ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจ จับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539  แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของ บ.เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ.เลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของ บ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่  


          (5) ถ้าทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) และ (5) คือ บิดามารดาและปู่ย่าตายาย ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทในลำดับเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ห้ามมิให้รับมรดกแทนที่กันต่อไป ตามมาตรา 1641

          (6) กรณีที่ทายาทและผู้สืบสันดานของทายาทได้ถึงแก่ความตายพร้อมกันนั้น มิใช่กรณีตามมาตรา 1639 จึงไม่อาจมีผู้รับมรดกแทนที่กันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556  ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247



ผู้รับมอบอํานาจอุทิศที่ดินให้ราชการเกินกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่ ย่อมไม่มีผลผูกพันเจ้าของที่ดิน | ละเมิด | คดีปกครอง

 

         กรณีที่ตัวแทนกระทําการเกินอํานาจที่ได้รับมอบหมาย โดยตัวการได้มอบอํานาจให้ตัวแทนไปยื่นคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินและให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ปรากฏว่าตัวแทนได้ให้ถ้อยคําต่อช่างรังวัดว่ามีความประสงค์อุทิศที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์
         มีปัญหาว่า ที่ผู้รับมอบอํานาจได้แสดงความประสงค์ต่อช่างรังวัดในการอุทิศที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกระทําเกินอํานาจที่ได้รับมอบหมาย จะถือเป็นการแสดงเจตนาแทนผู้มอบอํานาจและมีผลผูกพันต่อหน่วยงานราชการที่สร้างถนนสาธารณะหรือไม่
         ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ...ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยได้มอบอํานาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปยื่นคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินและให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยในการรังวัดสอบเขตที่ดิน ผู้รับมอบอำนาจได้ให้ถ้อยคําต่อช่างรังวัดว่ามีความประสงค์อุทิศที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และช่างรังวัดได้ทําการรังวัดแบ่งหักที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้เป็นทางสาธารณประโยชน์
         ต่อมา สํานักงานที่ดินจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้ไปดําเนินการจดทะเบียน
แบ่งหักที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดจึงยื่นขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินอีกครั้ง
แต่ผู้แทนนายอําเภอและผู้แทนนายกอบต. ได้คัดค้านการรังวัดที่ดินที่พิพาท โดยเห็นว่าผู้รับมอบอำนาจ
จากผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้แสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การก่อสร้างถนนของอบต. จึงเป็นการดําเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด
         พนักงานที่ดินจังหวัดจึงดําเนินการสอบสวนไกล่เกลี่ยตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลกฎหมาย
ที่ดิน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้จึงแจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องศาล ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดจึงยื่นฟ้องอบต. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทําให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกลับคืนสู่สภาพเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี

          คดีจึงมีประเด็นวา การก่อสร้างถนนของ อบต. เป็นการก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดหรือไม่ และการกระทําของผู้รับมอบอํานาจในการอุทิศที่ดินดังกล่าวมีผลผูกพัน อบต. หรือไม่

         ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอํานาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปยื่นคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินระบุว่าผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้มอบอํานาจให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยนําช่างทําการรังวัดปักหลักเขตที่ดินและรับรองแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ถ้าทําการรังวัดแล้วได้รูปแผนที่หรือเนื้อที่ต่างจากเดิมให้มีอํานาจยินยอมให้แก้ไขรูปแผนที่ เนื้อที่ หมายเลขหลักเขตในโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป้นจริง แก้คําขอ (ถ้ามี) วางและรับเงินมัดจํารังวัดที่เหลือคืน รับโฉนดที่ดิน ตลอดจนให้ถ้อยคําต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งให้รับรองสําเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดมอบอํานาจให้ผู้รับมอบอํานาจไปดําเนินการยื่นคําขอเฉพาะที่เกี่ยวกับการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดโดยมิได้หมายความถึงการให้อํานาจในการแก้ไขคําขอรังวัดสอบเขตที่ดิน โดยเพิ่มคําขอใหม่เป็นการอุทิศที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดําเนินการจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ไปดําเนินการ จึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงเจตนายินยอมให้ผู้รับมอบอํานาจแบ่งหักที่ดินของตนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
         ดังนั้น การที่ผู้รับมอบอํานาจแก้ไขคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยเพิ่มคําขอใหม่เป็นการอุทิศที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงมิใช่การกระทําในสิ่งที่จําเป็นเพื่อให้การรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีสําเร็จลุล่วงไป และมิใช่การทําการตามคําสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 800 และมาตรา 807 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการกระทํานอกเหนืออํานาจที่ผู้ฟ้องคดีมอบหมาย ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
         แม้การก่อสร้างทางจะเป็นอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่อาจกระทํา
ในทางที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน โดยไม่มีกฎหมายให้อํานาจได้ เมื่อการกระทําดังกล่าวทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 902/2563)