12 มีนาคม 2567

การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสียไป แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือไร้ความสามารถ

          การเกิดสัญญา จะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้แสดงเจตนา และฝ่ายผู้สนองรับ ซึ่งการแสดงเจตนาที่ส่งออกไปนั้นไม่เสียเปล่า ถึงแม้ต่อมาผู้แสดงเจตนาจะตายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ตาม เจตนานั้นก็ยังมีผลผูกพันทายาทของผู้แสดง ยกเว้นแต่ว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอ(ผู้แสดงเจตนา)ได้แสดง หรือฝ่ายผู้สนองรับได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ กรณีนี้ การแสดงเจตนาที่ผู้เสนอส่งออกมานั้นก็ตกเป็นอันไร้ผลผูกพัน 

          มาตรา 169  "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
          การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 360  "บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ" 

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ 

          การแสดงเจตนาในสัญญาเช่าว่าเมื่อครบสัญญาจะต่ออายุสัญญาเช่าทุกๆ 3 ปี เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่า ยังไม่เกิดเป็นสัญญาฉบับใหม่จนกว่าจะมีผู้เช่าสนองรับ และเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เช่าได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว คำมั่นนั้นจึงมีผลผูกพันผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1602/2548 สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของ ป. ผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญัญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม โจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลผูกพันตลอดไปไม่
          แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะมีคำมั่นที่ ป. ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไปและตกทอดแก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้ายสุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายแล้วตึกแถวพิพาทตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาท จำเลยทราบว่า ป. ถึงแก่ความตายแล้งจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป้นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลย แจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้

          ข้อตกลงในสัญญาเช่าว่าจะต่ออายุสัญญาให้เมื่อครบกำหนดนั้นเป็นเพียงคำมั่น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพันผู้ให้เช่า เพราะยังไม่ได้ความว่าผู้เช่าได้สนองรับก่อนผู้ให้เช่าถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อผู้เช่าได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ให้เช่าถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด ข้อตกลงนั้นจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4392/2547  ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้

          ถ้าไม่รู้ว่าผู้ให้เช่าเสียชีวิตก่อนสนองรับคำมั่น คำมั่นจะให้ต่อสัญญาเช่าย่อมมีผลบังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4872/2539  ตามสัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็นสองเท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บ ข้อสัญญานี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไป ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป.ผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับคำมั่นของ ป.จึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตามให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม

          แต่ถ้ารู้ว่าผู้ให้คำมั่นเสียชีวิตก่อนสนองรับคำมั่น คำมั่นจะให้สิทธิซื้อที่ดินกลับคืนย่อมไม่มีผลบังคับได้อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6515/2538   ตามสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่พิพาทคืนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาเป็นเพียงคำมั่นของ ส. มิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขายที่พิพาท และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สนองรับคำมั่นว่าจะทำการซื้อที่พิพาทไปยัง ส.เมื่อ ส.ตาย โจทก์ก็ทราบ แต่โจทก์ยังตอบรับคำมั่นโดยบอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจะขายที่พิพาทของ ส.ย่อมไม่มีผลบังคับ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.