มาตรา 147 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพัน บาทถึงสี่หมื่นบาท"
ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอก
(1) ต้อง เป็นเจ้าพนักงาน
ถ้าไม่เป็นเจ้าพนักงานก็จะเป็นตัวการในการกระทำความผิดไม่ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งความผิดตามมาตรา 147 นี้เป็นบทเฉพาะ หากผิดมาตรานี้แล้วก็จะไม่ปรับบทมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า "การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส" ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ถ้าเป็นเพียงลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น ไม่เป็นเจ้าพนักงาน(เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงาน) ไม่อาจเป็นตัวการกระทำความผิดตามมาตรา 147 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2537 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทานโจทก์ร่วม ซึ่งมิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายเนื่องจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และมาตรา 147,151, 157 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น
การได้รับแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ทำให้เป็นเจ้าพนักงาน ผิดยักยอกธรรมดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2538 การแต่งตั้งเสมียนตราอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่มีสุขาภิบาลให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลนั้น จะต้องเป็นเรื่องเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง นายอำเภอแม้จะเป็นกรรมการสุขาภิบาลอยู่ด้วย ก็ไม่มีอำนาจที่จะแต่งตั้งเสมียนตราอำเภอให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการที่ ป.นายอำเภอพรหมพิรามสั่งให้จำเลยไปปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาลจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยไม่มีฐานะเป็นพนักงานของสุขาภิบาลและไม่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ไม่ได้ แต่อาศัยอำนาจตามความใน ป.วิ.อ.มาตรา 192 ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของสุขาภิบาลตาม ป.อ. มาตรา 352 หรือไม่
พนักงานตรวจสภาพรถของบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ไม่เป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2545 ใบรับรองการตรวจสภาพรถเป็นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบกมอบให้บริษัท ต. จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ออกและรับรองการตรวจสภาพรถเพื่อเป็นหลักฐานว่ารถยนต์ได้ผ่านการตรวจสภาพแล้ว พนักงานของบริษัท ต. จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองการตรวจสภาพรถไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย
พนักงานของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248-15249/2557 จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้
(2) มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด
หน้าที่ของเจ้าพนักงานอาจเกิดจากกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ หรืออาจเกิดขึ้นโดยคำสั่งหรือการมอบหมายของผู้มีอำนาจสั่งการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2507 (ประชุมใหญ่) จำเลยเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่รับคำขอและสอบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับการขออนุญาตให้และมีอาวุธปืน แล้วทำความเห็นเสนอต่อนายอำเภอ เมื่อนายอำเภออนุญาต จำเลยก็มีหน้าที่กรอกข้อความในใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเสนอนายอำเภอ ลงลายมือชื่อในฐานะนายทะเบียนท้องที่ จำเลยไม่มีอำนาจที่จะลงลายมือชื่อได้ ดังนี้ หากจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเองในใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้วประทับตราตำแหน่งนายอำเภอเป็นการปลอมตนว่าเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจลงนามในใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตนี้ก็ไม่ใช่ใบอนุญาตอันแท้จริง เพราะไม่ได้ลงนามพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และจำเลยเบียดบังยักยอกเงินค่าธรรมเนียม 100 บาท ที่จำเลยรับไว้ตามหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 147 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2507)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2527 เมื่อสารวัตรใหญ่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้สั่งให้จำเลยทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในการเก็บรักษาเงินดังกล่าวตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว
การที่จำเลยนำเงินของทางราชการไปฝากผู้อื่นไว้ มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ หรือหากไม่มีตู้นิรภัยของทางราชการ ควรจะเก็บเงินนั้นอย่างใด จำเลยก็จะต้องขอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคือสารวัตรใหญ่ เสียก่อน แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลย มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินจำนวนนั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นแล้ว เป็นความผิดตามมาตรา 147
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2558 แม้ตามหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการอันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาค และแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา การที่จำเลยรับเงินไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. ที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลย ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147
แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การงาน เช่นเป็นเรื่องสวัสดิการ ก็ไม่ผิดมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5964/2537 เงินรายได้ฌาปนสถานที่จำเลยเบียดบังไม่ได้ส่งกรมตำรวจตามที่โจทก์กล่าวหา เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ใช่เงินรายได้ของแผ่นดิน และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ.มาตรา 147 ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษา แต่เมื่อเงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวในคดีนี้เป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจเท่านั้น มิใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษา จึงลงโทษจำเลยตามป.อ.มาตรา 147 ไม่ได้
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ปรากฏว่าผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 แต่ ท.เพิ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองสวัสดิการกรมตำรวจ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 การร้องทุกข์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่รับคำสั่งจึงเกิน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีจึงขาดอายุความ แม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้เอง
เงินค่าทิป ไม่ผิดมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3410/2525 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับจดและต่อทะเบียนยานพาหนะเก็บรักษาเงินค่าภาษียานพาหนะและค่าแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนยานพาหนะ ได้รับเงินที่ผู้มาต่อทะเบียนมอบให้ด้วยความสมัครใจเป็นค่าบริการ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เพราะเงินดังกล่าวใช้เป็นทรัพย์ที่จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษา ทั้งไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาลด้วย
เงินส่วนเกิน ไม่ใช่เงินของทางราชการ ไม่ผิดมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1272/2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอมีหน้าที่รับเรื่องราวจดทะเบียน ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของราษฎร ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินจากผู้ขายเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดและยึดเอาส่วนเกินไว้ เงินส่วนเกินไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาล จึงไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ฉะนั้น การที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (แม้จะเกินกว่ากฎหมายกำหนด) ก็ดี การทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินก็ดี จึงไม่ใช่เป็นการกระทำหรือเบียดบังต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ยักยอกกัญชาของกลาง ผิดมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2532 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ตำแหน่งหัวหน้าเสมียนคดี มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางและลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีของกลางกับสำเนาหนังสือนำส่งของกลางของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแก แต่ไม่ลงบัญชีของกลางในคดีอาญาของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการรับกัญชาของกลางรายนี้แล้ว ต่อมาจำเลยเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
การที่จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อีก
ข้าราชการมีหน้าที่ขับรถยนต์แอบดูดน้ำมันหรือยอมให้ผู้อื่นดูดน้ำมันไปขาย ผิดมาตรา 147 นี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2505 จำเลยเป็นผู้คุมตรี มีหน้าที่ควบคุมดูแลนักโทษ และยังมีหน้าที่ขับรถยนต์ของเรือนจำด้วย พัศดีเรือนจำให้จำเลยเอารถยนต์ของเรือนจำไปบรรทุกแกลบ จำเลยก็ขับไป เมื่อจำเลยมีหน้าที่ขับรถยนต์ก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันรถยนต์ด้วย การที่จำเลยเบียดบังเอาน้ำมันในรถยนต์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
แต่ถ้าเป็นลูกจ้างแอบดูดน้ำมันไปขาย ผิดลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2510 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของเทศบาล บรรทุกคนงานไปทำการล้างท่อและซ่อมท่อระบายน้ำ จำเลยที่ 2 เป็นคนล้างท่อและซ่อมท่อ จำเลยมีหน้าที่เพียงดูแลรักษารถยนต์และน้ำมันเท่านั้น เทศบาลมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในถังของรถยนต์นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันดูดเอาน้ำมันเบนซินไปจากถังรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วนำเอาน้ำมนนั้นไปขายให้จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) (11) จำเลยที่ 3 รับไว้โดยรู้ ก็ต้องมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
ทำการนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ผิดมาตรา 147
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556 จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
(3) เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่น หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย
ทำนองเดียวกับยักยอก คือ ต้องครอบครองทรัพย์นั้นอยู่แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ไม่ใช่เอาไปเพียงชั่วคราวแล้วเอามาคืนซึ่งไม่ใช่การเบียดบัง
มีหน้าที่จัดซื้อ ไปถอนเงินจากธนาคารเพื่อซื้อพัสดุ แล้วไม่ซื้อ ถือเป็นการเบียดบัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2534 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานประจำโรงพยาบาล มีหน้าที่จัดซื้อจัดการซ่อมแซม และดูแลรักษาพัสดุครุภัณฑ์และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านการเงินด้วย จำเลยได้ลงชื่อคู่กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลในฐานะเจ้าของบัญชีและผู้มอบฉันทะในแบบถอนเงินจำนวน14,000 บาท จากบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาลพรหมพิรามมาสำรองจ่ายค่าพัสดุครุภัณฑ์ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดซื้อแล้วมอบให้ ส. นำไปถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารมาให้ตน จำเลยได้รับแล้วมิได้จัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์แต่อย่างใด และปรากฏว่าเงินจำนวนนี้ได้ขาดหายไปจากบัญชี การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเงินจำนวน 14,000บาท ที่อยู่ในความครอบครองตามหน้าที่ของตนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147.
เอาไปจำนำก็ถือว่าเบียดบัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2518 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้รับมอบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกรมตำรวจเพื่อใช้ในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จำเลยย่อมมีหน้าที่รักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นในระหว่างที่จำเลยครอบครองอยู่ การที่จำเลยนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยมีหน้าที่รักษานั้นไปจำนำไว้กับบุคคลอื่น ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเป็นของบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่เป็นผิดตามมาตรา 158 อีก
นำเงินไปจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือว่าเบียดบัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21355/2556 จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการตำบล ล. และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล ล. ได้เบิกเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล แล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ยังทำงานขุดลอกคลองไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ล. ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างนั้น ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147
(4) โดยทุจริต
รับเงินไว้ไม่ยอมส่งคลัง นานถึง 5 เดือน ถือว่ามีเจตนาทุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2530 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเงินรายได้ของหน่วยราชการที่ตนสังกัดและได้รับเงินรายได้ไว้ แต่มิได้นำเงินนั้นส่งคลังตามระเบียบซึ่งตามปกติจะต้องนำส่งคลังในวันเดียวกันกับวันที่ได้รับเงินไว้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ให้นำส่งคลังในวันรุ่งขึ้นถัดไปที่เป็นวันทำการทั้งจำเลยมิได้ลงบัญชีรับเงินไว้เป็นหลักฐานจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดตรวจพบการกระทำของจำเลยเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษ จำเลยจึงได้นำเงินส่งคลัง นับว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้ว.
ทำโดยเปิดเผยสุจริตใจและทางราชการได้ประโยชน์ ถือว่าไม่มีเจตนาทุจริต แม้จะผิดระเบียบก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2536 จำเลยขายซากเรือที่ชำรุดใช้การไม่ได้โดยเปิดเผยและสุจริตใจเพียงแต่ไม่ได้ขออนุมัติขายตามระเบียบของทางราชการ แล้วจำเลยนำเงินที่ขายได้ซื้อรถตัดหญ้าในราคาสูงกว่าราคาที่ขายเรือได้ 400 บาท ให้แก่ทางราชการในทันที แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือของผู้อื่น จึงไม่ผิด ป.อ. มาตรา 147
จำเลยได้นำเรือลำใหม่มาใช้แทนเรือลำเก่าที่ขายไปให้แก่กรมชลประทานแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาเรือแก่ทางราชการกรมชลประทานอีก
(5) โดยเจตนา
ต้องกระทำโดยมีเจตนา ด้วย