2 มี.ค. 2567

การร้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสหรือขออนุญาตจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว

          โดยปกติสามีหรือภริยาต่างมีอำนาจจัดการสินสมรสตามลำพังอยู่แล้ว เว้นแต่เป็นเรื่องการจัดการที่สำคัญ 8 ประการตามมาตรา 1476 ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดการร่วมกัน ซึ่งในการจัดการสินสมรสนั้นหากสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือไม่อุปการะเลี้ยงดู หรือทำหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ตามมาตรา 1484 ได้บัญญัติไว้ให้ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว หรือร้องขอให้แยกสินสมรสก็ได้ นอกจากนี้ศาลยังมีอำนาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสตามที่เห็นสมควรก็ได้

          สำหรับเหตุที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมาร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้ มีอยู่ 5 ประการ คือ
          (1) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้นจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด เช่น สินสมรสเป็นตึกแถวเอามาให้เช่าหาประโยชน์จากค่าเช่าได้ แต่กลับทุบตึกแถวนั้นทิ้งทำให้ขาดรายได้ เป็นต้น
          (2) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้นไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ไม่เลี้ยงดูฝ่ายที่มาร้องขอต่อศาล
          (3) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้น มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
          (4) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้น ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
          (5) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้น มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส เช่น นำทรัพย์สินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือเล่นการพนัน เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548  จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)

          ในการร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งตามมาตรา 1484 นี้ คู่สมรสมีทางเลือกอยู่ 2 ประการ คือ
          (1) ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว หรือ
          (2) ร้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรส และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรสแล้ว สินสมรสส่วนที่แยกออกมานั้นตกเป็นสินส่วนตัวของใครคนนั้นก็มีกรรมสิทธิ์และมีอำนาจจัดการโดยลำพัง ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดได้มาภายหลังจากแยกสินสมรสแล้ว ไม่ถือเป็นสินสมรส แต่ให้ถือเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้น รวมทั้งดอกผลของทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้มาภายหลังจากแยกสินสมรสแล้ว ก็คงตกเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นเจ้าของสินส่วนตัวนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1492
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552 โจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียวตลอดมา จนกระทั่งปี 2543 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยมีภริยาอีกคน โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมแบ่งถือว่าจำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 วรรคสอง และมาตรา 1492
          เงินค่าซื้อที่ดินและเงินสดที่ยกให้บุตรทั้งสี่คนรวมแล้วประมาณ 40,000,000 บาท เป็นการยกสินสมรสให้บุตรโดยความยินยอมของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสนี้ ส่วนเงินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ของจำเลยหลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ จึงต้องฟังว่า เงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอีก 660,000 บาท เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งกันสำหรับหุ้นด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยไปไถ่ถอนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด และไม่แบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเข้าจัดการสินสมรสในส่วนนี้ได้ จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ตามรายการโอนเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยเข้าบัญชีที่โจทก์เสนอแสดง ไม่ปรากฏรายการโอนดอกเบี้ย 5,000,000 บาท เข้าบัญชีตามที่โจทก์เบิกความ จึงไม่อาจบังคับในส่วนของดอกเบี้ยได้ ส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาท จำเลยซื้อที่ดินมาในปี 2541 และปลูกบ้านในปี 2544 ถึง 2545 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิใส่ชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2548  โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เพื่อขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว โดยมีเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินสินสมรส ชอบที่โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียวและจัดการแยกสินสมรส