มาตรา 428 "ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตน ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง"
มาตรา 587 "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2510 เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถแล้วเจ้าของรถยนต์วานให้ช่างซ่อมรถขับรถคันนั้นไปส่งที่อื่น เมื่อส่งเสร็จแล้วช่างซ่อมรถขับรถกลับอู่ไปเกิดชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายระหว่างทางดังนี้ ช่างซ่อมรถไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถยนต์เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมรับผิดในการละเมิดนั้น
สัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 นั้น ผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2522 จำเลยที่ 14 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ ได้ว่าจ้าง พ. ไปยึดรถคันดังกล่าวคืนมา พ. ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการยึดอีกต่อหนึ่ง เมื่อยึดรถได้แล้วจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวมาเพื่อมอบให้ พ. ระหว่างทางจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 จ้าง พ. ไปยึดรถยนต์เป็นการจ้างทำของมิใช่จ้างแรงงาน เพราะเป็นการถือเอาความสำเร็จของงานเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญา มิใช่สัญญาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เมื่อ พ. จ้างจำเลยที่ 2 ไปยึดรถอีกต่อหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อยู่ในฐานะนายจ้างและไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2
กรณีข้อยกเว้นที่ผู้ว่าจ้างทำของจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง
1. ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ คือ ว่าจ้างให้เขาทำอะไรแล้วเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นเพราะการงานที่สั่งให้ทำแล้ว ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ทำละเมิด เช่น จ้างสร้างบ้านให้รุกล้ำเขตที่ดินของคนอื่น ในส่วนของผู้รับจ้างจะต้องรับผิดหรือไม่ก็ต้องพิจารณาว่ารู้หรือไม่รุกล้ำ ถ้ารู้ก็ต้องรับผิดด้วยฐานทำละเมิดโดยจงใจ
กรณีวิธีการตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างอาคารแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ก็ต้องดูว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้สั่งให้ทำให้ทำหรือไม่ ถ้าสั่งให้ทำผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิด แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างตามแบบแปลนปกติแล้วผู้รับจ้างไปใช้วิธีการใดๆที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยผู้ว่าจ้างไม่ได้สั่งการ ผู้ว่าจ้างก็ไม่ต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2514 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง ที่สั่ง ส. ผู้รับจ้างว่าให้ ส. ทำการก่อสร้างอาคารไปตามแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นไว้ต่อเทศบาลและเทศบาลได้อนุญาตแล้ว เป็นคำสั่งกำชับให้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างจำเลยผู้ว่าจ้างกับ ส. ผู้รับจ้าง ไม่เป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับการทำการก่อสร้างอาคารของ ส. ผู้รับจ้าง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้ ส. ตอกเสาเข็มด้วยเครื่องจักรอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์การตอกเสาเข็มจึงเป็นการกระทำของ ส. ผู้รับจ้างเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2531 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของอาคารโจทก์เกิดขึ้นเนื่องจากการตอกเสาเข็มและการขุดดินสร้างฐานรากอาคารชุดของจำเลยมีปัญหาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยซื้อเสาเข็มจากบริษัท น. ซึ่งมีหน้าที่ตอกเสาเข็มด้วย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 นั้นได้ความจากวิศวกรพยานจำเลยว่า การตอกเสาเข็มมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีเจาะและวิธีตอก วิธีตอกจะกระเทือนต่ออาคารข้างเคียงมากกว่า เพราะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนมาก ส่วนวิธีเจาะจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนน้อยมาก แต่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากกว่ากันประมาณ 3-4 เท่า เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองเลือกจ้างการตอกเสาเข็มวิธีตอกก็เพราะเห็นว่าจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะ ทั้งที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง อันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองไม่สนใจอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผู้ว่าจ้างให้ตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำทั้งได้ความจากคำเบิกความของนาย ส. พยานจำเลยอีกว่า การขุดดินทำฐานรากเป็นหน้าที่ของจำเลยไม่เกี่ยวกับผู้ขายเสาเข็มเช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2535 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 สร้างอาคารคอนโดมิเนียม การตอกเสาเข็มจำเลยที่ 2 ได้ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้และตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างในระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ได้ให้ตัวแทนไปตรวจการก่อสร้างด้วย การตอกเสาเข็มจึงเป็นส่วนการงานที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 กระทำเมื่อเกิดการเสียหายขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
การที่เศษวัสดุก่อสร้างตกลงไปในบ้านโจทก์หรือคนงานทิ้งขยะลงไปในบ้านโจทก์ เป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่ 2 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่มิได้ระมัดระวังในการดำเนินการก่อสร้าง มิใช่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ในคำสั่งหรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะจำเลยที่ 2 ดำเนินธุรกิจก่อสร้างมีวิศวกรควบคุมงาน นับได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เลือกหาผู้รับจ้างที่ควรจะทำงานของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2539 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างและตอกเสาเข็มยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดิน มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตอกเสาเข็มบนที่ดิน เมื่อเกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ที่ 1 ซึ่งอยู่บนที่ดินข้างเคียง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เคยเข้าไปตรวจดูแลซ่อมแซมให้บางส่วน พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็ม แต่ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 4 ในการตอกเสาเข็ม ซึ่งโดยปกติผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง การที่จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ห่างรั้วกำแพงของโจทก์เพียง 2 เมตรเท่ากับจำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ อันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 โดยพิเคราะห์ตามคำเบิกความของ ย. พยานโจทก์ที่ 1 ประกอบภาพถ่ายและใบประเมินราคาแล้ว เห็นว่ากำแพงรั้วพื้นซีเมนต์ตัวอาคารและสระน้ำเสียหายเป็นจำนวนมากจึงเหมาะสมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2544 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 บัญญัติว่า"ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง" โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ผิดตามมาตรา 428 ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ผิดในส่วนสั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้แก่ผู้รับจ้างอย่างไรและในการเลือกผู้รับจ้างคือบริษัท ฟ. ซึ่งเป็นผู้ตอกเสาเข็มและก่อสร้างฐานรากก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษในการก่อสร้างอาคารสูง การที่จำเลยว่าจ้างบริษัท ป. เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ย่อมหมายความว่าจำเลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือสั่งการในการทำงานแต่อย่างใด เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัททั้งสอง เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์จะต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ก่อสร้างคือบริษัท ฟ. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิด จำเลยไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันทำให้จำเลยต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4304/2558 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่ดินพิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 428 ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
2. รับผิดเพราะคำสั่งที่ตนให้ไว้ คำสั่งตามมาตรา 428 ไม่ใช่คำสั่งบังคับบัญชา แต่เป็นคำสั่งเชิงแนะนำเท่านั้น เช่น นั่งรถแท็กซี่แล้วบอกให้ขับรถเร็ว เหยียบเต็มที่ไปเลยจะรับผิดชอบเอง หากเกิดเหตุละเมิดขึ้นจากการขับรถเร็ว ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดเพราะคำสั่งที่ตนให้ไว้ เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2532 การตอกเสาเข็มและการขุดดินทำห้องใต้ดินบริเวณก่อสร้างของจำเลยทำให้บ้านของโจทก์และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นได้รับความเสียหาย แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ตอกเสาเข็มเอง แต่ก็ได้ว่าจ้างบริษัทอื่นทำและจำเลยควบคุมการตอกเสาเข็มให้ถูกต้องตามจำนวนและตอกตรงจุดที่กำหนดให้ตอก การตอกเสาเข็มดังกล่าวกระทำไปตามคำสั่งหรือคำบงการของจำเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการกระทำตามคำสั่งของจำเลยโดยตรง จำเลยหาพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2535 จำเลยที่ 2 รับจ้างเทศบาลจำเลยที่ 1 ก่อสร้างทางระบายน้ำจำเลยที่ 2 ขุดดินวางท่อระบายน้ำตามแนวที่วิศวกรผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 กำหนดให้โดยแนวอยู่ห่างจากต้นหางนกยูงเพียงประมาณ 20 เซนติเมตร มีการตัดรากของต้นหางนกยูงด้านที่อยู่ใกล้กับบ่อพักท่อระบายน้ำนั้นออก ต้นหางนกยูงมีลำต้นขึ้นเอียงไปทางถนนโดยทำมุมกับถนนประมาณ 45 ถึง 60 องศา ก่อนเกิดเหตุแล้วและไม่มีรากแก้วคงมีแต่รากฝอย การที่จำเลยที่ 2 ตัดรากของต้นหางนกยูงด้านที่อยู่ติดกับบ่อพักน้ำโดยที่ต้นหางนกยูงเอียงไปทางถนนทำมุมกับถนนอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 ควรจะคาดเห็นได้ว่าจะทำให้ต้นหางนกยูงล้มลงได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้หาทางป้องกันมิให้ต้นหางนกยูงล้มลง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความประมาทที่ต้นหางนกยูงล้มทับผู้ตายทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิด
วิศวกรผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดแนววางท่อระบายน้ำให้จำเลยที่ 2 โดยกำหนดแนวให้อยู่ห่างจากต้นหางนกยูงที่ล้มลงเพียงเล็กน้อย เป็นผลให้การขุดดินวางท่อระบายน้ำของจำเลยที่ 2 ต้องตัดรากของต้นหางนกยูงที่ล้มลงออกด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างวางท่อระบายน้ำเป็นผู้ผิดในคำสั่งที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้ และต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดเพื่อความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย
3. รับผิดเพราะการเลือกหาผู้รับจ้าง เช่น การเลือกผู้รับจ้างที่ไม่มีความรู้ความสามารถในการงานที่จะทำนั้นให้มาทำงานให้ เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2552 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ท. ให้รับเหมาก่อสร้างบ้านโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้ ท. ทำงานตรงไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ ท. เปลี่ยนแปลงขนาดเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาแพงกล่าวเดิม และเป็นคนเอาเงินให้ ท. ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้ ท. จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และการที่ ท. ไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรก ก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่า ท. เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ ท. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และแม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ฟ้อง ท. ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด