2 มี.ค. 2567

การกระทำความผิดโดยอ้างเหตุบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

          การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72  "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"


          หลักเกณฑ์ 

          1. ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          2. การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
          3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ

          การข่มเหง หมายถึง รังแก แกล้ง หรือทำให้รู้สึกอับอาย หรือข่มเหงน้ำใจ เช่น 

          ด่าว่าแม่ของผู้กระทำผิดเป็นโสเภณี เป็นการข่มเหงผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2544  ผู้เสียหายตะโกนด่าถึงมารดาจำเลยว่ามารดาจำเลยเป็นโสเภณีและถึงแก่กรรมด้วยโรคเอดส์ เป็นการกล่าวหาว่ามารดาจำเลยสำส่อนทางเพศ ถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยตบหน้าผู้เสียหาย2 ครั้ง ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225




          เอาเท้าพาดศีรษะผู้อื่นแล้วลูบเล่น เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2522  ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับผู้ตายนั่งดื่มสุราด้วยกันบนบ้านนาง พ. แล้วเกิดขัดใจกันขึ้น จำเลยได้ใช้กำลังกายชกต่อยเตะ และใช้เท้ากระทืบผู้ตายที่บริเวณท้องและหน้าอก เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ตามรายงานการตรวจศพของแพทย์ท้ายฟ้อง ปรากฏว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะลำไส้ทะลุ เส้นเลือดดำในท้องฉีกขาด และเยื่อบุช่องท้องอักเสบทั่วๆไป จากการได้รับอันตรายอย่างรุนแรงที่หน้าท้องและหน้าอก ในชั้นนี้มีปัญหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวหรือเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยนำสืบว่าผู้ตายตบศีรษะจำเลยแล้วเอาเท้าขึ้นวางพาดศีรษะจำเลย จำเลยปัดเท้าผู้ตายออกไป พร้อมกับลุกขึ้นจะออกจากบ้านนาง พ. ผู้ตายกลับฉุดกระชากแขนจำเลยไว้ และเอามืออีกข้างหนึ่งล้วงที่เอวจำเลยเข้าใจว่าผู้ตายล้วงเอามีดหรือปืนออกมาทำร้ายจำเลย จำเลยจึงชกที่บริเวณศีรษะผู้ตาย 1 ที และเตะบริเวณลำตัว 2-3 ที ข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นพิจารณา ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อรูปคดีฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวดังที่จำเลยนำสืบ ส่วนการกระทำของจำเลยเป็นเพราะบันดาลโทสะหรือไม่ ได้ความจากนาง พ. พยานโจทก์ว่า สาเหตุแห่งการทำร้ายกันอาจเป็นเพราะผู้ตายเมาสุราแล้วเอาเท้าพาดหัวจำเลยและลูบหัวเล่น จำเลยเป็นคนถือพระถือเจ้าจึงโกรธและทำร้ายเอาก็ได้ ประกอบกับร้อยตำรวจเอก ส.พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายเมาสุราได้ใช้มือลูบคลำตบศีรษะจำเลยเล่น จำเลยห้ามก็ไม่เชื่อกลับพูดจาก้าวร้าวจำเลย จำเลยลุกขึ้นจะหนีแต่ผู้ตายดึงมือไว้อีกจนเซไป จำเลยรู้สึกโมโหจึงได้เข้าทำร้ายผู้ตายทันที ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยได้เข้าทำร้ายผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ"

          พูดเย้ยหยันว่าเคยฆ่าบิดาจำเลยมาแล้ว วันนี้จะมาฆ่าจำเลยซึ่งเป็นลูกอีก เป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7774/2544  ผู้ตายพูดกับจำเลยว่า "มึงไม่นักเลง พ่อมึงถูกกูฆ่าตั้งแต่เล็ก ๆ มึงไม่มีน้ำยา" จำเลยตอบว่า "เสร็จแล้วก็ให้เสร็จกันไป" ผู้ตายพูดว่า"เสร็จแต่มึง กูไม่เสร็จ" เป็นการพูดในบริเวณงานต่อหน้าผู้มาร่วมงานศพจำนวนหลายคน ทั้งผู้ตายถูกกล่าวหาว่าฆ่าบิดาจำเลย แต่ต่อสู้คดีจนพ้นความผิด ที่ผู้ตายกล่าวถ้อยคำตอกย้ำความรู้สึกของจำเลยว่าผู้ตายฆ่าบิดาจำเลยตั้งแต่จำเลยยังเป็นเด็ก แต่จำเลยก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำอะไรได้ แม้จำเลยจะพูดโต้ตอบไปว่าไม่ติดใจในเรื่องดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้ตายก็ยังพูดทำนองท้าทายจะเอาเรื่องกับจำเลยอีกย่อมเป็นการเย้นหยันสบประมาทต่อจำเลยอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองขึ้นมาโดยทันใดอย่างมาก ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยหยิบมีดพร้าในบริเวณที่เกิดเหตุฟันผู้ตายในขณะนั้น 1 ครั้ง ที่บริเวณศีรษะจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72

          ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2531  ผู้ตายกับภรรยาซึ่งเป็นบุตรสาวจำเลยทะเลาะกันอยู่ในห้องนอนและมีเสียงร้องดัง จำเลยจึงเปิดประตูห้องเข้าไปดูเพื่อระงับเหตุเห็นผู้ตายกำลังนั่งคร่อมทับเอามือจับที่คอภรรยาอยู่ จำเลยเดินเข้าไปกระชากไหล่ผู้ตายออกจากภรรยา ผู้ตายลุกขึ้นชกจำเลย 1 ทีแต่จำเลยหลบทัน แล้วจำเลยคว้าอาวุธปืนลูกซองยาวซึ่งอยู่ในห้องนอนนั้นยิงผู้ตายไป 1 นัด ถึงแก่ความตาย ดังนี้ การที่จำเลยเข้าไประงับเหตุระหว่างผู้ตายกับภรรยา แต่กลับถูกผู้ตายซึ่งเป็นบุตรเขยชกทำร้ายเอานั้น นับได้ว่าผู้ตายได้กระทำการอันไม่สมควรและโดยปราศจากความเคารพยำเกรงต่อจำเลยผู้เป็นพ่อตาซึ่งมีอายุมากแล้ว เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในขณะนั้นจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

          แอบดูลูกสาวผู้อื่นอาบน้ำ ถือเป็นการข่มเหงบิดาอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3649 - 3650/2547  ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นวัยรุ่นบุกรุกเข้ามาในบริเวณบ้านที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวอยู่อาศัยและปีนหลังคาห้องน้ำแอบดูการอาบน้ำของน้องสาวจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในวัยรุ่นเช่นกันและยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการข่มเหงจำเลยที่ 2 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จนก่อให้เกิดโทสะขึ้นถึงขั้นกระทำความผิดลงได้ จำเลยที่ 2 ใช้มีดพร้าฟันผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 จะกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองในลักษณะที่รุนแรงเกินไป การกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงในการกระทำผิด

          หญิงอื่นไปนอนกับสามีคนอื่นในห้องนอน แม้ไม่ได้ร่วมประเวณีกันก็เป็นการข่มเหงภริยาอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3955/2547 การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเนื่องจากผู้ตายกับ น. ภริยาจำเลยอยู่ด้วยกันภายในห้องนอนตามลำพังสองต่อสอง และจำเลยพบเห็นเหตุการณ์โดยไม่คาดคิดมาก่อนจำเลยเกิดความโมโหหรือมีอารมณ์โกรธ จึงยิงไปในขณะนั้นทันทีที่พบเห็น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 แต่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          การข่มเหงเป็นการกระทำของผู้เสียหายเอง และเป็นการกระทำของผู้เสียหายฝ่ายเดียว เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว เช่น ผู้เสียหายตบศีรษะจำเลยก่อน จำเลยร้องห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหาย กรณีนี้ เมื่อเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยก็สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2517  ตอนเกิดเหตุผู้ตายเมาสุรา จำเลยไม่เมา เกิดโต้เถียงท้าทายกัน แล้วจำเลยเดินถอยหลังหนี ผู้ตายเดินตาม และใช้มือตบศรีษะจำเลยผู้มีอายุสูงกว่าถึง 5 ปี (จำเลยอายุ 48 ปี) จำเลยห้ามผู้ตายก็ไม่ฟังยังตามจำเลยเข้าไปข่มเหงอีก ดังนี้ เห็นว่าผู้ตายได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ปืนตีและยิงผู้ตายไปในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

          ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ หรือผู้กระทำความผิดสมัครใจวิวาทกับผู้อื่น จะอ้างว่าถูกผู้อื่นข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เช่น จำเลยผู้กระทำความผิดด่าแม่ผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายจึงด่าแม่จำเลยบ้าง จากนั้นทั้งสองฝ่ายใช้มีดแทงกัน ดังนี้ เป็นเรื่องด่าว่าและทะเลาะวิวาทกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2553) การข่มเหงอาจกระทำต่อบุคคลที่มีควาามสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดก็ได้ และถือว่าเป็นการข่มเหงต่อผู้กระทำความผิดด้วย เช่น ทำร้ายบิดามารดา ถือว่าเป็นการข่มเหงบุตรด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2544)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2553  การที่จำเลยด่าแม่โจทก์ร่วมตอบโต้ไป ก่อนเข้าฟันโจทก์ร่วม เท่ากับว่าจำเลยได้ถลำเข้าไปทะเลาะวิวาทกับโจทก์ร่วมด้วยแล้ว เมื่อต่างคนต่างก็ทะเลาะด่าว่าซึ่งกันและกันเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ป.อ. มาตรา 72 และไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้นได้
          การจำเลยใช้มีดอีโต้ซึ่งเป็นมีดทำครัวขนาดใหญ่เลือกฟันอย่างแรงที่ศีรษะลำคอและกลางหลัง ซึ่งล้วนเป็นอวัยวะสำคัญจนเป็นแผลฉกรรจ์ หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมแล้ว แม้เมื่อโจทก์ร่วมล้มลงหมดสติไปจำเลยจะไม่ได้ฟันโจทก์ร่วมซ้ำอีกก็ตาม

          ความสัมพันธ์อาจไม่ใช่ทางสายเลือดหรือเครือญาติ อาจเป็นความสัมพันธ์กันทางครอบครัวและทางจิตใจก็ได้ เช่น หญิงชายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีความสัมพันธ์กันทางครอบครัวและจิตใจ ชายอื่นมาล่วงเกินทางเพศต่อหญิงนั้น ถือเป็นการข่มเหงต่อชายนั้นอย่างร้ายแรงได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2544  จำเลยและ ส. มิได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายแต่จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดู ส. เยี่ยงภรรยา ซึ่งผู้เสียหายก็รู้แต่ผู้เสียหายยังไปลักลอบหลับนอนร่วมประเวณีกับ ส. การที่จำเลยยิงผู้เสียหายในขณะดังกล่าว จึงเป็นการบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

          การข่มเหงนั้น ต้องเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งปัญหาว่าร้ายแรงหรือไม่ ถือตามความรู้สึกของวิญญูชน แม้การกระทำนั้นจะไม่ถึงขนาดกระทำผิดกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าวิญญูชน คือ คนทั่วๆไปที่มีฐานะอย่างเดียวกับผู้กระทำผิดมีความรู้สึกโกรธก็ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เช่น สามีหรือภริยามีชู้ สังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง


          การกระทำของผู้ข่มเหงต้องเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คือ ผู้ข่มเหงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้ข่มเหงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ผู้กระทำก็ต้องยอมรับ


          การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เป็นการกระทำโดยเจตนา หากผลเกิดแก่บุคคลอื่นโดยพลาด ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาดตามมาตรา 60 ด้วย


          การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำความผิดเพราะความโกรธที่มาจากการข่มเหง และต้องกระทำความผิด ต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แต่ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้ว ควรหมดโทสะได้แล้ว หากไปกระทำผิดต่อผู้นั้นอาจจะเพื่อแก้แค้น ดังนี้ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2554 แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564  การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น 

          ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้วจึงควรหมดโทสะได้แล้ว หากไปกระทำผิดต่อผู้นั้นอาจจะเพื่อแก้แค้น หากถึงตายก็ผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2554 หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าก็ได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2554  เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มีชู้โดยจำเลยที่ 2 เห็นผู้ตายกับชายชู้เข้าห้องและปิดประตูอยู่ด้วยกัน มีลักษณะว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายทันทีที่ได้รับคำบอกเล่าจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          บันดาลโทสะ เป็นเหตุลดโทษ ถ้าฟังว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้


          จำเลยฆ่าผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย มารดาของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายในการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10908/2556  จำเลยฆ่า ส. ผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ส. จึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. มารดาของ ส. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 รวมทั้งไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กับไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ว. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          จำเลยกล่าวอ้างเหตุบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2563  แม้ตาม ป.วิ.อ. จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายใดก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ แต่อ้างเหตุลดหย่อนโทษว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร อันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2555 จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2554 แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2554 เพียงแต่ผู้ตายเป็นผู้ดำเนินการย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งที่หน้าบ้านจำเลยไปติดตั้งที่ศาลารวมใจ และโต้เถียงกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว แม้ผู้ตายจะด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายดังที่จำเลยอ้าง ก็หาใช่เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุที่ผู้ตายจะข่มเหงจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ