9 มี.ค. 2565

หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างไม่แจ้งความบกพร่องจนผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จเรียบร้อย จะอ้างเหตุบกพร่องเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้างในภายหลังไม่ได้ | สัญญาทางปกครอง | คดีปกครอง

 

          ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่องค์การบริหารส่วนตําบลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ทําสัญญาจ้างเอกชนซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนน โดยการจ้างทำงานดังกล่าวไม่มีแบบแปลน รายละเอียดงานให้เป็นตามใบประมาณการแนบท้ายสัญญา ซึ่งในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินงานนั้น มีผู้ควบคุมงานมาปฏิบัติหน้าที่
ควบคุมงานตามโครงการทุกวัน โดยมิได้มีข้อทักท้วงใด เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือส่งมอบงานจ้างต่อประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง คณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีใช้หินขนาดใหญ่ไม่ได้ขนาดตามมาตรฐานซึ่งจะทําให้หลุดล่อนง่าย และตามภาพถ่ายการดําเนินงานที่ผู้ฟ้องคดีแนบมาพร้อมกับหนังสือขอส่งมอบงานจ้าง ไม่มีภาพการขุดเอาชั้นพื้นทางที่เป็นหลุมบ่อออกแล้วลงวัสดุชั้นพื้นทางที่ดีแทนและไม่มีภาพการบดอัดงานชั้นรองพื้นก่อนปูแอสฟัลท์ติก จึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนการก่อสร้างและซ่อมแซม เห็นควรให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานให้ถูกต้อง
          ส่วนผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินงานตามสัญญาจ้างนั้น คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตําบลไม่ได้มาออกตรวจ ณ สถานที่ก่อสร้าง และตลอดระยะเวลาดําเนินการไม่เคยมีข้อทักท้วงจากคณะกรรมการตรวจการจ้างและองค์การบริหารส่วนตําบล แต่อย่างใด และการที่องค์การบริหารส่วนตําบลมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานจ้าง โดยไม่ระบุรายละเอียดว่าเนื้องานส่วนใดที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบ รายละเอียดของสัญญาจ้าง ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถแก้ไขงานได้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ่ององค์การบริหารส่วนตําบลต่อศาลปกครองขอให้มีคําพิพากษาให้องค์การบริหารส่วนตําบลเบิกจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้าง พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันส่งมอบงานให้แก่ผู้ฟ้องคดี
          ซึ่งหลังจากผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบงานจ้าง ปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตําบลก็ได้เปิดใช้ถนนสายที่พิพาท และได้เปิดใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบันโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญา
 
          คดีมีประเด็นปัญหาว่า องค์การบริหารส่วนตําบล ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาหรือไม่ ?

          คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาข้อกําหนดในสัญญาประกอบกับรายละเอียดงานตามใบประมาณการแนบท้ายสัญญาแล้ว เห็นได้ว่างานจ้างดังกล่าวมิได้ระบุวัสดุที่ใช้ในการปูพื้นผิวถนนแอสฟัลท์ติกว่าจะต้องใช้หินที่มีขนาด ๓/๘ และในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินการก่อสร้างมีช่างผู้ควบคุมงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเข้าควบคุมงานตลอด ปรากฏตามบันทึกการก่อสร้างประจําวัน โดยในบันทึกดังกล่าวผู้ควบคุมงานทําเครื่องหมายถูกว่าผู้ฟ้องคดีใช้วัสดุก่อสร้าง ใช้เครื่องมือจําเป็น และใช้แรงงานที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานพร้อมลงลายมือชื่อรับรองไว้ นอกจากนี้ ผู้ควบคุมงานได้มีบันทึกรายงานผลการก่อสร้างประจําสัปดาห์ต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยไม่ปรากฏข้อทักท้วงของผู้ควบคุมงานหรือคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าผู้ฟ้องคดีใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานหรือทํางานไม่เป็นไปตามขั้นตอนการก่อสร้าง 
          นอกจากนี้ ตามข้อ ๖๕ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ นั้น คณะกรรมการตรวจการจ้างมีอํานาจหน้าที่ตรวจและควบคุมงานจ้างในขณะที่งานจ้างกําลังอยู่ระหว่างดําเนินการหรือดําเนินการยังไม่แล้วเสร็จ มิใช่หน้าที่เฉพาะตรวจรับงานหลังจากที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างแล้วเท่านั้น เมื่อตลอดระยะเวลาการดําเนินงาน ผู้ถูกฟ้องคดีหรือคณะกรรมการตรวจการจ้าง หรือช่างผู้ควบคุมงานไม่ได้แจ้งความบกพร่องของงานว่าไม่ถูกต้องตามสัญญาอย่างไร เมื่อช่างผู้ควบคุมงานได้รายงานผลการก่อสร้างต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยได้รับรองว่าการดําเนินงานตามโครงการของผู้ฟ้องคดีได้ทํางานแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาจ้าง กรณีนี้จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินงานตามสัญญาจ้างมิได้เป็นผู้ผิดสัญญาแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีตามสัญญา พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันส่งมอบงานไปจนกว่าจะชําระเงินครบถ้วน (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. ๗๒/๒๕๖๔)