มาตรา 354 "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
มาตรา 352 "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง"
มาตรา 353 "ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน ไม่มีสิทธิที่จะทำการเบียดบังทรัพย์มรดกโดยนำมาจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนเองหรือผู้หนึ่งผู้ใดแต่เพียงผู้เดียว หากการกระทำของผู้จัดการมรดกซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลกระทำหน้าที่ของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้ทายาทแล้ว ผู้จัดการมรดกก็มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก ตามมาตรา 354
ผู้จัดการมรดกสามารถเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของผู้จัดการมรดกเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากล มีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต จากการที่ผู้จัดการมรดกมอบหมายให้บุตรชายของตนเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของตนเอง โดยผู้จัดการมรดกไม่ได้นำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563 เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ว. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของ ว. ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 354
ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เมื่อการจัดการมรดกของ ว. เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทและในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของ ว ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อน ว. เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่ มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทแม้จำเลยจะเป็นทายาทของ ว. ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกมากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการ รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้ อ. บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ให้แก่ ศ. ในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท แล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท นำเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของ ว. ก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ ว. เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354
ผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่ผู้จัดการมรดกโอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2553 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมากก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86
แม้มีการยักยอกทรัพย์มรดก แต่ถ้าผู้กระทำไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม ก็มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1205/2542 แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านกับสำเนาทะเบียนนักเรียนระบุว่า ล. เป็นบิดาโจทก์ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยใช้นามสกุลของผู้ตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายรับโจทก์มาอยู่กับผู้ตายที่บ้านและจำเลยที่ 3 ระบุในบัญชีเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกต่างมารดาเท่ากับยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย เมื่อได้ความว่าผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้โจทก์เรียนตัดเย็บเสี้อผ้า ทั้งผู้ตายยังเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้โจทก์ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวที่ผู้ตายแสดงต่อโจทก์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 28 (2)
หนังสือสัญญาพินัยกรรมระบุว่าผู้ตายเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินตามฟ้องทั้ง 3 แปลง แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แทน โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้นำที่ดินทั้ง 3 แปลงไปเป็นมรดกของผู้ตายโดยมิได้ระบุในรายการทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีมูลความผิดฐานยักยอก ส่วนผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นมิได้เป็นทายาทของผู้ตายและมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาพินัยกรรมด้วยเชื่อว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้นำมาระบุไว้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 83 แต่มีมูลความผิดตามมาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 และเมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามมาตรา 352, 83 แล้ว ในการกระทำอันเดียวกันนั้น ย่อมไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 354 ประกอบ 86 อีก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์...ว่า คดีโจทก์มีมูลว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของ จ. พยานโจทก์ว่า เมื่อปี 2533 ผู้ตายเคยบอกว่าซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงตามฟ้อง แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้แทน เนื่องจากผู้ตายมีที่ดินจำนวนมากอาจถูกสำนักงานปฏิรูปที่ดินยึดคืนไป ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความในหนังสือสัญญาพินัยกรรม พ.ศ. 2536 ที่ว่า ผู้ตายเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวและใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แทน นอกจากนี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวเช่นนี้ย่อมทราบข้อความดังกล่าวดี การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้นำที่ดินทั้ง 3 แปลงตามที่ระบุไว้ไปเป็นมรดกของผู้ตายโดยมิได้ระบุในรายการทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง เอกสารการจัดการมรดกของผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีมูลความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นเพียงผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ย่อมเชื่อว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้นำมาระบุไว้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 3 แปลง แทนผู้ตายหรือจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อย่างไร คดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่มีมูลอันเป็นความผิดตามฟ้อง
อนึ่ง เมื่อได้ความตามทางไต่สวนมูลฟ้องว่า เฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้นซึ่งคดีมีมูลว่าได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตาม 354 ประกอบด้วยมาตรา 83 แต่มีมูลความผิดตามมาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 และเมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามมาตรา 352, 83 แล้ว ในการกระทำอันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีมูลเป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 86 อีก
ผู้จัดการมรดกได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจากได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้ว และจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอมโดยที่ความจริงผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลย ผู้จัดการมรดกผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก ตามมาตรา 354 ส่วนทายาทที่ช่วยเหลือให้ความยินยอมผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 353, 354 ประกอบ 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2541 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 352 ผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ส่วนความผิดตามมาตรา 353 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหาย สำหรับความผิดตามมาตรา 354 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดมาตรา 352 หรือ 353 ได้กระทำในฐานะที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือ ว. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่น และไม่ได้มีฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354 ได้ เมื่อจำเลยไม่สามารถกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวได้ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับ ว.ในการกระทำความผิดตามมาตรา 83 ไม่ได้
การจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องสอบถามทายาทอื่น แตกต่างกับการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้รับมรดกเอง ซึ่งจะต้องมีการบันทึกการยินยอมของทายาทเจ้ามรดกไว้ด้วย และเป็นการจดทะเบียนที่ดินประเภทมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่า ว. ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจาก ว.ได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้ว และจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอมโดยที่ผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลย จึงเป็นการที่จำเลยช่วยเหลือให้ ว. ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของ ว.ในฐานะผู้รับมรดกเองอันเป็นการกระทำที่มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ.มาตรา 353, 354 ประกอบ 86 แล้ว
กองมรดกยังมีหนี้สินตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ การที่ผู้จัดการมรดกมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จะฟังว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769-770/2539 การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จ จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและเบิกความตามคำร้องนั้น โดยเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ดินและความเห็นของทนายความ โดยไม่มีเจตนาที่จะเบิกความเท็จ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
กองมรดกยังมีหนี้สินตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 ต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์จะฟังว่าเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไม่ได้ การที่จำเลยแบ่งขายที่ดินมรดกก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ก่อนตายกับผู้ซื้อ ถือไม่ได้ว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกของโจทก์เช่นกัน
ผู้จัดการมรดกขายที่ดินทรัพย์มรดกโดยยังไม่แบ่งเงินให้แก่ทายาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทยังไม่ได้เคยทวงถามให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินแต่อย่างใด การขายที่ดินจึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1750 คดีไม่มีมูลความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ผู้ตายต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ ว. โดยไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปด้วยวิธีการอันไม่สุจริตหรือมีเจตนาที่จะเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ทั้งก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เคยทวงถามจำเลยให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทำการขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปนั้น จึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1750 คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลดังฟ้อง
ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่โดยเลือกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองแล้วโอนต่อให้แก่ทายาทบางคน มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2537 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลและรู้ว่าทรัพย์มรดกจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่าๆ กัน แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง กลับโอนที่ดินดังกล่าวให้ตนเองและโอนต่อให้ ส. เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเองและโอนต่อให้ผู้อื่นโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่โจทก์ จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก, 354
จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน การที่จำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วย มาตรา 354
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน (ไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลกระทำหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น) ทายาทส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพราะได้มอบ-หมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก เอกสารหลักฐานทรัพย์มรดกทั้งหมดโจทก์ร่วมเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งจำเลยก็รู้เห็น แต่จำเลยกลับไปแจ้งความว่าตราจองที่ดินพิพาทสูญหาย ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทน แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยอ้างว่าควรจะเป็นของจำเลยจำเลยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วย มาตรา 354
ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททุกคนตามส่วน การร่วมกันเบียดบังทรัพย์มรดกโดยไม่ยอมแบ่งปันให้แก่ทายาทบางคน ถ้ากระทำในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมก็เป็นความผิดตามมาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 ส่วนผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2532 โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. เจ้ามรดกมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ด้วย การที่จำเลยนำที่ดินเหล่านั้นมาแบ่งปันกันโดยไม่แบ่งให้โจทก์หรือกันส่วนของโจทก์ไว้ จึงเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการร่วมกันเบียดบังที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์โดยทุจริต โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งมิได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก.
เนื่องจากความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเป็นความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายจึงต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว มิเช่นนั้น คดีย่อมขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777/2554 เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วย่อมถือว่า จ. เป็นตัวแทนของทายาททั้งหมด มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้ที่กระทำความเสียหายแก่กองมรดกด้วย ดังนั้นเมื่อ จ. นำคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปดำเนินการที่ธนาคาร ก. สาขาวังทอง เพื่อขอรับเงินในบัญชีของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าจำเลยนำคำสั่งศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมารับเงินในบัญชีไปแล้ว ย่อมถือว่า จ. รู้เรื่องผู้กระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ร่วมในฐานะทายาททราบเรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วด้วย
แม้วันสุดท้ายที่โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องทุกข์ จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถกระทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ในวันสุดท้าย คดีจึงขาดอายุความ
เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น หากมีการยอมความ ถอนฟ้อง หรือถอนคำร้องทุกข์ ก่อนคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมมีผลให้ความผิดดังกล่าวระงับไป
แต่การยอมความหรือการถอนคำร้องทุกข์นั้นจะต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2565 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 และมาตรา 354 ซึ่งมาตรา 356 ได้บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ อีกทั้งการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แต่การถอนคำร้องทุกข์อันจะเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้นต้องเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อสิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้ง น. เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสาม และให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม แต่ น. กลับเข้าทำบันทึกข้อตกลงซึ่งมีข้อความว่า ผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ อันเป็นการทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูจึงเป็นการไม่ชอบ การแสดงเจตนาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การที่ น. ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท โดยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลด้วย ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2554 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบด้วยมาตรา 86
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหาย หากมิใช่ทายาทหรือไม่มีสิทธิรับมรดก ก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2565 โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225