มาตรา 587 "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557 สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2555 จำเลยจ้างโจทก์ขับรถขนส่งสินค้าโดยโจทก์ต้องมีรถบรรทุกสินค้าของตัวเอง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่ปฏิบัติงานส่งสินค้าให้จำเลยเท่านั้น จึงบ่งบอกว่าจำเลยมุ่งผลสำเร็จของงานให้มีการขนสินค้าไปให้ลูกค้าตามช่วงเวลานั้นจนเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ อีกทั้งโจทก์จะมาทำงานวันใดก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยหากฝ่าฝืนจำเลยมีสิทธิลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555 โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยทำไม้โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ที่จำเลยทำได้นั้นให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่การขาย ให้เช่า มอบให้หรือโอนไปด้วยประการใดๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างทำของมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาจ้างแรงงาน กล่าวคือ
(1) สัญญาจ้างทำของนั้นมุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานที่ผู้รับจ้างทำให้แก่ผู้ว่าจ้าง แต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นกรณีที่ลูกจ้างตกลงทำงานตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ได้มุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงาน(2) สัญญาจ้างทำของผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างแก่ผู้รับจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานที่ทำนั้น แต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นนายจ้างจะต้องให้สินจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
(3) ในเรื่องอำนาจบังคับบัญชานั้น สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมการทำงาน ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้เสร็จตามที่ตกลงกันเท่านั้น ส่วนสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างให้ทำการงานตามคำสั่งของตน
(4) สัญญาจ้างทำของนั้น เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ผู้รับจ้างจะเป็นผู้จัดหามาเอง ส่วนสัมภาระถ้าผู้รับจ้างจัดหามาจะต้องจัดหาสัมภาระชนิดที่ดีด้วย เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่สัญญาจ้างแรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้สัมภาระเป็นของนายจ้าง
(5) สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง แต่ในส่วนสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
ผู้รับจ้างมีหน้าที่จัดหาเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ส่วนสัมภาระนั้นอยู่ที่การตกลงกัน แต่ถ้าฝ่ายผู้รับจ้างจัดหาก็ต้องจัดหาสิ่งที่ดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558 แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136-146/2529 การที่จำเลยที่ 2 รับเหมาตกแต่งห้องพักของโรงแรมโดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นสัญญาจ้างทำของ ต่อมาจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งห้องพักก็เป็นกรณีจ้างทำของเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วงตามลำดับ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงในฐานะลูกหนี้ร่วมชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง แม้จำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็คงต้องรับผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7
ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2510 โจทก์จ้างจำเลยให้เจาะน้ำบาดาลให้โจทก์ 1 บ่อ ตามสัญญาสัมภาระที่ต้องใช้ก็คือท่อกรองน้ำ ท่อน้ำ เครื่องปั๊มน้ำ ฯลฯ จึงถือได้ว่าการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเป็นส่วนหนึ่งของการเจาะบ่อน้ำบาดาล ปั๊มน้ำฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหา สิ่งของเหล่านี้ฝ่ายใดจะเป็นผู้จัดหามาก็ตามต้องถือว่าเป็นสัมภาระใช้ในการเจาะบ่อน้ำบาดาลอยู่นั่นเอง หากการงานที่ทำเกิดการบกพร่องสูบน้ำไม่ได้ปริมาณตามสัญญา เป็นเพราะความบกพร่องของปั๊มน้ำที่โจทก์จัดหามา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ ไม่ต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2554 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ผลิตตุ๊กตาช้าง 2 รายการ คือตุ๊กตาช้างสวมชุดเอี๊ยมและตุ๊กตาช้างบนฐานโยกเยก เมื่อโจทก์ผิดนัดโดยไม่สามารถส่งสินค้าตุ๊กตาช้างสวมชุดเอี๊ยมได้ทันภายในกำหนดจนจำเลยบอกเลิกสัญญาในส่วนตุ๊กตาช้างสวมชุดเอี๊ยมมาแล้ว จำเลยอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินการผลิตสินค้าตุ๊กตาช้างบนฐานโยกเยกให้แก่จำเลยได้ทันกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 593 ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายจากค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นในการที่จำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นผลิตสินค้าได้
ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ผู้ว่าจ้างจะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6314/2550 เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น
เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2538 กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อสัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้ามาก จำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 387 แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอม โดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง
กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเอง โดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 605
ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้
ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7809/2540 จำเลยทำงานล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้จำเลยโดยดี โดยงานที่จำเลยทำส่วนใหญ่สมบูรณ์ มีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำงานที่จ้างให้โจทก์เสร็จแล้ว
ตามสัญญาจ้างเหมาฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างต้องทำงานรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในสัญญานี้เป็นต้นไปถ้าหากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันจนกว่าผู้รับจ้างจะทำงานรายนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่มีทางที่จะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จได้ เมื่อครบกำหนด 60 วันแล้ว ผู้รับจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะเลิกสัญญานี้ได้ทันที และหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นอันเนื่องจากผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่กลับยอมต่ออายุสัญญาให้จำเลยโดยยอมรับเอาผลงานของจำเลยและชำระค่าจ้างให้จำเลยในวันซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดอายุสัญญาที่โจทก์ต่อให้แล้ว แสดงว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2540 แม้โจทก์ผู้รับจ้างจะก่อสร้างอาคารให้จำเลยไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อจนอาคารแล้วเสร็จ และจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายอาคารนั้นให้บุคคลอื่นไปหลังจากนั้นจำเลยยังให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอีกหลังหนึ่งด้วยและจำเลยก็ไม่ติดใจเรื่องค่าปรับวันละ 1,000 บาท ตามสัญญา ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ได้เคร่งครัดเรื่องกำหนดเวลาการก่อสร้างและไม่ได้ติดใจในเรื่องค่าปรับ ทั้งยังยอมรับผลงานของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว อันเป็นการยอมรับชำระหนี้โดยมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 381 วรรคสาม
ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549 โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7172/2547 ความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 หมายความถึงความชำรุดบกพร่องซึ่งเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 598 , 599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้กับผู้ว่าจ้างครบถ้วนแล้ว มิใช่หมายถึงการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา
ที่จำเลยฎีกาว่า ว. ตัวแทนโจทก์รับมอบงานก่อสร้างบ้านจากจำเลยโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 นั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญา หาใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานที่ทำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญาจริง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยตามสัดส่วนของงานที่ยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อยตามสัญญาได้
สินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ แต่ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วนๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนๆ ก็ให้ใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1383/2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 บัญญัติว่าอันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ ดังนี้ เมื่อโจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าแรงและค่าวัสดุให้แก่โจทก์ในเวลาที่รับมอบงาน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ โดยมิต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552 สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ต้องทวงถามลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้เสียก่อนแต่ประการใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อันจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเสียก่อน และเมื่อระยะเวลาที่ได้ทวงถามนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วจึงได้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างจากจำเลยทั้งสามได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยทั้งสามรับมอบการงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการตกลงว่าจ้างกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 มิใช่ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสามชำระหนี้หลังจากที่จำเลยทั้งสามรับทราบการกำหนดราคาหรือประเมินค่าจ้างจากโจทก์ เพราะหากกรณีเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้แล้วก็เท่ากับโจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองตามอำเภอใจนั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5203/2546 วันที่โจทก์ส่งมอบงานถมดินและปรับพื้นที่ย่อมไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะรับมอบงานหรือไม่ มิใช่ว่าเมื่อโจทก์ส่งมอบงานแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ทันที เพราะงานที่ส่งมอบอาจมีข้อบกพร่องอันจะต้องแก้ไขเสียก่อน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานเป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ลงชื่อในบันทึกท้ายหนังสือของคณะกรรมการตรวจรับงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 แต่ก็ยังมีข้อเรียกร้องให้โจทก์ปรับถนนให้เรียบร้อยเสียก่อน แสดงว่าการรับมอบงานของจำเลยที่ 1 ไม่เร็วไปกว่าวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2541 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ไม่ขาดอายุความ
ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2545 สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างต่อผู้รับจ้างได้โดยการแจ้งบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า 3 เดือน ไปยังผู้รับจ้างมีความหมายว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยพลันไม่ได้ ต้องให้เวลาโจทก์เตรียมตัวไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อหยุดการก่อสร้าง หยุดการจัดหาสัมภาระในการก่อสร้าง เตรียมรื้อถอนโรงเรือนและวัสดุอุปกรณ์และเลิกจ้างคนงานตลอดจนคำนวณค่าจ้างและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น มิใช่ว่าโจทก์จำเลยยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญากันโดยโจทก์ต้องก่อสร้างและจำเลยต้องชำระเงินตามกำหนดกันอีกถึง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่สัญญาต้องเลิกกันอยู่แล้ว จึงต้องถือว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเลิกกันตั้งแต่วันที่แจ้งบอกเลิกสัญญา
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโดยจำเลยเป็นผู้บอกเลิกสัญญาอาศัยสิทธิในฐานะผู้ว่าจ้างและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญากรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 ที่จำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นสำหรับเงินค่าเตรียมการก่อสร้าง เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วก็ไม่ต้องเตรียมการก่อสร้างต่อไปอีก ส่วนเงินค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลังโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยถือว่าสัญญายังไม่เลิกกันจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 605
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6598/2541 แม้การดำเนินการก่อสร้างของโจทก์ล่าช้า คนงานน้อย เครื่องมือไม่ทันสมัย ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่สัญญาว่าจ้างฉบับพิพาทระบุเพียงว่า ผู้รับจ้างจะทำการก่อสร้างให้อยู่ภายในสัญญาจะเกินสัญญาไม่ได้เท่านั้น สัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ชัดแจ้ง ทั้งโจทก์ก็ประสงค์จะทำงานต่อไปหากจำเลยเห็นว่าโจทก์ทำงานล่าช้ามาก จะเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตามป.พ.พ.มาตรา 387 แต่จำเลยมิได้กระทำ แต่จำเลยกลับให้โจทก์หยุดดำเนินการก่อสร้างทันที และว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างแทนโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวย่อมเป็นการใช้สิทธิในการเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆอันเกิดจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 605
สัญญาจ้างทำของมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น แม้จะตกลงกันโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2561 โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง
แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่ปัจจุปันนี้มี พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า สัญญารักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ ดังนั้น การให้บริการรักษาความปลอดภัยจึงต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2565 ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้...” อันมีความหมายว่า ในการให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจะถือว่ามีการทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า “ให้การให้บริการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือหรือมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง เป็นโมฆะ” ฉะนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้องมีเพียงโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจ้างฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้าง ต้องถือว่าการให้บริการรักษาความปลอดภัยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์แก่จำเลยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า สัญญารักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ และเมื่อการรักษาความปลอดภัยมีลักษณะเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์สิ่งใดที่สามารถคืนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ด้วย โดยการคืนทรัพย์สินในกรณีนี้สามารถทำได้โดยกำหนดให้จำเลยใช้เงินเท่ากับบริการที่จำเลยได้รับจากโจทก์ และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย
อายุความ
การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าจ้าง(สินจ้าง)ตามสัญญาจ้างทำของ มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้