6 มี.ค. 2567

ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์

          ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้แบ่งที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
          (1) ที่วัด
          (2) ที่ธรณีสงฆ์
          (3) ที่กัลปนา
          ส่วนที่ดินที่ไม่ได้เป็นของวัดหนึ่งวัดใด แต่เป็นทรัพย์สินของพระศาสนา ได้แก่ ที่ศาสนสมบัติกลาง

          ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น เป็นที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดหนึ่งวัดใดโดยเฉพาะ
          ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด แต่ไม่ใช่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัด เช่น ที่ดินที่มีผู้อุทิศยกให้แก่วัดหนึ่งวัดใด เป็นต้น



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2542   พระภิกษุ ส. ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศและเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ ส. ในขณะถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 แต่วัดมิใช่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุที่ถึงแก่มรณภาพตามมาตรา 1629 ดังนั้น การที่วัดจำเลยร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส. จึงมิใช่กรณีทายาทร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งมรดกให้ทายาท การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลแห่งกฎหมาย
          แม้ก่อนถึงแก่มรณภาพพระภิกษุ ส. ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ผ่อนชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2) และมาตรา 34 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกพระภิกษุ ส. จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยร่วม แม้จะ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 ก็เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นิติกรรมย่อมเสียเปล่ามาแต่แรก โดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 หรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354/2540   แม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุส. ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2528 และชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่พระภิกษุ ส. ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จนพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพในปี 2530 เมื่อชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของพระภิกษุ ส. อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ส. ที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาในขณะที่พระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นเมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองตามกฎหมายและถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดศรีบุญเรืองด้วย ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติให้ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติฯ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องสิทธิอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.หรือวัดศรีบุญเรืองจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใดๆได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นิติกรรมดังกล่าวจึงเสียเปล่ามาแต่แรกโดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1หรือวัดศรีบุญเรืองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและชำระราคาแก่พระภิกษุ ส.ครบถ้วนแล้วได้เพราะวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ จึงเป็นนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72(1) ต่างหากจากพระภิกษุ ส. ผู้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุ ส. และชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2510   ที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้าซึ่งเป็นของวัด แม้จะตั้งอยู่ห่างจากตัววัด ก็จัดเข้าอยู่ในประเภทที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2)

          ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา ที่กัลปนาจึงไม่ใช่ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของวัด แต่เป็นที่ดินที่เจ้าของอุทิศเพียงผลประโยชน์จากที่ดินนั้นให้วัดหรือพระศาสนาเท่านั้น หากต่อมาเจ้าของที่ดินยกที่ดินนั้นให้วัด ที่ดินนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นที่ธรณีสงฆ์ต่อไป
          ที่ศาสนสมบัติกลาง คือ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง เช่น วัดที่ถูกยุบไปที่ดินของวัดนั้นก็จะกลายเป็นที่ศาสนสมบัติกลาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2531   ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของวัดนก (ร้าง) อันเป็นที่ศาสนสมบัติแม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

          การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง
          มาตรา 34  "การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง
          การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องและได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
          ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558   โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว
          แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9543/2551   โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้อื่นแล้วยกให้วัดโจทก์ที่ 1 ขณะที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่เป็นนิติบุคคล ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 โดยมีโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส โจทก์ที่ 2 ก็ได้แสดงเจตนายืนยันว่าได้มีการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ตลอดมาโดยมีการทำบันทึกถ้อยคำว่า โจทก์ที่ 1 มีความประสงค์ขอรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่สร้างวัดที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของแผ่นดินสำหรับใช้เป็นที่สำหรับสร้างวัดโจทก์ที่ 1 ตามเจตนาของผู้อุทิศทันทีโดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อสร้างวัดโจทก์ที่ 1 เสร็จเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคมเห็นชอบให้ตั้งวัดโจทก์ที่ 1 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2513 ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แล้วตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยไปรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 1 มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยไปยังจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546   หากเจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์และที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การโอนที่ธรณีสงฆ์จะต้องทำตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินจะได้มีการโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง เมื่อการโอนมิได้ทำตามกฎหมายจึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้ง ย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดพิพาท และขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยทั้งสองไม่ ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2545   หลังจากตั้งวัดโจทก์ขึ้นแล้ว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นโดยยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนอยู่ 10 ปี จึงสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัดด้วยความยินยอมของโจทก์ แต่เมื่อวัดโจทก์ย้ายออกไปแล้ว โจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาทยังคงนำที่ดินออกหาผลประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาทเป็นโรงเรียนหาใช่เป็นการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่ เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้ยกให้เพื่อสร้างวัด ซึ่งต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นตามเจตนาของผู้ยกให้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่วัดและเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โดยที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่มีผู้นำที่ดินพิพาทไปออก น.ส. 3 ก. เป็นชื่อจำเลยและต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาทยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์อยู่เช่นเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2542  แม้ก่อนถึงแก่มรณภาพพระภิกษุ ส. ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ผ่อนชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2) และมาตรา 34 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกพระภิกษุ ส. จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยร่วม แม้จะ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 ก็เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นิติกรรมย่อมเสียเปล่ามาแต่แรก โดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 หรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6943/2538  การแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 เป็นกรณีที่ใช้บังคับได้แต่เฉพาะแก่ทรัพย์สินธรรมดาสำหรับทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์นั้นต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษในเรื่องกรรมสิทธิ์และการโอนที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินธรรมดามาใช้บังคับไม่ได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่อง ทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น โจทก์จะยกเรื่องการแย่งการครอบครองขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้ง ในเรื่องที่วัดไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645-5646/2538   ในระหว่างพิจารณา พ. รักษาการเจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่นาย ช. และนาย น. ฟ้องคดีแทนวัดโจทก์พร้อมกับได้ชี้แจงเหตุผลประกอบ และได้ส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่โดยไม่ได้ระบุมอบอำนาจให้นาย ช. เป็นผู้ฟ้องคดีแทนด้วยเพราะนาย ช. ถึงแก่กรรมไปแล้วย่อมเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นาย ช. และนาย น. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์มาแต่ต้น   ที่ดินโจทก์ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าช้ามาแต่โบราณกาล ล้อมรอบด้วยที่ธรณีสงฆ์ของวัด บ. จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎต่อมาว่านาย ห.เป็นผู้แจ้งสิทธิครอบครองในที่ป่าช้าดังกล่าวไว้ด้วยเหตุผลที่จะกันไม่ให้ถูกบุกรุกยึดครอง โดยเจตนาของนาย ห. ดังกล่าวนี้ได้ประกาศชัดเจนว่าถือครองในฐานะแทนโจทก์ ซึ่งจำเลยก็มิได้คัดค้านโต้แย้งเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงที่บริเวณที่ดินใกล้เคียงที่ป่าช้า ซึ่งหากจำเลยยึดถือครอบครองและออกโฉนดซึ่งมีทั้งซากวัตถุโบราณซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฝังศพ ตลอดจนทางจำเลยก็ยอมรับถึงความเชื่อถือที่ไม่ยอมใช้น้ำในหนองโบสถ์ตรงตามที่พยานโจทก์เบิกความเป็นหนองน้ำใช้ล้างกระดูกศพ แล้วยิ่งเห็นได้ชัดว่าคำยืนยันของโจทก์ดังกล่าวเป็นความจริงว่าที่ดินพิพาทที่ล้อมรอบป่าช้าของโจทก์ เป็นที่ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการฝังศพจริง ที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด บ. โจทก์ จำเลยไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันวัดโจทก์ การออกโฉนดในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ และโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนได้ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029/2519   พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ครอบคลุมถึงอายุความได้ภารจำยอมด้วย ผู้ใดจะยกอายุความขึ้นอ้างกับวัดในเรื่องที่ดินของวัด หรือที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้

          แม้หน่วยงานราชการก็จะเข้าไปยึดถือครอบครองที่วัดไปเป็นกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2513  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง  ตามโฉนดที่ 2693  และโฉนดที่ 2649  เป็นที่ดินวัดประดิษฐารามโจทก์  กระทรวงการคลังจำเลยได้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้รุกล้ำเอาที่ดินซึ่งเป็นที่วัดโจทก์  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า กระทรวงการคลังจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงโดยเก็บค่าเช่าจากผู้อยู่อาศัยตลอดมาเกิน 10 ปี และวัดโจทก์ก็ไม่คัดค้าน หรือไม่ส่งคนไปรังวัดแนวเขตในเมื่อมีการรังวัดออกโฉนดพิพาท ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ เพราะเมื่อฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่วัดเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโจทก์แล้ว กระทรวงการคลังจำเลยจะเข้าไปยึดไปเป็นกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์  ร.ศ. 121  มาตรา 7  ซึ่งต่อมาได้แก้ไขตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3  พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41  และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505  ซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 34  ซึ่งบัญญัติได้ตลอดมาว่า  ที่วัด ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้  และว่าที่วัด จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด

          แต่ถ้าบุคคลอื่นเป็นเจ้าของร่วมกับวัด ย่อมมีสิทธิขอให้แบ่งที่ดินนั้นได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2507  ในกรณีที่วัดกับบุคคลอื่นเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกัน เมื่อมีเหตุที่จะต้องแบ่งทรัพย์ต่อกัน ศาลก็พิพากษาให้แบ่งทรัพย์นั้นได้ และย่อมพิพากษาถึงวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ได้ ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

          ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (มาตรา 35)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544   ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285(4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ ศาลฎีกาให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลย
          การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ ส.  ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2540   ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35ที่บัญญัติว่า ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี" ย่อมหมายถึงว่าเมื่อมีการบังคับคดีแล้วจะต้องมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามยึดหรืออายัด การที่ทนายโจทก์และจำเลยตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าให้จำเลยจัดทำถนนในที่ดินพิพาทโดยจำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์บิดพริ้วจำเลยไม่จำต้องยึดหรืออายัดที่ดินพิพาทเพื่อการบังคับคดีแต่อย่างใด ข้อตกลงของทนายโจทก์กับจำเลยข้อนี้จึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว เมื่อข้ออ้างของโจทก์จึงมิได้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์จึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับนั้น ยังไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง