10 มี.ค. 2567

คนเสมือนไร้ความสามารถ

          คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ กรณีที่คนที่มีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟืนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ซึ่งคนที่มีสภาพเช่นนั้นอาจถูกบุคคลตามมาตรา 28 กล่าวคือ คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการ ร้องขอเพื่อให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และเมื่อศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว บุคคลเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความพิทักษ์ของบุคคลอื่น ซึ่งเรียกว่าผู้พิทักษ์ ตามมาตรา 32

          กรณีเป็นบุคคลไม่สามารถจะจัดการงานของตนเองได้เพราะกายพิการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2520  ค.อายุ 74 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และเป็นอัมพาตมานานประมาณ 13 เดือน มือเท้าข้างขวาและร่างกายแถบซีกด้านขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ เคลื่อนไหวได้เฉพาะแถบซีกด้านซ้าย ลุกขึ้นยังไม่ได้ นั่งได้ คลานไปในระยะใกล้ๆ ได้ เข้าใจคำถามได้ดี สามารถตอบคำถามได้บ้าง แพทย์รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงเป็นบุคคลไม่สามารถจะจัดการงานของตนเองได้เพราะกายพิการ สมควรถูกสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์


          กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2536   แม้ผู้คัดค้านชอบดื่มและเมาสุราก็ตาม แต่ก็คงเพียงบางเวลาเท่านั้น และไม่ถึงขนาดครองสติไม่ได้ ในเวลาที่ไม่เมาสุราก็ยังสามารถประกอบกิจการงานได้ด้วยตนเองเช่นคนปกติทั่วไป ผู้คัดค้านยืนยันว่าสามารถปกครองทรัพย์สินของตนเอง ทั้งยังได้ความว่าพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องในข้อหายักยอกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 34 เดิม (ปัจจุบันมาตรา 32) ผู้คัดค้านเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ตามลำพัง ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2526  คำร้องกล่าวเพียงว่า ช.มารดาผู้ร้องป่วยเป็นโรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน สุขภาพไม่สมบูรณ์  ง่ายต่อการถูกหลอกลวงหรือข่มขู่จากผู้อื่นได้เท่านั้น  ไม่ได้กล่าวว่า ช. ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้เพราะเหตุ ต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 34 เดิม (ปัจจุบันมาตรา 32) ตามทางไต่สวนก็ได้ความว่า ช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านได้ตามปกติโดยไปจ่ายตลาดและหุงหาอาหารเอง กรณีไม่มีเหตุที่จะสั่งให้ ช. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแต่ประการใด

          ผู้มีอำนาจร้องขอต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530  จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2522   น้าไม่ใช่บุพการีและไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูที่พอจะฟังได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์ตามพฤตินัยจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้หลานเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้

          แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ก็ต้องถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถบริบูรณ์ จึงย่อมมีความสามารถที่จะทำการใดๆได้โดยลำพัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550  โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์ ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้ ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์ จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน

          โดยปกติแล้วคนเสมือนไร้ความสามารถยังสามารถทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้โดยลำพัง ยกเว้นเป็นการบางอย่างซึ่งมีกฎหมายกำหนดห้ามไว้ในมาตรา 34 ซึ่งจะกระทำโดยลำพังไม่ได้ หากจะทำก็ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ หากฝ่าฝืนทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอม การนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ

          มาตรา 34  "คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
          (1) นำทรัพย์สินไปลงทุน
          (2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
          (3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
          (4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
          (5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
          (6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
          (7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
          (9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
          (10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
          (11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
          ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
          คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528   พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น  การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย