ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2506 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็ตาม
ความหมายของกองมรดก
มาตรา 1600 "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"
กองมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1600 คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย
กรณีทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆที่เป็นกองมรดก หรือไม่เป็นกองมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2513 จำเลยทำหนังสือจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ ส. โดยมิได้ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่กระทำไปเพื่อ ส. จะได้นำไปจำนองไว้กับสหกรณ์แล้วเอาเงินมาให้จำเลยใช้สอย นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เป็นผลให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกทอดเป็นของ ส. แต่ยังคงเป็นของจำเลยตลอดมา ฉะนั้นเมื่อ ส. ตายไปเสียก่อนที่จะนำที่ดินพิพาทไปจำนองสหกรณ์ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก ส. ทายาท ส. ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10096/2557 ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 แต่เหตุรับของโจรโฉนดที่ดินเลขที่ 19724 และฐานใช้เอกสารปลอมเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ขณะที่ ป. ยังมีชีวิตอยู่ ป. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส่วนโจทก์ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิฟ้องแทน ป. ได้ต่อเมื่อ ป. ได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่ตามฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า ขณะ ป. มีชีวิต ป. ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย โฉนดที่ดินเลขที่ 19724 ตกทอดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ มาตรา 1600 นั้น เป็นกรณีทรัพย์มรดกของ ป. ตกทอดแก่ทายาท เป็นสิทธิในทางแพ่งเท่านั้น แม้หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญาดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558 แม้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น เมื่อราษฎรสามารถอ้างสิทธิครองครองยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ และสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง หลังจาก ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข. ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น บันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 และบรรดาทายาทของ ข. ตกลงทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทกัน จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11486/2556 แม้ขณะที่ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 ก. ยังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยเพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ ก. มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของ ก. ผู้ตายก็ตาม แต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของ ก. จึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของ ก. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ก. ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ก. จึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7487/2538 จ.ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงแก่ความตายเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จ. จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ตามมาตรา 1599 และ 1600 จึงตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ จ. แม้โจทก์มิได้ครอบครองต่อเนื่องในที่ดินที่ จ. ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ จ. ครอบครองมาโดยทางมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2537 ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ผู้ตายขายให้แก่จำเลยแม้การซื้อขายจะเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ผู้ตายขายให้จำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาท ไม่ยึดถือเพื่อตนต่อไปแล้ว การครอบครองของผู้ตายจึงสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 จำเลยได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทโดยนำเงินไปชำระหนี้แทนผู้ตายและรับ ส.ค.1 มาจากเจ้าหนี้ผู้ตายแล้วให้ ส. ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นการยึดถือเพื่อตนจำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557 ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี
แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2506 เมื่อปรากฏว่าเงินทุนสงเคราะห์ (ท.ส.+.) ของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟ เป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฏิบัติงานร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน และการรถไฟจ่ายสมทบอีกมีจำนวนร้อยละ 10 ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงาน นอกจากถูกไล่ออกก็ให้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากันนั้น เห็นได้ว่าเงินทุนสงเคราะห์นี้เป็นเงินที่ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว หากผู้นั้นตายลงก็ย่อมตกเป็นมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2515 เงินสะสมเป็นเงินที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะจ่ายคืนเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เงินสะสมจึงเป็นมรดกของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย หากแต่ทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้ เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะต้องจ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2516 บิดาเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารให้บุตรผู้เยาว์ โดยมอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตร แล้วบิดามารดาต่างได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวระคนปนกับเงินได้ของบุตร โดยมีเจตนายกเงินที่นำเข้าฝากนั้นให้แก่บุตรดังนี้ เงินในบัญชีเงินฝากจึงเป็นของบุตรทั้งสิ้น หาใช่เป็นเงินที่บิดามารดาฝากไว้เป็นของตนเอง โดยฝากไว้ในนามของบุตรทำนองลงชื่อบุตรเป็นนามแฝงไม่ แม้จะมีข้อตกลงกับธนาคารว่าผู้ใดจะเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากธนาคารได้นั้น ก็เป็นเรื่องระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1545 และ 1546 ก็บัญญัติให้อำนาจและวิธีการแก่ผู้ใช้อำนาจปกครองที่จะนำเงินของบุตรไปใช้จ่ายได้ ย่อมจำเป็นที่จะต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในการถอนเงินของบุตรจากธนาคารไว้ด้วย มิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากในกรณีที่จะต้องนำเงินมาใช้จ่ายตามอำนาจ ที่บิดามอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรจึงเป็นเรื่องการมอบหมายให้มารดาทำหน้าที่แทนบิดาตามธรรมดานั่นเองมารดาหามีสิทธิถอนเงินของบุตรไปใช้สอยส่วนตัวไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2535 เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานที่บริษัท ช.คิดให้ผู้ตาย 2.25 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายต่ออายุงาน 1 ปีนั้นถือได้ว่าเป็นเงินของผู้ตาย หากผู้ตายยังไม่ตายและออกจากบริษัทฯไป บริษัทฯ ก็ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้ตาย ดังนั้น เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานจึงเป็นมรดกของผู้ตายมิใช่สินสมรส ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ช. ที่กำหนดให้เงินตามโครงการผลประโยชน์ดังกล่าวแก่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายครึ่งหนึ่ง กับบุคคลที่ถูกระบุไว้ในหนังสือรับรองทายาทอีกครึ่งหนึ่งนั้น เป็นระเบียบข้อบังคับที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจึงมีสิทธิรับเงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานครึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2507 เงินช่วยเพื่อนครู(ช.พ.ค.) ซึงสมาชิกช่วยกันบริจาค เพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลืองานศพและครอบครัวของสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งถึงแก่กรรมลงนั้น ไม่ใช่กองมรดกของผู้ตาย ผู้ตายจึงทำพินัยกรรมยกให้ใครไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2505 บำนาญตกทอดไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะตาย จึงไม่เป็นมรดก ฉะนั้น การที่ผู้จัดการมรดกฟ้องศาลให้พิพากษาให้ตนมีสิทธิเรียกบำนาญตกทอดจัดการมรดกจึงปราศจากมูลตามกฎหมายที่จะอ้างอิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2525 เงินบำเหน็จที่จะตกได้แก่บรรดาทายาทผู้มีสิทธิของผู้ตาย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2494 นั้น มิใช่มรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2524 ในวันที่นาย ก. ถึงแก่ความตายโจทก์เป็นบุตรนอกสมรสยังมิได้มีฐานะเป็นทายาทของนาย ก. แม้ภายหลังจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ย่อมไม่มีผลย้อนหลัง โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับส่วนแบ่งในเงินสงเคราะห์ตกทอดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งมีข้อบังคับให้ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1558 เป็นกรณีที่ให้สิทธิแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยคำพิพากษาภายหลังการตายของเจ้ามรดก รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการรับมรดกโดยตรง เมื่อเงินสงเคราะห์ตกทอดไม่ใช่มรดกจะนำมาตรา 1558 มาบังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2530 สิทธิในเงินบำเหน็จเพื่อสงเคราะห์พนักงานไฟฟ้านครหลวงตกได้แก่ทายาทเนื่องจากการตายของพนักงาน ไม่ใช่ทรัพย์สินที่พนักงานมีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย เงินจำนวนนี้จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย เมื่อตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนเงินบำเหน็จพนักงานระบุให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของพนักงานที่ตาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้การไฟฟ้านครหลวงจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2557 เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้บัญญัติให้จ่ายแก่บุคคลตามมาตรา 73 (2) และทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 77 จัตวา ตามลำดับ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อีกทั้งประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายได้มาเนื่องจากความตายหรือได้มาภายหลังที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยแท้ ไม่เป็นทรัพย์มรดก โจทก์เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตน ไม่ใช่บุคคลและทายาทผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2), 77 จัตวา จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2531 การที่ ร.ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันหนี้ของจำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ร.จะพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยกลับเป็นฝ่ายชนะคดีหรือจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วเท่านั้น ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด ร.ไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาค้ำประกันโดยที่โจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยเพราะมิใช่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ซึ่งผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 และแม้ ร.จะถึงแก่กรรมไปก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้นั้น โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาแก่ที่ดินอันเป็นกองมรดกของ ร.ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2521 โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายร่วมกับนายจิตติ สามี และร่วมกับสามีเป็นผู้ทรงเช็ค 2 ฉบับตามฟ้อง เมื่อสามีตายโจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของสามีต่อศาล ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินในฐานะที่โจทก์มีส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับสามี เนื่องจากการตายของสามีประการหนึ่ง และในฐานะคู่สมรสซึ่งโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกส่วนของสามีอีกประการหนึ่ง เมื่อหนี้เงินตามเช็คเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะภริยาและเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทดังนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2522 การสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้านั้นหมายความเพียงว่า ผู้ทรงมีสิทธิเบิกเงินตามเช็คจากธนาคารได้ต่อเมื่อถึงวันที่กำหนดในเช็คเท่านั้น แม้ผู้สั่งจ่ายจะถึงแก่กรรมไปก่อนวันเช็คถึงกำหนด ก็หาทำให้ผุ้สั่งจ่ายที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คนั้นหลุดพ้นความรับผิดไปได้ไม่ หน้าที่และความรับผิดตามเช็คนั้นย่อมยังคงตกอยู่แก่กองมรดกของผู้สั่งจ่ายนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2519 เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ น. สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันเมื่อตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยฐานเป็นผู้รับเงิน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 และ น. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 ที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า น. สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ (ต่อมา น.ถึงแก่กรรม โจทก์ขอให้จำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกชำระหนี้) แต่จำเลยปฏิเสธนั้นจะเท็จจริงอย่างไรไม่สำคัญ เพราะเป็นรายละเอียดไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับเช็คมาอย่างไร เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกโดยมีมูลหนี้แม้มิได้ลงวันที่สั่งจ่าย โจทก์ในฐานะผู้ทรงก็ชอบที่จะลงวันที่ได้ไม่เป็นการฉ้อฉล จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับมรดกของ น. จึงต้องร่วมกันใช้เงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2516 สัญญาเช่าซื้อก็คือสัญญาเช่าทรัพย์บวกด้วยคำมั่นจะขายทรัพย์สินนั้นสัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้เช่า คำมั่นจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินซึ่งอาจตกเป็นมรดกของคู่สัญญาที่ถึงแก่กรรมได้
คู่สัญญาทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อสัญญาระบุว่า ให้ผู้เช่าซื้อระบุตัวทายาทผู้รับสิทธิในการเช่าซื้อแทนได้เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมและผู้เช่าซื้อได้ระบุตัวทายาทผู้รับสิทธิในการเช่าซื้อไว้แล้วข้อสัญญาดังกล่าวนี้เป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ฉะนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรม และทายาทผู้รับสิทธิดังกล่าวได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้ต่อผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 374 วรรค 2 แล้วสิทธิในการเช่าซื้อจึงตกเป็นของทายาทผู้รับสิทธิดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ตกเป็นมรดกของผู้ตายต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2515 ผู้ตายเป็นสมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขระบุชื่อ ส. บิดาเป็นผู้รับประโยชน์เงินสังขารานุเคราะห์ไว้ ตามข้อบังคับ ย่อมมีผลว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขโดยองค์การดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจะชำระหนี้แก่ ส. บุคคลภายนอกสิทธิของ ส. จะเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น เมื่อ ส. ตายเสียก่อนโดยมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาสิทธิของ ส. ในเงินสังขารานุเคราะห์จึงยังไม่เกิดขึ้นและไม่อาจตกทอดเป็นทรัพย์มรดกไปยังทายาทของ ส.
เงินสังขารานุเคราะห์เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับหลังจากที่สมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขถึงแก่ความตายแล้ว มิใช่ทรัพย์สินที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 132/2507)
ตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อสมาชิกตาย ให้จ่าย เงินสังขารานุเคราะห์แก่ผู้รับประโยชน์ซึ่งสมาชิกผู้ตายได้ระบุชื่อไว้แต่เมื่อผู้รับประโยชน์นั้นตายก่อนสมาชิก ย่อมไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จะรับเงินสังขารานุเคราะห์ได้ตามข้อบังคับ แม้เงินสังขารานุเคราะห์จะมิใช่ทรัพย์มรดกของสมาชิกผู้ถึงแก่ความตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับเงินสังขารานุเคราะห์ดังกล่าวจึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของสมาชิกผู้ตาย เสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548 โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทโดยได้รับมรดกจาก ป. ซึ่ง ป. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาท กำหนดอายุสัญญาเช่า 15 ปี โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 11 ระบุว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะต่อสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี ซึ่งข้อความตามข้อตกลงดังกล่าว เป็นเพียงคำมั่นของ ป. ว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แต่คำมั่นนี้ยังไม่มีผลผูกพัน ป. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้สนองรับก่อน ป. ถึงแก่ความตายทั้งเมื่อจำเลยได้รู้อยู่ว่า ป. ผู้เสนอตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2538 กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่าห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองมาใช้บังคับ ดังนั้น คำมั่นของ ป. ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1599 และมาตรา 1600 หนังสือขอต่อสัญญาของจำเลยจึงไร้ผล และไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542 เงินชดเชยที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ. และได้รับมาหลังจาก ณ.ถึงแก่ความตายไปแล้ว ไม่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา ทั้งสิทธิที่จะได้เงินค่าชดเชยนี้มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ.ได้มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม จึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ. เมื่อระเบียบของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างกำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยมาหักหนี้สินที่ ณ.สามีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีต่อจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะหักหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน
ป.พ.พ.มาตรา 1625 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้นหาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องมีการนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตายไม่
สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ.มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่ความตาย แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาผู้ตายจะต้องเคยชำระเงินในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 คนอื่นๆ เพื่อรวบรวมนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่ความตายรายก่อนๆ ก็ตาม ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของ ณ.จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง
เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่าง ณ.กับบุคคลภายนอกและจำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ คือ จำเลยที่ 1 สืบเนื่องจากความมรณะของ ณ.อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของ ณ.ที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย แม้สัญญาประกันชีวิตที่ ณ.ระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิตว่าโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ ณ.ที่จะตกแก่ทายาท ดังนี้ฎีกาของโจทก์ในส่วนเบี้ยประกันภัย จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2495 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมสิทธิ์ในทางทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดได้แก่ทายาททันที ฉะนั้นทายาทจึงมีสิทธิที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินที่ผู้ตายขายฝากไว้ได้ โดยไม่ต้องรอให้รับโอนมรดกก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212-213/2525 สิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 นั้นได้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นทายาท เพราะการปลงศพนั้นเป็นหน้าที่ของทายาทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649 ภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ทายาท จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เอาค่าปลงศพ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2514 ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิด ทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา 1649 เท่านั้น มิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย (อ้างฎีกาที่ 1314/2505)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2556 ก่อน ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. แม้ ม. จะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและหนี้ดังกล่าวไม่ระงับลงเพราะความตายของ ป. เจ้ามรดกก็ตาม แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิและอำนาจในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดก จำเลยจะต้องดำเนินการในระหว่างที่หนังสือให้ความยินยอมมีผลใช้บังคับ หาใช่จะใช้สิทธิและอำนาจตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อหนังสือให้ความยินยอมทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยออกให้แก่ ม. โดยสภาพจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เจ้ามรดก เมื่อ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดตามหนังสือให้ความยินยอมย่อมสิ้นสุดลงหาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ จำเลยจะอาศัยแสวงสิทธิจากหนังสือให้ความยินยอมหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกหลังจาก ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาได้ไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยจะทราบเรื่องที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16040/2555 ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 กำหนดถึงสิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาว่าจะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี สิทธิหน้าที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วสภาพบุคคลของโจทก์ก็หมดสิ้นไป ภาระหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นับแต่มีคำพิพากษาจนบุตรบรรลุนิติภาวะจึงยุติไปด้วย แม้โจทก์จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไว้ก็ตาม หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กองมรดกของโจทก์ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่จำเลยอีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2554 ส. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป. ไปจดทะเบียนขายที่ดิน แต่ตราบใดที่ยังมิได้ไปจดทะเบียนขายที่ดิน การขายก็ยังไม่มีขึ้นโดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย หนังสือมอบอำนาจย่อมสิ้นผล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 826 วรรคสอง การที่ ป. นำหนังสือมอบอำนาจที่สิ้นผลแล้วไปดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงไม่มีผลให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนกองมรดกของ ส. เพื่อประโยชน์ของทายาทต่อไป