10 ส.ค. 2563

การไฟฟ้าปักเสาไฟในที่ดินเอกชนโดยไม่ขออนุญาต | ละเมิด | คดีปกครอง


          การจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับเมืองไทยส่วนมาก โดยปกติแล้วเสาไฟฟ้าก็จะปักไปตามริมทางสาธารณะ แต่ในกรณีที่ไม่มีทางสาธารณะ ก็อาจจะมีบางครั้งที่จะต้องปักเสาและพาดสายผ่านที่ดินของเอกชน ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น
          ถ้าหากการปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินเอกชนนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอม การไฟฟ้าก็อาจถูกเจ้าของที่ดินฟ้องเนื่องจากการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากบริษัท ท.ได้ซื้อที่ดินในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2543 แล้วพบว่าการไฟฟ้านครหลวงได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ ผ่านที่ดินแปลงนี้ไปสู่ที่ดินแปลงอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
          บริษัท ท. จึงมีหนังสือแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์เหล่านั้นออกไปจากที่ดิน แต่การไฟฟ้านครหลวงกลับมีหนังสือแจ้งให้บริษัท ท. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาและสายไฟฟ้าออกไปเอง เป็นเงินจำนวน 173,100 บาท
          บริษัท ท. จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงก็ได้ต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีพิพาทนี้อยูในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

          ศาลแพ่งธนบุรีกับศาลปกครองกลางมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพงธนบุรีจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          ต่อมาบริษัท ท. จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวงต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนด้วย

          ต่อมาคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัท ท.ฟ้องว่าการไฟฟ้านครหลวงปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินของตนเพื่อส่งผ่านไปยังที่ดินแปลงอื่น ทำให้บริษัท ท. ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าดังกล่าวออกไปและจ่ายค่าเสียหายให้แก่ตน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          เมื่อบริษัท ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่การไฟฟ้านครหลวงไปดำเนินการปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นผ่านไปสู่ที่ดินแปลงอื่น บริษัท ท. จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของการไฟฟ้านครหลวง และคำขอของบริษัท ท. ที่ขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าออกไปพร้อมจ่ายค่าเสียหายเป็นคำขอที่ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับได้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

          ในส่วนเรื่องของระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่การไฟฟ้านครหลวงปักเสา พาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นลงในที่ดินของบริษัท ท. โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ท. และตราบใดที่ยังไม่มีการรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากที่ดิน ย่อมถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดเวลาจนถึงวันฟ้องคดี บริษัท ท. จึงยื่นฟ้องคดีนี้ได้ตลอดตราบเท่าที่ยังคงมีการกระทำละเมิด และถือเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของบริษัท ท. ที่ขอให้ การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนไว้พิจารณาได้

          (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 419/2560)

          ทั้งนี้ การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้ องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542








4 ส.ค. 2563

เจ้าของที่ดินซึ่งไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามกำหนดเวลาก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดี | เวนคืนที่ดิน | คดีปกครอง


          กรณีที่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คนใดถูกหน่วยงานของรัฐเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้จัดทำบริการสาธารณะ หน่วยงานของรัฐดังกล่าวก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งได้แก่ ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ค่าทดแทนความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืน

          สำหรับกรณีที่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนไม่เป็นธรรมหรือยังไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่ได้รับนั้น ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยในทันทีที่ได้รับแจ้งสั่งไม่ได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน คือ การอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน และหากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พิจารณาอุทธรณ์แล้ว ยังไม่เป็นที่พอใจ หรือไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

          บางครั้งก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการนับกำหนดระยะเวลาว่า หากผู้ถูกเวนคืนซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในวันถัดจากวันสุดท้ายของกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด และผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ไม่รับคำอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่ายื่นเกินกำหนดระยะเวลา ศาลปกครองจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่

          สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นกรณีที่เจ้าของที่ดิน ถูกเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อสร้างทางหลวง เห็นว่า กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรม จึงยื่นอุทธรณ์ แต่เป็นการยื่นเกินระยะเวลาที่กฎหมายเวนคืนกำหนดไว้ อาจจะเพราะเหตุหลงลืมหรือไม่เข้าใจเรื่องการนับกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ก็ตาม แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีไม่รับอุทธรณ์ เจ้าของที่ดินจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น

          ซึ่งในที่สุดคดีนี้ไปสิ้นสุดที่ศาลปกครองศาลปกครองสูงสุด โดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 158/2561 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน และแจ้งให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ภายใน 60 วันนับแต่วันดังกล่าว คือ ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ยื่นอุทธรณ์โดยนำส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 กรณีจึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2530 จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

          เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการเวนคืนที่ดินจากรัฐที่มีความประสงค์ที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยให้รัฐจ่ายค่าแทนที่ดินเพิ่มขึ้น จะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านโดยการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวก่อนฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว กฎหมายถือว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก่อนฟ้องคดีต่อศาล จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542